ใครที่มีอาการปวดคอ นอนตกหมอน คอเคล็ด รู้สึกเจ็บหรือติดขัดเวลาหันหน้า เรามีวิธีแก้ง่ายๆ มาฝาก
อาการคอเคล็ด หรือ อาการกล้ามเนื้อคอเคล็ด เป็นอาการป่วยที่สร้างความลำบากในการใช้ชีวิตประจำวันไม่น้อยเลย ทำให้เคลื่อนไหวไม่คล่องตัว และมีอาการเจ็บปวดบริเวณคอเมื่อมีการเคลื่อนไหวอีกด้วย อาการคอเคล็ดที่เกิดขึ้นหลังตื่นนอน อาจเกิดจากท่านอนที่รองรับช่วงคอไม่ถูกต้อง ทำให้กล้ามเนื้อคออักเสบ หรือที่เราเรียกว่า นอนตกหมอน นั่นเอง
วิธีแก้คอเคล็ด เมื่อนอนตกหมอน
- ประคบร้อน ใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่น บิดพอหมาดๆ แล้วนำมาประคบบริเวณที่ปวดประมาณ 15 ถึง 20 นาที
- ยืดกล้ามเนื้อด้านที่หดรั้ง สังเกตว่าขณะเคลื่อนไหวคอนั้น รู้สึกปวดตึงหรือเจ็บที่ด้านไหน ให้ใช้มือช่วยดันศีรษะในทิศทางนั้นจนกระทั่งรู้สึกตึงมากแต่ไม่เจ็บ ดันค้างไว้ประมาณ 10 ถึง15 วินาที คลายแรงที่ดันมือลง แล้วทำซ้ำอีกหลาย ๆ ครั้ง จนเริ่มรู้สึกว่าอาการเกร็งและตึงที่กล้ามเนื้อนั้นทุเลาลง
- นวดเบาๆ ใช้มือบีบลงบนแนวของกล้ามเนื้อที่รู้สึกตึง หรือ ปวดเมื่อย ให้แรงบีบพอประมาณที่ทำให้รู้สึกแน่นตึงและไม่เจ็บ บีบและคลายเป็นจังหวะ การประคบร้อนก่อนการนวด จะช่วยให้นวดได้ง่ายขึ้น และผ่อนคลายกล้ามเนื้อได้เร็วขึ้น
- เลี่ยงการหันศีรษะบ่อย อย่าพยายามเคลื่อนไหวคอและให้อยู่นิ่งๆ โดยการนอนราบชั่วคราวเพื่อให้กล้ามเนื้อคอได้พัก
ข้อควรระวัง
ไม่ควร กด บีบ หรือ ยืด กล้ามเนื้อจนรู้สึกเจ็บเพราะจะทำให้กล้ามเนื้อเกร็งตัวมากขึ้น และไม่ควรให้ผู้อื่นดัดคอหรือจับเส้นเด็ดขาด เพราะจะทำให้อักเสบ และเรื้อรังได้ ถ้ายังไม่หายค่อยๆ ฝึกออกกำลังกล้ามเนื้อ หรือปรึกษานักกายภาพบำบัด
หากมีปัญหาการนอนตกหมอนบ่อยๆ ควรสังเกตตัวเองว่าสาเหตุที่แท้จริงเกิดจากอะไร
- ปรับท่านอนให้เหมาะสม โดยนอนหงายให้หูกับหัวไหล่อยู่ในแนวขนานกัน หน้าไม่แหงนเกินไปและไม่ก้มจนเกินไป หากนอนตะแคงก็ควรนอนได้แนวเป็นกระดูกตรงเช่นเดียวกัน
- เลือกหมอนที่มีความนุ่มปานกลาง หากนุ่มเกินไปเวลาพลิกตัวจะทำให้กระดูกเกิดแรงสั่นมากขึ้น และหมอนที่พอดีกับศีรษะของเรานั้นต้องทำให้ระดับคางไม่เงยหรือก้มต่ำเกินไป ความยาวของหมอนควรถึงต้นหัวไหล่ป้องกันการคอตก สามารถเช็กระดับความพอดีโดยนำกระจกมาตั้งด้านข้างเตียงหรือให้คนถ่ายรูปด้านข้างเวลาเราหนุนหมอน
- ไม่นอนคว่ำตอนดูหนังหรืออ่านหนังสือหรือนอนตะแคงข้างมีอาการปวดบ่อยๆ เพราะสามารถติดเป็นนิสัยทำให้บาดเจ็บซ้ำๆ ได้
ปกติอาการปวดคอมักจะหายภายใน 1-2 วัน ถ้าอาการรุนแรงขึ้น หรือยังไม่หายสนิทให้รีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงและรักษาให้ถูกต้อง สำหรับใครที่ถูกใจสาระน่ารู้แบบนี้ สามารถติดตามคอนเทนต์ดีๆได้ที่ iNN Lifestyle
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news