13 พฤศจิกายน วันคนพิการแห่งชาติ
วันที่ 13 พฤศจิกายน ของทุกปีนั้นเป็น วันคนพิการแห่งชาติ ซึ่งสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้กำหนดจัดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้คนพิการได้พบปะ สังสรรค์ แสดงความสามารถในด้านต่างๆเพื่อมาร่วมตระหนักถึงคุณค่าและศักยภาพของคนพิการไทย
วันคนพิการแห่งชาติ นั้นถูกกำหนดขึ้นเพื่อให้คนทั่วไปได้ตระหนักถึงความสำคัญ และการสนับสนุนทั้งในด้านคุณภาพชีวิต รวมทั้งช่วยเหลือฟื้นฟูสุขภาพจิตของผู้พิการ และคนใกล้ชิด เพื่อให้เขาเหล่านั้นไม่รู้สึกว่าความพิการเป็นปัญหาในการใช้ชีวิตแต่อย่างใด
สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยนั้นได้ตระหนักถึงคุณค่า และความสำคัญของคนพิการว่า กลุ่มคนเหล่านี้ล้วนต่างมีความสามารถ และควรได้รับความช่วยเหลือสนับสนุนเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สภาจึงกำหนดให้ทุกวันที่ 13 พฤศจิกายน ของทุกปีเป็นวันคนพิการแห่งชาติ เพื่อเปิดโอกาสให้คนพิการในประเทศไทยได้พบปะ พูดคุย และแสดงความสามารถ ให้บุคคลทั่วไปได้รับรู้ศักยภาพของคนพิการที่มีไม่แพ้คนปกติ และช่วยให้ผู้พิการไทยได้เรียนรู้ถึงนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะช่วยรักษา และฟื้นฟู ผู้พิการให้สามารถอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างปกติ
วันคนพิการสากล ตรงกับวันที่ 13 ธันวาคม ของทุกปีเป็นวันสำคัญระหว่างประเทศที่สหประชาชาติส่งเสริมตั้งแต่ปี 2535 มีการเฉลิมฉลองโดยมีความสำเร็จระดับต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งจัดขึ้นโดยมุ่งส่งเสริมความเข้าใจปัญหาความพิการ เพื่อการระดมการสนับสนุนสิทธิ และความเป็นอยู่ดีของผู้พิการ
ความหมายของคนพิการ หมายถึง บุคคลซึ่งมีความบกพร่องทางการมองเห็น การได้ยิน การเคลื่อนไหว การสื่อสาร จิตใจ อารมณ์ พฤติกรรม สติปัญญา และการเรียนรู้ โดยมีความต้องการจำเป็นพิเศษด้านต่างๆ เพื่อให้คนพิการสามารถดำเนินชีวิต และมีส่วนร่วมในสังคมได้อย่างบุคคลทั่วไป โดยประเภทของความพิการจะแบ่งออกเป็น 6 ประเภท และมีรายละเอียดลักษณะความพิการตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. 2534 ดังนี้
- คนพิการทางการมองเห็น คือ คนที่มีสายตาข้างที่ดีกว่าเมื่อใช้แว่นสายตาธรรมดาแล้วมองเห็นน้อยกว่า 6/18 หรือ 20/70 ลงไปจนมองไม่เห็นแม้แต่แสงสว่าง หรือคนที่มีลานสายตาแคบกว่า 30 องศา
- คนพิการทางการได้ยินหรือการสื่อความหมาย คือ คนที่ได้ยินเสียงที่ความถี่ 500 เฮิรตซ์ 1,000 เฮิรตซ์ หรือ 2,000 เฮิรตซ์ ในหูข้างที่ดีกว่าที่มีความดังเฉลี่ยดังต่อไปนี้
- เด็กอายุไม่เกิน 7 ขวบ เกิน 40 เดซิเบลขึ้นไปจนไม่ได้ยินเสียง
- คนทั่วไป เกิน 55 เดซิเบลขึ้นไปจนไม่ได้ยินเสียง
หรือคนที่มีความผิดปกติหรือความบกพร่องในการเข้าใจหรือการใช้ภาษาพูดจนไม่สามารถสื่อความหมายกับคนอื่นได้
- คนพิการทางกายหรือการเคลื่อนไหว คือ คนที่มีความผิดปกติหรือความบกพร่องของร่างกายที่เห็นได้อย่างชัดเจน และไม่สามารถประกอบกิจวัตรหลักในชีวิตประจำวันได้ หรือคนที่มีการสูญเสียความสามารถในการเคลื่อนไหวมือ แขน ขา หรือลำตัวอันเนื่องมาจากแขนหรือขาขาด อัมพาตหรืออ่อนแรง โรคข้อหรืออาการปวดเรื้อรัง รวมทั้งโรคเรื้อรังของระบบการทำงานของร่างกายอื่นๆ ที่ทำให้ไม่สามารถประกอบกิจวัตรหลักในชีวิตประจำวันหรือดำรงชีวิตในสังคมเยี่ยงคนปกติได้
- คนพิการทางจิตใจหรือพฤติกรรม คือ คนที่มีความผิดปกติหรือความบกพร่องทางจิตใจหรือสมองในส่วนของการรับรู้อารมณ์ ความคิด จนไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมที่จำเป็นในการดูแลตนเองหรืออยู่ร่วมกับผู้อื่น
- คนพิการทางสติปัญญาหรือการเรียนรู้ ได้แก่ คนที่มีความผิดปกติหรือความบกพร่องทางสติปัญญาหรือสมองจนไม่สามารถเรียนรู้ด้วยวิธีการศึกษาปกติได้
- คนพิการซ้ำซ้อน คือ คนที่มีความพิการมากกว่า 1 ลักษณะขึ้นไป
สัญลักษณ์ของวันคนพิการแห่งชาติ คือ ดอกแก้วกัลยา โดยดอกไม้นี้ เป็นดอกไม้ที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามดอกไม้ที่ประดิษฐ์โดยผู้พิการของศูนย์ส่งเสริมอาชีพ และพัฒนาคนพิการ
กิจกรรม วันคนพิการแห่งชาติ
กิจกรรมในวันคนพิการแห่งชาติ ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดต่างๆ ร่วมกับสำนักงานพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ จะเสนอชื่อคนพิการที่มีความโดดเด่น ต่อสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย เพื่อรับการพิจารณาเป็นบุคคลพิการตัวอย่างประจำปีนั้นๆ จะนำคนพิการดีเด่นเข้ารับประทานโล่เกียรติคุณ และเงินรางวัลจากพระบรมวงศานุวงศ์ ในวันคนพิการประจำปีในส่วนกลางซึ่งงานนี้ จัดโดยสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งคนพิการ และประชาชนทั่วไปสามารถเข้าร่วมงานได้
แม้ว่าจะมีความแตกต่างกันทางด้านกายภาพ แต่คนพิการนั้นก็ล้วนแต่เป็นผู้ที่มีศักยภาพทั้งนั้น หากเขาได้รับโอกาสในการแสดงออก
สามารถติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ iNN News
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news