15 ธันวาคม วันชาสากล กับร่องรอยของชนชั้นในใบชา
15 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันชาสากล (International Tea Day) มีขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2548 แม้ชาจะเป็นที่รู้จักทั่วทุกมุมโลกแต่วันชาสากลถูกจัดตั้งขึ้นในกลุ่มผู้ปลูกชาชาวอินเดีย เพื่อประท้วงความไม่เป็นธรรมจากพ่อค้าคนกลางกับปัญหาราคาใบชาที่ถูกกดต่ำลง
โดยองค์กรเพื่อการสื่อสารและการศึกษาของประเทศอินเดียซึ่งเป็นองค์กรที่ช่วยเหลือสิทธิของเกษตรกรและผู้ผลิตรายย่อยได้จับมือกับองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติเข้ามาช่วยเหลือเกษตรกรชาและสนับสนุนวิถีชีวิตให้ดียิ่งขึ้น จนกระทั่งเครื่องดื่มชากลายเป็นสัญลักษณ์ของสุขภาพในปัจจุบัน
การดื่มชาสู่เครื่องบอกฐานะทางสังคม
ในสมัยนี้ที่ร้านเครื่องดื่มชาสามารถหาซื้อได้ในราคาที่ถูกแสนถูกและพบเจอได้แทบทุกช่วงหัวมุมตามถนนประเทศไทย แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเครื่องดื่มจากใบชานี้ก็เคยมีคุณค่าในแง่ของวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ สังคมโดยเฉพาะเครื่องกำหนดชนชั้นทางสังคม ที่จิบทีก็ผู้ดี๊ผู้ดี
ต้องย้อนไปถึงประเทศต้นตำรับใบชาอย่างประเทศจีนที่รุ่งเรืองสุดๆ ในช่วงราชวงค์หยวน อำนาจความยิ่งใหญ่ของแดนมังกรแผ่มาถึงแผ่นดินสยามในสมัยสุโขทัยจนถึงขนาดข้าราชสำนักต้องนำของมีค่าไปแสดงความนอบน้อมในฐานะพันธมิตรหนึ่ง
นับตั้งแต่สมัยสุโขทัยลามไปจนถึงอยุธยา ธนบุรี สยามได้ส่งของบรรณาการไปยังจีนอย่างต่อเนื่องและในขณะเดียวกันชาวสยามก็ได้รับค่าตอบแทนเป็นสินค้าอย่างใบชาด้วยเช่นเดียวกัน เมื่อสินค้าที่ได้มาจากประเทศที่เรามองว่ายิ่งใหญ่แน่นอนว่า ใบชาจีนกลายเป็นเครื่องดื่มในกลุ่มชนชั้นสูงที่ใกล้ชิดกับราชสำนักไปโดยปริยาย
สมัยกรุงศรีอยุธยาได้รับอิทธิพลจากจีนในการใช้ชาเป็นเครื่องหมายแสดงความเป็นผู้ดีอย่างหนึ่ง การดื่มชากลายเป็นเครื่องหมายทางชนชั้น สร้างความแตกต่างจากคนอื่นในสังคม และเชื่อหรือไม่ว่าถ้วยชามเบญจรงค์ก็ไม่ได้ตั้งใจปั้นมาเพื่อใส่สำรับไทยแต่อย่างใด กลับกันแล้วถ้วยชามสลักลายไทยห้าสีนี้ถูกไว้รองรับน้ำต้มใบชาจากแดนมังกรต่างหาก
จนถึงคราวที่จีนเสื่อมอำนาจลง คนจีนหลายแสนอพยพมายังเมืองด้ามขวาน และไทยรับกระแสวัฒนธรรมการดื่มชาแบบตะวันตก ทำให้การดื่มชาสไตล์จีนแบบผู้ดีถูกเปลี่ยนเป็น Afternoon Tea ฉบับผู้ดีอังกฤษแทน การดื่มชาสไตล์จีนถูกย้ายไปอยู่ในสภากาแฟเล็กๆ คู่กับกระดานหมากรุกของผู้เฒ่า แต่กาน้ำชาสไตล์อังกฤษกลับเห็นได้ชัดในหน้าจอทีวีแทน
และเมื่อเทคโนโลยีเข้ามาโลกาภิวัฒน์ก็เคลือบคลานเข้าใกล้ อำนาจของการขนส่งและการถ่ายทอดความรู้ที่หาได้ทั่วไป ใบชาจากที่เคยเบ่งบานบนยอดหอคอยสูง ณ ตอนนี้ก็กลายเป็นพืชอบแห้งที่หาได้ทั่วไปแบบที่ใครๆ ก็เข้าถึง เป็นหลักฐานสำคัญที่บอกว่าเส้นแบ่งชนชั้นได้สลายลงไปแล้ว (อย่างน้อยก็ในแวดวงการกิน)
จากเส้นทางใบชาจากต่างประเทศสู่ความแตกต่างทางชนชั้นและจบลงด้วยความเสมอภาคที่หาได้ในราคา 25 บาท บางทีการที่เราอยากให้สิทธิ เสรีภาพ และความเท่าเทียมเกิดขึ้นอาจไม่ได้ใช้เวลาแค่ชั่วข้ามวัน แต่ต้องอาศัยความรู้ ความเข้าใจ และเวลาเป็นตัวประกอบความสมบูรณ์ของกันและกัน ทุกคนสามารถติดตามคอนเทนต์เปิดโลกต่อได้ที่ iNN Lifestyle
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : https://page.line.me/innnews
ขอบคุณข้อมูลจาก : มองไทยผ่านใบชา: พลวัตทางอำนาจ ชนชั้น และมายาคติ, ณัชชา อาจารยุตต์