ทำความรู้จักโรค “โนโมโฟเบีย (Nomophobia)” โรคกลัวการขาดมือถือ
ยุคสมัยในปัจจุบันนี้ กิจวัตรประจำวันของคนเราคงหนีไม่พ้นของการเล่นโทรศัพท์มือถือ แม้กระทั่งตื่นนอนขึ้นมาก็ต้องรีบคว้ามาใช้ทันที ระหว่างวันก็มีการใช้อยู่ตลอดทั้งวัน ไม่ว่าจะเป็นการเล่นโซเชียล แชร์รูป แชร์ข้อความ จนกระทั่งไปถึงก่อนนอน บางคนก็เผลอหลับไปพร้อมกับมือถือคาอยู่ในมือ อาการเหล่านี้อาจจะเข้าข่ายเป็นอาการเสพติดมือถือ หรือเรียกว่าโรค “โนโมโฟเบีย (Nomophobia) โรคกลัวการขาดมือถือ“ เป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่งที่ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก
ซึ่งอาการแบบนี้พบเจอได้ในทุกสถานการณ์ชีวิต รวมถึงส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของคู่รักหลายๆคู่อีกด้วย
ยิ่งเทคโนโลยีก้าวไปไกลมากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้คนในสังคมสนใจและให้ความสำคัญกับโลกออนไลน์มากขึ้น จนอาจจะเผลอลืมคนที่อยู่ตรงหน้าเราไป ขณะอยู่ด้วยกันก็ยังก้มหน้าก้มตาจ้องไปที่โทรศัพท์มือถือ การกระทำเหล่านี้อาจทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเกิดความน้อยใจและหากมากจนเกิดไปอาจส่งผลทำให้คู่รักเลิกรากันได้ แล้วคุณล่ะ เคยเผลอทำให้คนรักของคุณต้องน้อยใจบ้างรึเปล่า?
ต่อให้โลกออนไลน์มันจะมีชีวิตชีวามากเท่าไหร่ แต่อยากให้ทุกคนลองวางมือถือลง แล้วหันมาสนใจคนข้างๆตัวของคุณ ไม่ว่าจะครอบครัว เพื่อน หรือคนรัก เพราะคงไม่มีใครอยากเป็นคนที่ไร้ตัวตนหรอก พวกเขาเหล่านั้นก็ต้องการความเอาใจใส่จากคุณเหมือนกัน แล้วความสัมพันธ์ที่กำลังแย่ลง จะกลับมาดีขึ้นเอง
มาทำความรู้จักโรค “โนโมโฟเบีย (Nomophobia)” มันคืออะไร
โนโมโฟเบีย (Nomophobia) เป็นอาการหวาดกลัวเมื่อต้องใช้ชีวิตโดยไม่มีมือถือหรือไม่ได้ใช้มือถือ ไม่ว่าจะเป็นการลืมเอามา มือถือแบตหมด หรือการไปอยู่ในบริเวณที่ไม่มีสัญญาณ จะทำให้ผู้ที่มีภาวะนี้รู้สึกกระวนกระวายใจ หงุดหงิด เครียด มีเหงื่อออก ตัวสั่น หรือคลื่นไส้ พฤติกรรมติดมือถือเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อการเรียน การทำงาน ความสัมพันธ์ต่อคนรอบข้าง หรือการใช้ชีวิตประจำวันด้านต่าง ๆ และการใช้มือถือมากจนเกินไป อาจทำให้เกิดโรคหรืออาการป่วยตามมา เช่น นิ้วล็อค ปวดเกร็งบริเวณคอ บ่า ไหล่ จอประสาทตาเสื่อม หมอนรองกระดูกที่คอเสื่อมก่อนวัย เส้นประสาทสันหลังบริเวณคอถูกกดทับจนเป็นเหตุให้เกิดอาการชาที่แขน มือไม่มีแรง เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้ที่นั่งหรือนอนเล่นมือถือเป็นเวลานานยังเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วน และการเดินเล่นมือถือหรือเล่นมือถือระหว่างเดินทาง อาจเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุหรือได้รับอันตรายต่อร่างกายและทรัพย์สินอีกด้วย
อาการของโรคของมีดังนี้
- พกมือถือติดตัวตลอดเวลา จะกังวลเมื่อมือถือไม่ได้อยู่กับตัว
- เช็กโซเชียลมีเดียหรือแอปพลิเคชันต่างๆตลอดเวลาถึงแม้จะไม่มีเรื่องด่วนก็ตาม
- จับมือถือตลอดเวลาตั้งแต่ตื่นจนถึงก่อนนอน
- เมื่อหามือถือไม่เจอจะเกิดความเครียดและความวิตกกังวลมากกว่าหาอย่างอื่นไม่เจอ
- เล่นมือถือตลอดเวลา แม้ขณะที่ทำกิจกรรมอื่นๆอยู่ เช่น กินข้าว เข้าห้องน้ำ ขับรถ
- กลัวมือถือหายแม้จะเก็บไว้ในที่ปลอดภัยแล้ว
- ไม่เคยปิดโทรศัพท์มือถือ
- เล่นหรือคุยกับคนในโทรศัพท์มากกว่าคนรอบข้าง
ติดมือถือมากไปอาจทำลายความสัมพันธ์ที่ดีได้
มีผลสำรวจเรื่องมือถือกับความสัมพันธ์โดยเน้นไปที่คู่รัก ซึ่งผลสำรวจที่ออกมานั้นน่าสนใจทีเดียว เพราะการติดมือถือนั้นทำให้เกิดความรู้สึกว่าอีกฝ่ายไม่ให้ความสนใจจนนำไปสู่ปัญหาต่างๆได้ โดยจากผลการสำรวจพบว่า
- กลุ่มคนที่ไม่ได้รับความสนใจจากคนรักมีมากกว่า 46%
- กลุ่มคนที่บอกว่าอาการติดมือถือสร้างความขัดแย้งให้คู่รัก มีจำนวน 23%
- กลุ่มคนที่บอกว่าพวกเขารู้สึกหดหู่บางครั้ง มีจำนวน 37%
- 32% ที่บอกว่าโทรศัพท์มือถือไม่ส่งผลต่อความสัมพันธ์
จากผลสำรวจชี้ให้เห็นถึงความขัดแย้งของคู่รักชาวไทยในยุคดิจิทัลนั้นมีการทะเลาะกันเป็นประจำทุกสัปดาห์ จำนวน 37% และมีความคิดอยากเลิกรากันจำนวน 28% แต่ก็ยังมีปัจจัยอื่นๆที่ทำให้คู่รักต้องทะเลาะกัน เช่น เรื่องเงิน 45% และการดื่มเหล้า สูบบุหรี่ 35% แต่ช่างน่าแปลกและเศร้าใจที่โทรศัพท์มือถือจะทำให้ติดต่อกันง่ายขึ้น กลับสามารถทำลายความสัมพันธ์ลงได้
การที่คุณกำลังหลงระเริงไปกับความบันเทิงในโลกออนไลน์มากจนเกินไป อาจจะทำให้คุณถึงขั้นเสียคนดีๆในชีวิตไปก็ได้ ฉะนั้นอยากให้ลองหันมาใช้เวลากับคนรอบตัวที่มีอยู่ให้คุ้มค่าที่สุด พัฒนาความสัมพันธ์ให้ดีขึ้น ก่อนพวกเขาจะจากไป ไม่ว่าจะในรูปแบบใดก็ตาม
สำหรับใครที่ชอบบทความแบบนี้ สามารถติดตามอ่านต่อได้อีกมากมายที่ iNN Lifestyle
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews
ขอขอบคุณข้อมูล