หลังวันที่ 11 เมษายนที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขได้ส่งมอบยาต้านไวรัสโควิด 19 “แพกซ์โลวิด” กว่า จำนวน 50,000 ชุด ทำให้โชคดีที่ปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้ยารักษาอาการนี้จำนวน 4 ชนิดแล้ว ได้แก่ ยาฟาวิพิราเวียร์ ยาเรมเดซิเวียร์ ยาโมลนูพิราเวียร์ และยาแพกซ์โลวิด
iNN เลยขอชวนมาทำความรู้จักกับ แพกซ์โลวิด (Paxlovid) ยาน้องใหม่ ที่ไทยเพิ่งได้นำเข้ามาซึ่งคาดการณ์กันอีกว่าจะเป็นอีกความหวังหนึ่งในการรักษาผู้ป่วยหลังสงกรานต์นี้กัน
คุณสมบัติยาแพกซ์โลวิด
ยาแพกซ์โลวิด (Paxlovid) เป็นยาจัดอยู่ในประเภท “โปรตีเอส อินฮิบิเตอร์” ที่มีคุณสมบัติย่อยสลายโปรตีนหนามของเชื้อไวรัสโควิด-19 หรืออธิบายแบบเข้าใจง่ายๆเมื่อเรารับประทาน แพกซ์โลวิด ตัวยาก็จะเข้าไปจัดการกัดกินขาเหนียวของเชื้อไวรัสให้ไม่สามารถยึดเกาะปอด จมูก และลำคอ จนแพร่พันธุ์ไม่ได้นั่นเอง
ประสิทธิภาพแพกซ์โลวิด
ข้อมูลวิจัยการทดลองของสถาบันต่างประเทศพบว่า ยาแพกซ์โลวิด (Paxlovid) ช่วยลดความเสี่ยงการเสียชีวิตลง รวมถึงลดจำนวนผู้ป่วยสีแดงที่ต้องรักษาในโรงพยาบาลได้ถึง 88% หากได้รับยาภายใน 5 วันนับตั้งแต่เริ่มมีอาการ
รวมถึงช่วงการทดลองตัวยาก็มีผู้ป่วยที่ต้องนอนรักษาเพิ่มเพียงไม่ถึงร้อยละ 1 (0.77%)และก็ไม่มีผู้เสียชีวิตขณะทดลอง จึงทำให้มั่นใจได้ว่า แพกซ์โลวิด มีความปลอดภัยช่วยลดจำนวนเตียงผู้ป่วยให้น้อยลงอีกด้วย
ใครควรรักษาด้วยยาแพกซ์โลวิด
ตัวยาชนิดนี้เป็นยาเม็ด โดยต้องรับประทานยาครั้งละ 3 เม็ด วันละ 2 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 5 วัน เหมาะสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดอาการรุนแรง ยาแพกซ์โลวิด จึงเหมาะกับผู้ป่วยที่เข้าข่าย 10 ประเภท ได้แก่
- ผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป
- ผู้ที่มีภาวะอ้วน
- ผู้ป่วยเบาหวาน
- ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด
- ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง
- ผู้ที่มีภูมิต้านทานร่างกายต่ำ
- ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ
- ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง
- ผู้ป่วยโรคมะเร็ง
- ผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน หรือได้รับเพียง 1 เข็ม
อีกทั้งในไทยเอง กระทรวงสาธารณสุขตั้งใจที่จะนำเข้ายาชนิดนี้เพื่อนำมาใช้รักษาในกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มที่มีโรคประจำตัว และยังไม่ฉีดวัคซีน ยกเว้นผู้หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตรเพราะอาจส่งผลข้างเคียง
อย่างไรก็ตามแม้ แพกซ์โลวิด (Paxlovid) จะเป็นยารักษาอาการโควิดชนิดที่ 4 ที่ไทยนำเข้ามาเพื่อเล็งไว้ใช้กับคลัสเตอร์หลังสงกรานต์เป็นกลุ่มแรก แต่การฉีดวัคซีนรวมถึงการเฝ้าระวังตัวเองตามมาตรการก็เป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติควบคู่ไปด้วยเช่นเดียวกัน
ติดตามข่าวผู้ติดเชื้อและการรักษาโควิด-19 ต่ออีกที่ ไอ.เอ็น.เอ็น
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews