“โรคฝีดาษลิง” (Monkeypox) คืออะไร ติดต่อกันทางไหน อาการเมื่อเป็นแล้วแสดงอาการอย่างไร วันนี้ iNN ได้สรุปมาให้ทุกคนแล้ว
ก่อนอื่นทำไม โรคฝีดาษลิง ถึงกลายเป็นที่พูดถึงอีกครั้งมาจากหัวหน้าสำนักงานความมั่นคงด้านสุขภาพของสหราชอาณาจักร ออกมายืนยันว่า พบผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงในอังกฤษแล้วอย่างน้อยที่ยืนยันได้แค่ 7 รายและอาจจะมีเพิ่มมากขึ้นทำให้ผู้คนเริ่มระแวงว่ามันคืออะไรและจะป้องกันอย่างไร
โรคฝีดาษลิงคืออะไร?
“โรคฝีดาษลิง” (Monkeypox) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งเป็นญาติกับไข้ทรพิษหรือโรคฝีดาษ(Smallpox) โดยเจ้าโรคไข้ทรพิษนี้ได้หายไปจากโลกแล้ว
ส่วนโลกฝีดาษลิงพบครั้งแรกในลิงที่เป็นสัตว์ทดลองในปี ค.ศ. 1958 ปัจจุบันยังพบได้อยู่พื้นที่บางส่วนของทวีปแอฟริกาและพบมากในสัตว์
โรคฝีดาษลิงติดต่อทางไหน?
- โรคนี้พบได้ในสัตว์หลายชนิด โดยเฉพาะตระกูลลิงและสัตว์ฟันแทะ เช่น หนู กระรอก กระต่าย
- โรคนี้ติดได้จากการสัมผัสโดยตรงจากเลือด สารคัดหลั่ง จากสัตว์ที่ติดเชื้อ
- ติดเชื้อจากการถูกกัดโดยสัตว์ที่ติดเชื้อ
- กินเนื้อสัตว์ที่มีเชื้ออยู่
- ติดจากคนสู่คนด้วยกันเอง เช่น สัมผัสเสื้อผ้าที่มีของเหลว แผลจากผู้ป่วย ละอองฝอยจากลมหายใจ (แต่จากคนสู่คนมีโอกาสน้อย)
อาการของโรคฝีดาษลิง
ผู้ป่วยมักแสดงอาการหลังจากได้รับเชื้อมาแล้วประมาณ 12 วัน โดยอาการที่มักแสดงออกมามีดังนี้
- มีไข้
- หนาวสั่น
- ปวดหัว
- เจ็บคอ
- ต่อมน้ำเหลืองโต
- ปวดกล้ามเนื้อ
- ปวดหลัง
- รู้สึกอ่อนเพลีย
- มีผื่นขึ้นตามร่างกาย เช่น แขนขา อาจจะเกิดบนหน้าและลำตัวได้
- ผื่นกลายเป็นตุ่มหนองและจะกลายเป็นสะเก็ดแล้วหลุดออกมา
อาการป่วยจะกินระยะเวลาประมาณ 2 – 4 สัปดาห์ ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะหายได้เอง
วิธีป้องกันโรคฝีดาษลิง
- หลีกเลี่ยงกับการสัมผัสสัตว์ที่ป่วยและผู้ป่วยที่เข้าข่ายต้องสงสัยว่าป่วยเป็นโรคฝีดาษลิง
- หมั่นล้างมือ ทำความสะอาดบ่อยๆ
- ใส่หน้ากากอนามัยปิดจมูกและปาก เมื่อเข้าไปในสถานที่หรือพื้นที่เสี่ยง
สำหรับในประเทศไทยยังไม่มีรายงานว่ามีการระบาดหรือพบแต่อย่างใด เลยยังไม่กังวลและก็มีการจับตาอย่างใกล้ชิดและเฝ้าระวังเพื่อไม่ให้เกิดการระบาดขึ้น ส่วนในประเทศที่มีการระบาด ผู้ที่เป็นมักไม่มีอาการป่วยรุนนแรง การแพร่ระบาดก็ไม่ได้ง่ายทำให้มีความเสี่ยงที่น้อย
นอกจากนี้ยังมี การพัฒนาวัคซีนใหม่สำเร็จแล้ว โดยบริษัท Bavarian Nordic สำหรับป้องกันทั้งโรคฝีดาษในคน และโรคฝีดาษลิง โดยได้รับการรับรองแล้วจากสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และแคนาดา (จะใช้ชื่อการค้าว่า Imvanex, Jynneos และ Imvamune ตามลำดับ) ทุกคนสามารถติดตามสาระความรู้เพื่อสุขภาพได้ที่ iNN Lifestyle
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews
ขอขอบคุณข้อมูล
ศูนย์ข้อมูลโรคติดเชื้อและพาหะนำโรค