ส่องสัญญาณ “เครียดสะสม” รู้เท่าทันสุขภาพใจก่อนภัยมาเยือน
ศูนย์สุขภาพใจ รพ.วิมุต เผย “โซเชียลมีเดีย” ทำคนยุคใหม่จิตตก ชี้ป่วยใจรักษาได้แค่ไปหาหมอ
แน่นอนว่าความเครียดถือเป็นอาการปกติที่เกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัยภายใต้ปัจจัยที่แตกต่างกัน จริง ๆ แล้ว ความเครียดเป็นภาวะทางอารมณ์ที่อยู่กับมนุษย์ทุกคน หากแต่ปัจจุบัน เมื่อสภาพสังคมเริ่มมีความซับซ้อนมากขึ้น เกิดปัญหารอบตัวมากมายที่ทำให้เราวิตกกังวลมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว จนบ่อยครั้งก็อดฉุกคิดไม่ได้ว่า นี่เรากำลังแบกความเครียดมากเกินไปจนเข้าขั้น “เครียดสะสม” แล้วหรือเปล่า
พญ. เพ็ญชาญา อติวรรณาพัฒน์ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านจิตเวช ศูนย์สุขภาพใจ โรงพยาบาลวิมุต ชวนทำความเข้าใจเกี่ยวกับ “ความเครียดในโลกยุคใหม่” ที่มีปัจจัยมากมายเข้ามากระทบกระเทือนจิตใจ หวังคนหันมาดูแลสุขภาพใจให้แข็งแรง เพราะจริง ๆ แล้ว “เครียดได้ก็หายได้ ขออย่าเก็บไว้คนเดียว”
โซเชียลมีเดีย ทำคนไทยยุคนี้จิตตก
“หากถามถึงปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนในยุคนี้เครียด ก็ต้องบอกว่าคือโซเชียลมีเดีย นับวันโลกออนไลน์ยิ่งส่งผลต่อสุขภาพจิตของคนไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่จะเป็นไปในทิศทางไหนก็ขึ้นอยู่กับวิธีการเสพสื่อของเราด้วย” พญ. เพ็ญชาญา กล่าวถึงโซเชียลมีเดียในฐานะดาบสองคมที่ต้องเสพอย่างระมัดระวัง “ถ้าเสพอย่างถูกวิธีก็จะช่วยให้เราสบายใจและได้ประโยชน์อย่างมาก แต่ในทางกลับกัน ถ้าเราเสพเนื้อหาที่คุกคาม (Social Bullying) หรือแสดงถึงความเกลียดชัง (Hate Speech) ก็จะยิ่งทำให้เราเกิดความเครียดขึ้นโดยไม่จำเป็น”
“เคสที่น่าสนใจซึ่งกำลังเกิดกับวัยรุ่นและคนทำงานตอนต้นมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็คือการยึดติดกับโซเชียลมีเดียจนคิดว่าเป็นตัวตนจริง ๆ รู้สึกห่วงยอดแชร์ แคร์ยอดไลก์ ใส่ใจกับคอมเมนต์มากเกินไป จนลืมไปว่านั่นคือโลกเสมือนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับตัวเราในโลกแห่งความเป็นจริงเลย สิ่งนี้นำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตมากมาย เพราะเมื่อเรามัวให้ความสำคัญกับโลกเสมือนแทนที่จะโฟกัสกับชีวิตจริง อาจนำมาซึ่งความเครียด ภาวะซึมเศร้า ไปจนถึงการสูญเสียตัวตนและความมั่นใจในชีวิตจริง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมากที่เราเอาสิ่งปลอม ๆ ที่ไม่มีตัวตนมาทำร้ายตัวตนของเราเสียเอง และที่เลวร้ายกว่านั้นก็คือ การหลงลืมความสำคัญของคนรอบตัวที่อยู่เคียงข้างเรา จนเกิดปัญหาความสัมพันธ์ และทำให้ชีวิตพังครืนได้เลย”
วิธีจับสัญญาณอันตราย เครียดแค่ไหนต้องไปหาหมอ
ความเครียดกับชีวิตเป็นของคู่กันอย่างปฏิเสธไม่ได้ ซึ่งถ้าเรามีความเครียดในระดับปกติ เราก็มักจะรับมือได้ด้วยกิจกรรมคลายเครียดและการพักผ่อนในแบบของเรา แต่เมื่อใดก็ตามที่เราทุกข์นานขึ้น ทุกข์มากกว่าสุขอย่างชัดเจน รู้สึกอ่อนไหวต่อสิ่งเร้าที่ทำให้เศร้าหรือหงุดหงิดง่ายขึ้น อีกทั้งวิธีคลายเครียดที่เราเคยใช้อยู่กลับเริ่มไม่ได้ผล อารมณ์ยังขุ่นมัว รู้สึกไม่ดีอยู่เป็นประจำ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นสัญญาณว่ามีความเครียดที่มากกว่าระดับปกติแล้ว โดยเราสามารถใช้วิธีนี้จับสัญญาณความเครียดสะสมของคนใกล้ตัวได้เช่นกัน เพื่อช่วยบอกเพื่อนและคนในครอบครัวให้รีบรักษาและรับความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที
สิ่งสำคัญคือจะต้องรู้ตัวให้เร็ว หลังจากนั้นอาจพูดคุยระบายกับคนที่ไว้ใจได้หรือเขียนออกมา เพราะความเครียดที่มากเกินปกติมักมีต้นตอจากปัญหาที่จำเป็นต้องแก้ไขอย่างจริงจัง ไม่สามารถใช้วิธีผ่อนคลายอารมณ์ตามปกติได้ ลองใช้เวลาสังเกตตัวเองและหาสาเหตุให้เจอ แล้วค่อย ๆ จัดการทีละข้อ เรียงตามลำดับความสำคัญ อีกเรื่องที่ต้องไม่ลืมคือ การดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง กินอาหาร นอนหลับพักผ่อน และออกกำลังกายอย่างเหมาะสม
เครียดมาก ๆ อย่าเก็บไว้ รีบพบแพทย์เพื่อหาทางรักษา
“เมื่อพยายามแก้ปัญหาที่ทำให้เครียดแล้วแต่อาการเครียดกลับไม่ทุเลา ให้รู้ไว้ว่าเราไม่ได้อ่อนแอ เมื่อจัดการเองไม่ได้ ก็ต้องให้เป็นหน้าที่ของคุณหมอผู้เชี่ยวชาญดูแลและวินิจฉัยให้ตรงจุด” พญ. เพ็ญชาญา อติวรรณาพัฒน์ แนะนำ “บางครั้งความเครียดไม่ได้เกิดจากปัจจัยภายนอกเท่านั้น ยังมีปัจจัยภายในร่วมด้วย เช่น การเสียสมดุลของสารเคมีในสมอง ฮอร์โมน หรือสารสื่อประสาท ซึ่งอาจต้องใช้ยาร่วมในการรักษาด้วย”
พญ. เพ็ญชาญา เผยว่าผู้ป่วยของศูนย์ฯ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม Young Adult อายุตั้งแต่ 20-40 ปี ซึ่งเป็นคนกลุ่ม Sandwich Generation ที่ต้องดูแลทั้งลูกและคุณตาคุณยายในวัยสูงอายุ จึงต้องแบกรับภาระการดูแลคนทั้งสองรุ่นไปพร้อม ๆ ซึ่งนอกจากจะเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยแล้ว ยังมีความเสี่ยงด้านสุขภาพจิตมากขึ้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นภาวะวิตกกังวล ซึมเศร้า เบิร์นเอาต์ หรือความผิดปกติในการกิน ซึ่งทุกโรคที่กล่าวมา ล้วนมีแนวทางรักษาอย่างเป็นระบบ
“สำหรับศูนย์สุขภาพใจ โรงพยาบาลวิมุต เราใช้แนวทางการรักษาแบบผสมผสานทั้งการใช้ยา ร่วมกับการปรับทักษะชีวิต การใช้ยามีความจำเป็นเพื่อปรับสารเคมีในร่างกายผู้ป่วยในเบื้องต้น เสมือนเป็นการไขกุญแจ แล้วให้ผู้ป่วยใช้มือเปิดประตูเองต่อไป นอกจากนี้ เราตระหนักว่าจิตใจของคนเรามีความซับซ้อน จึงนำเสนอแนวทางการรักษาแบบอื่น ๆ บูรณาการควบคู่กัน ทั้งกิจกรรมบำบัด ดนตรีบำบัด ศิลปะบำบัด ซึ่งช่วยให้เกิดความผ่อนคลายสบายใจ ทำให้เกิดการเข้าใจและยอมรับในตนเอง และเกิดการพัฒนาตนเองได้ในที่สุด” พญ. เพ็ญชาญา อติวรรณาพัฒน์ กล่าว
อีกหนึ่งตัวเลือกในการพบแพทย์ของคนยุคใหม่ที่ศูนย์สุขภาพใจ โรงพยาบาลวิมุต คือบริการปรึกษาแพทย์ออนไลน์ (Telemedicine) ผ่าน ViMUT Application (แพทย์เป็นผู้ประเมินว่าสามารถทำการรักษาออนไลน์ได้หรือไม่) เพื่อให้คนไข้พบแพทย์ได้จากทุกที่ พร้อมได้รับการรักษาที่ต่อเนื่องและสะดวกสบาย ลืมความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับการพบจิตแพทย์
“สิ่งที่อยากย้ำกับสังคมอีกครั้งคือ ปัญหาทางใจเป็นเรื่องปกติธรรมดา แม้ในความรู้สึกของผู้ป่วยอาจรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่รุนแรงและหนักหนามาก แต่ขอให้เชื่อว่ามีทางรักษาได้ ถึงเวลาแล้วที่คนไทยจะลืมความเชื่อผิด ๆ ที่ว่าพบจิตแพทย์คือจิตไม่ปกติ เพราะจริง ๆ แล้ว ปัญหาเครียดสะสม เบิร์นเอาต์ หรือซึมเศร้า สามารถรักษาได้โดยผู้เชี่ยวชาญ ขออย่าเก็บไว้คนเดียว เราทุกคนควรดูแลสุขภาพใจให้แข็งแรงไม่ต่างจากการตรวจเช็กร่างกายทั่วไปเลย” พญ. เพ็ญชาญา กล่าวปิดท้าย
ไม่จำเป็นต้องรอป่วย แค่รู้สึกว่าใจไม่ค่อยสบายก็สามารถติดต่อรับคำปรึกษาได้ที่ศูนย์สุขภาพใจ ชั้น 18 รพ.วิมุต เวลาทำการ 8.00 – 18.00 น. โทร.02-079-0078 สำหรับผู้สนใจรับคำปรึกษาหรือรับบริการของศูนย์สุขภาพใจ โรงพยาบาลวิมุต โปรดคลิกhttps://register.vimut.com/Registermentalhealth หรือสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.vimut.com
เฟซบุ๊ก: www.facebook.com/vimuthospital อินสตาแกรม: vimut_hospital ไลน์: @vimuthospital TikTok: @vimuthospital Youtube: www.youtube.com/c/ViMUTHospital หรือติดต่อที่ โทร. 02-079-0000
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews