ทางด่วน / โทลล์เวย์ / มอเตอร์เวย์ / ไฮเวย์ ต่างกันอย่างไร?
คลายข้อสงสัยมือใหม่หัดใช้ถนนหลวง ทำไมทางด่วนแต่ละที่ถึงมีชื่อไม่เหมือนกันทั้งๆที่เป็นทางพิเศษเหมือนกันแท้ๆ วันนี้เรามาเฉลยให้กระจ่างแล้วว่าสรุปแล้ว ทางด่วน, โทลล์เวย์, มอเตอร์เวย์ และ ไฮเวย์ มีความแตกต่างกันอย่างไร ใครเป็นเจ้าของ?
โดยปกติแล้วทางพิเศษเป็นถนนที่ถูกยกระดับขึ้นเพื่อตัดเข้าเส้นทางหลักสำคัญต่างๆ มีไว้สำหรับอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้รถใช้ถนนที่ต้องการความรวดเร็วมากขึ้นเพียงจ่ายค่าบริการตามที่ตกลงไว้ ซึ่งชื่อเรียกทางพิเศษแต่ละสายนี้ขึ้นอยู่กับคนรับผิดชอบดูแล ทำไมต่างกันออกไป ดังนี้
ทางด่วน (Expressway)
เป็นทางพิเศษดูแลโดยการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ในการจัดทำสัญญาประมูลหาและดูแล โดยให้ใช้ในลักษณะให้เก็บค่าผ่านทาง ปัจจุบันนี้ทางด่วนมีทั้งหมด 8 สาย ได้แก่
- ทางด่วนเฉลิมมหานคร หรือ ทางด่วนขั้นที่ 1 (ดินแดง-ท่าเรือ , บางนา-ท่าเรือ , ดาวคะนอง-ท่าเรือ)
- ทางด่วนศรีรัช หรือ ทางด่วนขั้นที่ 2 (บางโคล่-แจ้งวัฒนะ , พญาไท-ศรีนครินทร์)
- ทางด่วนฉลองรัช (จตุโชติ-รามอินทรา-อาจณรงค์)
- ทางด่วนบูรพาวิถี (บางนา-ชลบุรี)
- ทางด่วนอุดรรัถยา (แจ้งวัฒนะ-บางปะอิน)
- ทางพิเศษสาย S1 (อาจณรงค์–บางนา)
- ทางด่วนกาญจนาภิเษก วงแหวนรอบนอกด้านใต้ (บางพลี-พระราม 2)
- ทางพิเศษสายศรีรัช–วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ (ทางด่วนสายศรีรัช-วงแหวน, ทางด่วนหมอชิต-วงแหวน)
โทลล์เวย์ (Tollway)
เป็นถนนเก็บค่าผ่านทางโดยบริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด(มหาชน)ซึ่งเป็นเอกชน จึงทำให้เป็นที่เลื่องชื่อลือชาถึงราคาบริการประจำดอนเมือง รวมระยะทางทั้งหมด 28.2 กม. มีทั้งหมดเส้นเดียวแต่แบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ดินแดง-ดอนเมือง และ อนุสรณ์สถาน-รังสิต
มอเตอร์เวย์ (Motorway)
เป็นทางด่วนระหว่างเมืองหรือจังหวัดติดต่อกัน รับผิดชอบโดย กรมทางหลวง(ทล.) มักได้ยินบ่อยในช่วงเทศกาลหยุดยาวที่คนส่วนใหญ่ต้องการเดินทางไปทะเลหรือแถบตะวันออก เนื่องจากเป็นเส้นหลักไปชลบุรีในปัจจุบัน มีสองสายคือ
- ทางด่วนพิเศษหมายเลข 7 (มอเตอร์เวย์-กรุงเทพ-ชลบุรี-พัทยา)
- ทางด่วนพิเศษหมายเลข 9 ถนนกาญจนาภิเษก (วงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก)
ไฮเวย์ (Highway)
เป็นอีกทางพิเศษที่คุ้นหูบ่อยในช่วงวันหยุดยาวเพราะเป็นเส้นทางโผล่ยังภาคต่างๆของประเทศไทย รวมถึงทางหลวงที่ไม่เสียค่าใช้จ่าย แบ่งออกเป็น 4 สาย ได้แก่
- ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 ถนนพหลโยธิน กรุงเทพฯ-แม่สาย (เขตแดน)
- ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 ถนนมิตรภาพ สระบุรี-หนองคาย (เขตแดน)
- ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3 ถนนสุขุมวิท กรุงเทพฯ-ตราด
- ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 ถนนเพชรเกษม กรุงเทพฯ-อ.สะเดา
เพราะทางด่วนไม่ได้แปลว่าเหมือนกัน หลังจากนี้เวลาฟังข่าวจากวิทยุ จส.100 หรือตามหน้าจอทีวีเกี่ยวกับรายงานสภาพจราจรก็จะได้นึกออกแล้วว่า ทางพิเศษแต่ละเส้นอยู่ที่ไหนรวมถึงอาจส่งผลต่อทริปเดินทางของเราได้อย่างไรบ้าง
ติดตามเรื่องท่องเที่ยวและโปรโมชั่นช้อปปิ้งดีๆต่อได้ที่ iNN Lifestyle
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews