เวลามีข่าวหรือเหตุการณ์เกี่ยวกับการจุดไฟในบ้าน บ้านเกิดเหตุไฟลุกขึ้นมาโดยไม่ทราบสาเหตุหนึ่งสิ่งที่มักถูกยกมาคือ ผู้ต้องสงสัยอาจมีความผิดปกติทางจิตที่เรียกว่า Pyromania หรือโรคชอบจุดไฟ
แน่นอนว่าสาเหตุที่แท้จริงก็ต้องสืบหากันต่อไป แต่วันนี้มารู้จักโรคชอบจุดไฟเพื่อเป็นความรู้กันดีกว่า
Pyromania ถูกบัญญัติขึ้นครั้งแรกจากหนังสือ A Treatise on the Medical Jurisprudence of Insanity ของ Isaac Ray จิตแพทย์ชาวอเมริกัน โดยรากศัพท์มาจากภาษากรีก pyr หมายถึง ไฟ ส่วน mania หมายถึง อาการคลั่ง บ้าในบางสิ่งบางอย่าง
ข้อมูลจากเพจ คลินิกสุขภาพจิตนายแพทย์เจษฎา ที่เคยได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้ระบุไว้ว่า
“โรคชอบจุดไฟ (Pyromania) เป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มโรคขาดความยับยั้งชั่งใจ (Impulse Control Disorders)
ลักษณะที่สำคัญของโรคนี้ คือ
- คนไข้จะคลั่งไคล้และชอบเล่นไฟ โดยจะรู้สึกเป็นสุขและผ่อนคลายเมื่อได้จุดไฟ
- ไม่สามารถต่อต้านไม่ให้จุดไฟได้ และทำไปทั้งๆที่ไม่ได้มีความตั้งใจหรือวางแผนว่าจะทำ
- ก่อนจะลงมือจุดไฟ คนไข้จะเกิดความตึงเครียดภายในจิตใจ มีความตื่นตัวกระวนกระวายเป็นอย่างมาก ต่อเมื่อได้จุดไฟแล้ว ความเครียดก็จะบรรเทา เกิดเป็นความสุข รู้สึกผ่อนคลาย และพึงพอใจ (แต่ในไม่ช้าอาจมีความรู้สึกผิด และละอายตามมา)
**การจุดไฟนี้ทำไปโดยไม่ได้มีเป้าหมายที่แน่ชัด (ไม่ได้ต้องการเงินประกัน ไม่ได้ต้องการให้เกิดความเสียหาย ไม่ได้ต้องการให้มีคนมาสนใจ ฯลฯ) “แค่ทำเพราะอยากทำ”
** ที่มาของการจุดไฟต้องไม่ได้มาจากความคิดหลงผิด (Delusion) หรือ ประสาทหลอน (Hallucination)
หลักการรักษากลุ่มโรคขาดความยับยั้งชั่งใจ
>>จิตบำบัด/พฤติกรรมบำบัด/จัดการสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ ยาทางจิตเวชเพื่อสร้างความยืดหยุ่นและลดความวู่วามของพฤติกรรมและจิตใจ
ผลการรักษาในภาพรวม
>> โดยรวมแล้วหลายรายดีขึ้นได้ สามารถต้านทานแรงขับที่อยากจะจุดไฟได้ หลายรายกลับไปดำเนินชีวิตได้ตามปกติ หลายรายก็อาจมีการกลับเป็นซ้ำๆได้เป็นพักๆ และมีอีกหลายรายที่อาการไม่ดีขึ้นและมีการดำเนินโรคแบบเรื้อรังหรือกลายเป็นความผิดปกติทางจิตกลุ่มอื่นๆ”
จากการหาข้อมูลเพิ่มเติม สาเหตุของโรคนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดแต่จากการศึกษาพบว่าผู้ป่วยมักมีประสบการณ์ในวัยเด็กที่ไม่ค่อยดี เช่น ถูกรังแก คุกคามทางเพศ หนีออกจากบ้าน จนเกิดปัญหาทำให้เป็นปมในใจ จนนำมาสู่โรคชอบจุดไฟ เพื่อระบายความเครียดในใจ
อย่างไรก็ตามโรคนี้เป็นโรคที่หาได้ยากและผู้ที่ถูกสงสัยต้องได้รับการวินิจฉัยโดยผู้เชี่ยวชาญ ติดตามสาระความรู้แบบนี้ได้อีกที่ iNN Lifestyle
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews
ขอขอบคุณข้อมูล