ยาพารา เป็นยาสามัญประจำบ้าน เป็นยาสำหรับลดไข้ บรรเทาอาการปวดเล็กน้อยถึงปานกลาง เป็นหนึ่งในยาที่ผู้คนเลือกใช้แรกๆ เมื่อมีอาการป่วย แต่ยาพาราเซตามอล กินแบบไหนถึงจะถูกต้อง กินต่อเนื่องจะอันตรายไหม วันนี้เรามาดูกัน
รู้จักยาพาราเซตามอลกันก่อน ว่ามีสรรพคุณอะไร?
“พาราเซตามอล” (Paracetamol) เป็นยาในกลุ่มลดไข้ บรรเทาอาการปวดเล็กน้อยถึงปานกลาง เช่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยจากไข้หวัด ปวดฟัน ปวดประจำเดือน ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง และปวดจากข้อเสื่อม
ขนาดยาพาราที่แนะนำให้ใช้ เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย
ยาพาราเซตามอลเป็นยาแก้ปวดลดไข้ มี 2 ขนาด คือ ขนาด 325 มิลลิกรัม และขนาด 500 มิลลิกรัม ซึ่งต้องกินตามน้ำหนักตัว โดยการกินยาแต่ละครั้ง ควรกินห่างกันอย่างน้อย 4-6 ชั่วโมง และใช้เฉพาะเมื่อมีอาการ เช่น ปวดหรือมีไข้
ขนาดยาพาราเซตามอลที่ถูกต้อง ควรกินตามน้ำหนักตัว โดยในการกินยา 1 ครั้ง แนะนำให้ใช้ยาขนาด 10-15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) ถ้าหากนำน้ำหนักตัวมาคำนวณแล้วเกินกว่า 10-15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) แปลว่าใช้ยาเกินขนาด ซึ่งอาจทำให้เกิดพิษร้ายแรงต่อตับได้
ยาพาราเซตามอล ขนาด 325 มิลลิกรัม
- น้ำหนัก 45-67 กิโลกรัม กิน 2 เม็ด
- น้ำหนัก 34-44 กิโลกรัม กิน 1 เม็ดครึ่ง
- น้ำหนัก 22-33 กิโลกรัม กิน 1 เม็ด
ยาพาราเซตามอล ขนาด 500 มิลลิกรัม
- น้ำหนัก 67 กิโลกรัมขึ้นไป กิน 2 เม็ด
- น้ำหนัก 51-67 กิโลกรัม กิน 1 เม็ดครึ่ง
- น้ำหนัก 33-50 กิโลกรัม กิน 1 เม็ด
สำหรับผู้ที่มีน้ำหนักตัวต่ำกว่า 22 กิโลกรัม ไม่ควรรับประทานยาพาราเซตามอลแบบเม็ดทุกขนาด ควรเข้าพบแพทย์โดยตรงเพื่อปรึกษาอาการและยาที่ควรใช้
อาการของการใช้ยาพาราเซตามอลเกินขนาด
หากรับประทานยาพาราเกินขนาด อาจมีอาการแสดงของการใช้ยาเกินขนาดจะแสดงใน 1-3 วัน มีทั้งหมด 3 ระยะ ได้แก่
- ระยะที่ 1 คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร เหงื่อออก เป็นระยะสั้น ๆ โดยจะเกิดภายใน 24 ชั่วโมง บางรายอาจไม่มีอาการ
- ระยะที่ 2 หลังกินยาระหว่าง 24-48 ชั่วโมง ไม่มีอาการแสดง แต่เมื่อเจาะเลือดจะพบว่าเอนไซม์ทรานซามิเนส (transaminase) เริ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่แสดงถึงการบาดเจ็บของตับ
- ระยะที่ 3 หลังกินยาไปแล้ว 48 ชั่วโมง มีอาการตับอักเสบ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหารอีกครั้ง มีภาวะแทรกซ้อนเหมือนตับอักเสบทั่วไป หากรุนแรงอาจมีอาการสมองเสื่อมจากโรคตับ และเสียชีวิตได้หากได้รับการรักษาไม่ทันท่วงที
กินยาพาราทุกวันอันตรายไหม?
จากข้อมูลของโรงพยาบาลต่างๆ ได้ให้ข้อมูลตรงกันว่า ไม่ควรรับประทานยาพาราติดต่อกันเกิน 5 วัน หากต้องใช้ยานานกว่านั้นควรปรึกษาแพทย์ เหตุผลหลักๆ คือ
1.การใช้ยาพาราติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจส่งผลให้ตับทำงานบกพร่อง
2.โดยปกติหากเกิน 5 วันแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น อาจเป็นสัญญาณของโรคอื่นๆ ควรให้แพทย์ตรวจเพื่อหาสาเหตุเพิ่ม
ยาพาราแม้จะเป็นยาสามัญประจำบ้านที่มีสรรพคุณในการบรรเทาอาการปวด ลดไข้ ที่นึกถึงอันดับแรกๆ ดูแล้วเป็นยาที่ไม่อันตราย แต่อย่างไรก็ควรรับประทานให้ถูก อ่านฉลากให้ดี ปรึกษาแพทย์ทุกครั้งหากต้องใช้นานกว่าที่กำหนด
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews
ขอขอบคุณข้อมูล