วันนี้เมื่อ 8 ปีที่แล้วมีรายงานว่า นาย ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำปี 2544 วัย 74 ปี ได้เสียชีวิตแล้ว หลังล้มป่วยล้มลงจากอาการตับอักเสบ ปิดตำนานจักรพรรดิผืนผ้าใบจากดอยสูง
ประวัติ ถวัลย์ ดัชนี
ชีวิตของ ถวัลย์ ดัชนี ห่างไกลจากคำว่าธรรมดาและใกล้ชิดกับคำว่า‘เปลี่ยนแปลง’ เกิดวันที่ 27 กันยายน พ.ศ.2482 ในฐานะลูกชายคนสุดท้องโดยมีพ่อเป็นอดีตกบฏบวรเดช อาศัยชีวิตวัยเด็กด้วยการยิงนกด้วยหนังสติ๊ก ก่อนแววศิลปะจะฉายเมื่อเข้าโรงเรียน ถวัลย์แกะลายรามเกียรติ์ได้ตั้งแต่ประถม
พออายุ 14 ได้ทุนจังหวัดไปต่อโรงเรียนเพาะช่างกรุงเทพฯ ไม่เช่าบ้านเลือกอาศัยนอนตามซอกหลืบอาคารจนจบหลักสูตรได้วุฒิครูประถมการช่าง นาย ถวัลย์ หลงใหลในความอาร์ตเลือกต่อคณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นนักเรียนกลุ่มสุดท้ายที่ได้เรียนกับอาจารย์ ศิลป์ พีระศรี ตัวเป็นๆ ด้วยฉายา ‘นายคนภูเขา’ เพราะเป็นคนเดียวที่ฝ่าดอยลงมาถึงเมืองหลวงสำเร็จ
จบหลักสูตร 5 ปี ถวัลย์ ได้ทุนเรียนต่อเนเธอแลนด์ในสาขาอภิปรัชญาและสุนทรียศาสตร์ บ่มเพาะจนแตกฉานด้านเทคนิคและทฤษฎีศิลป์ กลายเป็นศิลปินคนแรกๆที่มีผลงานผสมโลกตะวันตกและศาสตร์ตะวันออกได้อย่างกลมกลืน เมื่อกลับบ้านเกิดก็มีชื่อเสียงเชิดชูให้เป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำปี 2544 ออกผลงานล่อตาเศรษฐีในงานประมูลนักต่อนัก
ด้วยสไตล์งานที่รุนแรงแต่ลึกล้ำ ช่วงหนึ่งผลงานของถวัลย์ถูกกรีดทำลายหลายรูปด้วยเหตุที่ว่าเนื้อหาดูหมิ่นพระพุทธศาสนาเกินไป ทำให้เลิกแสดงงานในประเทศไปหลายปี แต่ก็สร้างจุดเปลี่ยนแก่วงการศิลปะไทยให้ตีความมากขึ้นไปอีก ไม่ต่างจากดราม่า ภาพวาดพระพุทธรูปปางอุลตร้าแมน เมื่อไม่กี่ปีก่อน
จากเด็กเนิร์ดสายอาร์ตมาเป็นนัดวาดนอกตำรา อาจารย์ถวัลย์ เป็นต้นแบบศิลปินหลายๆคนที่ชี้ว่างานที่ดีไม่ได้ต้องตรงตามบทเรียนไปเสียหมดจนขาดซึ่งชีวิตชีวา หากตีความให้คนทั่วไปเข้าใจง่าย ก็คงหมายถึงความคิดสร้างสรรค์ที่ต้องมี เพราะความเชื่อนี้จะผลิตผลให้คนยังมีชีวิตต่อไป
ยังมีเรื่องราวย้อนวันวานให้เล่าอีก เลือกอ่านต่อได้ที่ iNN Lifestyle
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews
ขอบคุณข้อมูลจาก
“ถวัลย์ ดัชนี” กับงานศิลป์ที่ถูกกรีด “ยอมรับไม่ได้” ในไทย ถึงคำชี้แนะของศิลป์ พีระศรี , รัชตะ จึงวิวัฒน์