บาปเจ็ดประการคืออะไร?
บาปเจ็ดประการ หรือ Seven Deadly sins เชื่อว่าหลายๆ คนน่าจะเคยได้ยินผ่านหูผ่านตากันมาบ้าง ผ่านทางภาพยนตร์ การ์ตูน เกม ซีรีส์ต่างๆ หรือแม้กระทั้งมิวสิควิดีโอบางเพลงก็หยิบยกมาใช้อยู่บ่อยๆ วันนี้เลยอยากสรุปสั้นๆ ให้ทุกคนได้รู้กัน
บาปเจ็ดประการ นั้นมาจากศาสนาคริสต์ นิยามของบาปคือ การกระทำต่างๆ ที่ขัดต่อคำสั่งของพระเจ้า จุดเริ่มต้นของบาปทั้งเจ็ดประการคาดว่าเริ่มมาจากนักบวชในศาสนาคริสต์จากนั้นก็ถูกส่งต่อ ปรับเปลี่ยนเรื่อยๆ มาถึง สมเด็จพระสันตปาปาเกรกอรีที่ 1 (Pope Gregory I) มาเขียนลงในหนังสือ โดยเนื้อหาหลักก็เกี่ยวกับบาปทั้ง 7 ประการ
บาปเจ็ดประการ หรือ Seven Deadly sins มีอะไรบ้าง
บาปหนักทั้ง 7 ประการ ประกอบด้วย
- อัตตา (Pride)
- โทสะ (Wrath)
- ความโลภ (Greed)
- ริษยา (Envy)
- ตะกละ (Gluttony)
- ราคะ (Lust)
- ความเกียจคร้าน (Sloth)
บาปทั้ง 7 ประการจะมีสัตว์ ปีศาจประจำบาปของตัวเอง จุดประสงค์หลักที่ทำให้ผู้คนจดจำเรื่อง 7 บาปเพื่อไม่ให้มนุษย์ประพฤติชั่วและทำตามสัญชาตญาณตามความพีงพอใจของตนเองมากเกินไป และไม่ต้องการให้มนุษย์ทั้งหลายตกเป็นทาสของบาปทั้ง 7 ประการนั้นเอง
1.อัตตา (Pride)
ปีศาจ : ลูซิเฟอร์
สัตว์ประจำบาป : ม้า สิงโต นกยูง
อัตตาเป็นยอดแห่งบาปทั้งปวง หมายถึงความต้องการเป็นผู้ที่มีความสำคัญและอำนาจเหนือผู้อื่น (เช่นต้องการเป็นพระราชา) การที่รักตนเองมากจนเกินไป หลงในอำนาจและรูปลักษณ์ของตัวเอง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปรียบตนเองเทียบเท่ากับพระเจ้า) ซึ่งบาปประการนี้ทำให้ ลูซิเฟอร์ ถูกขับไล่ออกจากสวรรค์ เนื่องจากลูซิเฟอร์เห็นว่าตนมีอำนาจเท่ากับพระเจ้าและสามารถสร้างพรรคพวกของตัวเองเพื่อต่อต้านและไม่เคารพพระเจ้า คนที่มีความโอหังจะสนใจเฉพาะตนเองเท่านั้น ไม่สนใจว่าผู้อื่นจะเป็นเช่นไร บทลงโทษของบาปนี้คือ ทรมานบนวงล้อ
2.โทสะ (Wrath)
ปีศาจ : ซาตาน
สัตว์ประจำบาป : หมี
ความโกรธเคืองและพยาบาทที่ขาดความเหมาะสม การทนรับสภาพในบางสิ่งบางอย่างไม่ได้ การแสวงหาหนทางผิดกฎหมายบ้านเมือง ในศีลธรรมในการล้างแค้น การมุ่งร้ายที่จะทำสิ่งต่างๆแก่บุคคลที่ตนไม่ชอบ รวมถึงการไม่ชอบบุคคลอื่นโดยไร้เหตุผล เช่น สีผิว เชื้อชาติ ศาสนา นำไปสู่การฆ่าและฆาตกรรมผู้อื่นทลงโทษของผู้ที่มีบาปโทสะคือ การถูกฉีกร่างทั้งเป็น
3.ความโลภ (Greed)
ปีศาจ : แมเมิน
สัตว์ประจำบาป : กบ
ความทะเยอทะยานอันแรงกล้าในการให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินและอำนาจ โดยไม่คำนึงถึงแนวทางหรือคุณธรรมในการได้มาซึ่งสิ่งเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการขโมย การขู่กรรโชกทรัพย์ ยักยอก การกักเก็บทรัพย์สินต่างๆ โดยไม่แบ่งปันหรือช่วยเหลือผู้อื่น ต่อมาโลภะรวมถึง การหาทรัพย์อย่างทุจริตมาใช้เพื่อประโยชน์ทางศาสนาด้วย ถือเป็นการมุ่งร้ายต่อศาสนา และเป็นการหักหลังต่อผู้นับถือคริสต์ศาสนา บทลงโทษของผู้ที่โลภมากคือการถูกแช่ในน้ำมันเดือด
4.ริษยา (Envy)
ปีศาจ : เลวีอาธาน
สัตว์ประจำบาป : สุนัข
ความปรารถนาให้ผู้อื่นรับเคราะห์ การไม่ยอมรับผู้อื่นที่มีสิ่งต่างๆ ดีกว่าตนเอง ทั้งด้านทรัพย์สมบัติ ลักษณะรูปร่างนิสัย และ การประสบความสำเร็จ ความอิจฉานำไปสู่การรังเกียจตัวเอง ต้องการอยากเป็นผู้อื่น นำไปสู่การขโมยและทำลายผู้อื่น ความอิจฉาริษยาเป็นการพัฒนาต่อจากตะกละและโลภะที่สุดขั้ว บทลงโทษผู้ที่มีความอิจฉาคือถูกเย็บตาอย่างทรมาน
5.ตะกละ (Gluttony)
ปีศาจ : เซราฟิม
สัตว์ประจำบาป : หมู
การสนองความต้องการโดยไม่ยั้งคิด มุ่งร้ายเอาของคนอื่น บริโภคสิ่งต่างๆจนขาดการไตร่ตรอง บริโภคจนมากเกินไป มากจนเกินความจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาหาร รวมถึงการบริโภคสิ่งๆ ต่างๆ โดยไม่คำนึงสนใจ หรือเห็นใจคนอื่น ทำให้เวลาสรรเสริญพระเจ้าน้อยลง และยังเป็นบาปที่สามารถชักจูงให้ทำบาปอื่นๆ ได้ เช่น ปรารถนาในความหิว (ราคะ) ฆ่าเพราะความหิว (โทสะ) เป็นต้น บทลงโทษของผู้ที่ตะกละในนรกคือการที่ถูกกินทั้งเป็นโดยหนู คางคก และงู
6.ราคะ (Lust)
ปีศาจ : แอสโมเดียส
สัตว์ประจำบาป : งู วัว
การคิดในทางเสื่อม ความต้องการเป็นที่สนใจจากผู้อื่น ความต้องการความเร้าใจ หมกมุ่นทางเพศที่มากจนเกินไป หรือที่ผิดมนุษย์ปกติ ความใคร่ที่เกิดขึ้นในทางทุจริต เช่น การมีเพศสัมพันธ์กับสัตว์ กับพ่อแม่หรือลูกหลานตัวเอง การข่มขืน การมีชู้ บทลงโทษผู้กระทำบาปข้อนี้คือ ถูกรมด้วยสารกำมะถันและไฟ และ ตัดอวัยวะเพศ
7.ความเกียจคร้าน (Sloth)
ปีศาจ : เบลเฟกอร์
สัตว์ประจำบาป : แพะ
ความไม่สนใจใยดีต่อการเปลี่ยนแปลง ต่อสิ่งรอบข้าง ใช้เวลาอย่างไร้ค่า ความไม่ต้องการที่จะทำอะไร โดยปล่อยให้ผู้อื่นเป็นผู้ทำงานหนักเพื่อตนเองเท่านั้น การปล่อยปละละเลยต่อหน้าที่ของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการละเลยที่จะทำดีรวมถึงการละเลยที่จะเคารพต่อพระเจ้าด้วย ผู้ที่เกียจคร้านจะอยู่เฉยๆ รักษาสภาพความเป็นอยู่ของตนเองในภาวะเดิมตลอดเวลา ไม่ทำอะไรมาก แต่ก็ไม่ใช้อะไรมากเช่นกัน บทลงโทษของผู้เกียจคร้านคือการถูกโยนลงไปในบ่องูพิษ
ปัจจุบันนอกจากเป็นคำสอนแล้ว บาป 7 ประการก็ถูกนำไปใช้ในงานศิลปะมากมายและบางครั้งก็ถูกนำไปตีความในรูปแบบอื่นๆ
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews
ขอขอบคุณข้อมูล