เราฟัง หูฟัง ได้ดังและนานแค่ไหน?
หูฟัง หนึ่งสิ่งที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นปัจฉัยที่ 6 (ปัจฉัย 5 คือมือถือ) ของคนในยุคนี้เลยก็ว่าได้ หากขาดหูฟังไปการเดินทาง นั่งรถไปทำงาน เรียน เที่ยว คงน่าเบื่อและรู้สึกเวลาช่างผ่านไปช้าเหลือเกิน นอกจากความเพลิดเพลินแล้ว หูฟังยังช่วยให้เราสามารถพูดคุยได้อย่างสะดวก แต่หูฟังที่เราใช้กันทุกวันก็มีข้อเสียเหมือนกันหากเราใช้มันนานและเปิดเสียงดังเกินไป แล้วมันต้องดังหรือนานขนาดไหนกันที่เรียกว่าเกินพอดี
เสียงทำให้สูญเสียการได้ยิน
ก่อนอื่นเรามารู้ก่อนว่าเสียงที่ดังและนานเกินไปนั้นทำให้เราสูญเสียการได้ยินได้อย่างไร แม้จะดูขัดกัน ว่าเสียงคือสิ่งที่เราได้ยินและเป็นหนึ่งสิ่งที่เราใช้ในการสื่อสารอยู่แล้วเสียงต่างๆก็ไม่น่าจะเกิดผลอะไรกับหูของเราได้ แต่สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะหูชั้นในของเรามีความไวต่อเสียงมาก มีเซลล์หลายพันเซลล์ในหูของเรา มีขนเล็กๆในชั้นหูของเราที่ทำหน้าที่ส่งเสียงจากหูไปสมอง เสียงที่ดังมากเกินไปทำให้เซลล์ขนเหล่านี้เกิดความเสียหายอย่างถาวร
เสียงที่ดังเกินไป ดังขนาดไหน
The CDC หรือ Centers for Disease Control and Prevention ศูนย์ควบคุมโรคได้ให้ผลการศึกษาในข้อหัว What Noises Cause Hearing Loss? หรือเสียงอะไรทำให้เราสูญเสียการได้ยิน โดยใจความหลักกล่าวถึงเสียงต่างๆในชีวิตประจำวันที่มีระดับเสียงหรือเดซิเบล (dB) ที่ส่งผลต่อเราได้ หนึ่งในความน่าสนใจของบทความนี้คือ หูฟังที่เราใช้กันนั้น เราสามารถปรับได้เสียงได้สูงสุดถึง 105-110 dB แล้วก็มีบางคนปรับไปถึงระดับนั้นเสียด้วย
แล้วเสียง 105-110 ดังแค่ไหนกัน ให้เห็นภาพชัดขึ้นเสียงเครื่องตัดหญ้าหรือเสียงที่เป่าลมนั้นอยู่ที่ 85 dB ที่ทำให้เกิดความเสียงหายต่อการได้ยินของเราได้หากฟังเกิน 2 ชั่วโมง ส่วนรถไฟฟ้าใต้ดินที่กำลังใกล้เราเข้ามานั้นดังอยู่ที่ 100 dB ซึ่งทำให้เราสูญเสียการได้ยินได้หากฟังติดต่อกันเกิน 15 นาที กลับมาที่ความดัง 105-110 dB หากเราฟังในระดับนี้ เพียงแค่ 5 นาทีก็อาจจะทำให้เกิดความเสียหายต่อหูของเราได้แล้ว ระดับเสียงที่เหมาะสมที่ควรใช้กับหูฟังคือ 70 dB ลงมา เทียบเท่ากับเสียงเวลาคุยปกติหรือเสียงแอร์ที่เราได้ยินกัน
คำแนะนำสำหรับการใช้หูฟัง
- เริ่มจากสังเกตตัวเองว่าคุณใช้หูฟังมากี่ชั่วโมงและเสียงนั้นดังขนาดไหน
- เมื่อสังเกตแล้วหากใช้มาหลายชั่วโมงแล้วควรหยุดพัก ถอดหูฟังออกชั่วคราว
- หากต้องไปในสถานที่ ที่มีเสียงดังเช่น คอนเสิร์ต โรงงาน สถานที่ก่อสร้าง งานแข่งกีฬา ให้เตรียมที่อุดหูหรือหูฟังที่ช่วยลดเสียงรอบๆลงได้
- ที่สำคัญที่สุดเมื่อเราเริ่มรู้สึกว่าการได้ยินเราผิดเพี้ยนไปจากปกติ ควรรีบไปปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเรื่องหู เพื่อทำการตรวจและคำแนะนำต่อไป
หูฟัง เป็นสิ่งที่เราใช้ทุกวันจนเคยชิน ทำให้ลืมไปว่ามันก็มีข้อเสียเองเช่นกัน หากวันนี้ต้องเดินทางไปไหนแล้วต้องหยิบหูฟังขึ้นมาใส่ อย่าลืมปรับเสียงให้เหมาะเพื่อความปลอดภัยของตัวเราเอง
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก
health.harvard
cdc
headphonesty