Home
|
ไลฟ์สไตล์

รู้จักตู้คอนซูมเมอร์ แผงจ่ายไฟฟ้าที่ทุกบ้านต้องมี

Featured Image

          ไฟฟ้าเป็นปัจจัยในการดำเนินชีวิตที่ขาดไม่ได้ เรามีเหตุต้องใช้ไฟฟ้าในชีวิตแทบจะตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งให้แสงสว่าง ปรับอุณหภูมิ ทำอาหาร ทำงาน ให้ความบันเทิง และประโยชน์ด้านอื่น ๆ ทำให้ไฟฟ้ากลายเป็นสิ่งที่ต้องมีทุกบ้าน และนำมาสู่อุปกรณ์จ่ายไฟฟ้าชิ้นสำคัญที่ขาดไม่ได้ นั่นก็คือ “ตู้คอนซูมเมอร์” หรือ Consumer Unit นั่นเอง

ตู้คอนซูมเมอร์คืออะไร ทำไมทุกบ้านต้องมี?

          ตู้คอนซูมเมอร์ (Consumer Unit) หรือที่หลายคนเรียกกันสั้น ๆ ว่าตู้ไฟและกล่องไฟ เป็นตู้ที่ใช้รวบรวมอุปกรณ์ควบคุมไฟฟ้าในอาคารหรือพื้นที่ขนาดเล็ก เช่น ห้องเช่า บ้าน ห้องพัก สำนักงานขนาดเล็ก ช่วยป้องกันอันตรายต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้จากกระแสไฟฟ้า มีความเป็นระเบียบและง่ายต่อการซ่อมแซมหรือบำรุงรักษา นิยมใช้สำหรับไฟฟ้าระบบ 1 เฟส 220 โวลต์เท่านั้น

          ตู้ไฟส่วนใหญ่จะเป็นแบบสำเร็จรูป ประกอบไปด้วยเซอร์กิตเบรกเกอร์เมน, อุปกรณ์ป้องกันไฟรั่วไฟดูด และเซอร์กิตเบรกเกอร์ย่อย มีลักษณะเป็นชุดกล่องเหล็กหรือกล่องพลาสติก ส่วนใหญ่จะเรียงกันอยู่ในแถวเดียว โดยแบ่งการติดตั้งเป็น 2 ประเภทหลัก ดังนี้

  1. ตู้แบบ Plug On เทคโนโลยีการติดตั้งที่มีความปลอดภัยสูง กรณีเกิดไฟฟ้าลัดวงจร สนามแม่เหล็กจะเหนี่ยวนำดูดส่วนคลิปขาหนีบของเบรกเกอร์ให้ยึดเกาะแท่งบัสบาร์แน่นยิ่งขึ้น ป้องกันการเกิดประกายไฟจนนำไปสู่ไฟไหม้ ระบบนี้จะช่วยให้การติดตั้งเบรกเกอร์ทำได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น ไม่ต้องร้อยสายไฟให้ยุ่งยาก และยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้วย
  2. ตู้แบบ DIN rail หรือแบบรางปีกนก เป็นการติดตั้งแบบเก่า ต้องนำเบรกเกอร์ไปยึดกับรางเหล็กแล้วใช้สายไฟเชื่อมต่อ ต้องติดตั้งสายดินให้ถูกต้องตามมาตรฐานการไฟฟ้า เพื่อป้องกันอันตรายจากไฟดูด สามารถออกแบบรูปแบบวงจรได้หลากหลายเช่นเดียวกับแบบ Plug on มีความคงทนสูง ใช้งานได้นานกว่า แต่ก็ใช้เวลาและมีค่าใช้จ่ายในการติดตั้งที่สูงกว่าเช่นกัน

วิธีติดตั้งและดูแลรักษาตู้คอนซูมเมอร์เพื่อความปลอดภัย

  1. เลือกขนาดสายไฟให้เหมาะกับขนาดแอมป์ของเบรกเกอร์
  2. ติดตั้งระบบสายดินอย่างถูกต้องตามมาตรฐานของการไฟฟ้า
  3. ปิดเมนเบรกเกอร์ทุกครั้งก่อนซ่อมบำรุงหรือเปลี่ยนอุปกรณ์ในตู้คอนซูมเมอร์
  4. หากฟิวส์ที่ใช้ควบคุมวงจรไฟฟ้าขาด ไม่ควรใช้ตัวนำใด ๆ มาแทนที่ ควรเปลี่ยนฟิวส์ใหม่หรือเปลี่ยนเป็นเซอร์กิตเบรกเกอร์แทน
  5. กรณีมีการติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันไฟรั่วไฟดูดในระบบ ห้ามต่อบายพาสอุปกรณ์ป้องกันไฟรั่วไฟดูดเด็ดขาด
  6. ควรให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าโดยเฉพาะเป็นผู้ติดตั้งตู้ไฟเท่านั้น
  7. ติดตั้งตู้ไฟในบริเวณที่เข้าถึงได้ง่าย ห่างไกลจากความชื้นและน้ำ เพื่อให้ง่ายต่อการซ่อมบำรุง ลดความเสี่ยงการเกิดไฟฟ้าช็อต

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube