เช็กอาการ ‘ไข้กาฬหลังแอ่น’ โรคร้ายในพื้นที่แออัด
รู้จัก ไข้กาฬหลังแอ่น โรคจากแบคทีเรียที่แพร่ง่าย ติดไว และเสี่ยงต่อชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาอย่างท่วงที หรืออาจถึงขั้นพิการเมื่อช้าเกินไป
จากกรณี สสจ.กระบี่ รายงานพบผู้ติดเชื้อเข้าข่าย “โรคไข้กาฬหลังแอ่น” ในพื้นที่โรงเรียนปอเนาะ อ.คลองท่อม จ.กระบี่ 6 คน เสียชีวิต 1 คน จนต้องสั่งปิดพื้นที่ นำมาซึ่งความหวาดกลัวของโรคร้ายดังกล่าวให้กลับมาเป็นที่รู้จักอีกครั้ง ถึงอาการ โอกาสติดต่อ และวิธีป้องกัน
รู้จัก โรคไข้กาฬหลังแอ่น
โรคไข้กาฬหลังแอ่น เป็นโรคที่รู้จักกันมานาน มีชื่อทางการแพทย์ว่า Meningococcemia เป็นโรคติดเชื้อชนิดหนึ่งที่เกิดจากแบคทีเรีย Neisseria meningitidis ซึ่งเป็นเชื้อกรัมลบรูปทรงกลมจำพวกเดียวกับเชื้อหนองในแท้ เพียงแต่โรคนี้ไม่จำเป็นต้องติดผ่านเพศสัมพันธ์ุ ซึ่งมีความรุนแรงในการก่อโรคมากกว่า รวมถึงมีอัตราการตายสูงกว่าเช่นกัน
โรคไข้กาฬหลังแอ่น มาจากคำว่า โรคไข้กาฬ ที่หมายถึง ความรุนแรงของโรคที่ทำให้เสียชีวิตได้ในเวลาอันสั้น และ หลังแอ่น มาจากอาการของผู้ป่วยที่อาจมีการชักเกร็งจนหลังแอ่น สามารถถ่ายทอดเชื้อได้ผ่าน การไอ, จาม, เสมหะ น้ำมูก น้ำลาย เข้าสู่ระบบโลหิตและประสาท
อาการของโรคไข้กาฬหลังแอ่น
เชื้อไข้กาฬหลังแอ่นสามารถสะสมได้ทั้งในผู้ป่วย และ ผู้ไม่มีอาการ โดยจะสะสมเชื้อในลำคอก่อนถ่ายทอดผ่านทางเดินหายใจ หรือสารคัดหลั่งอย่าง น้ำมูก น้ำลาย ส่วนอาหารหลักๆ กระทรวงสาธารณสุข ได้อธิบายลักษณะสำคัญ 3 อย่าง คือ
- มีไข้
- ขึ้นผื่น
- เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
ผู้ป่วยมักจะมีไข้มาก่อนประมาณ 2-3 วัน ก่อนมีผื่นขึ้น ในลักษณะเป็นจ้ำเลือดเหมือนฟกช้ำคล้ายดาวกระจาย บริเวณลำตัวส่วนล่าง, ขา, เท้า และบริเวณที่มีแรงกดบ่อยๆ เช่น ขอบกางเกง, ขอบถุงเท้า, เยื่อบุตา หรือ มือ
ซ้ำร้าย หากเยื่อหุ้มสมองอักเสบ จะมีอาการ ปวดหัวรุนแรง, อาเจียน, คอแข็ง, ซึม สับสน ไม่ค่อยรู้สึกตัว ในรายที่รุนแรงก็อาจ เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด ความดันเลือดต่ำ ปลายนิ้วมือนิ้วเท้าเขียวหรือดำคล้ำ ไตวาย น้ำท่วมปอด จนเสียชีวิตอย่างรวดเร็วด้วยอัตราการตาย 70-80 เปอร์เซ็นต์ ของ ผู้ป่วยโรคไข้กาฬหลังแอ่น ทั้งหมด
วิธีป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่น
- การฉีดวัคซีน
โดยต้องฉีดวัคซีนป้องกันให้ถูกต้องตามสายพันธ์ุที่ระบาดเท่านั้น แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะต้องได้รับวัคซีน ตามปกติแล้วจะฉีดให้กับคนที่อยู่ในเขตที่มีการระบาดเป็นประจำ
- การกินหรือฉีดยาต้านจุลชีพ
ใช้ป้องกันการเกิดโรคในกรณีภายหลังการสัมผัสโรคโดยไม่ขึ้นกับสายพันธุ์ของเชื้อ แตกต่างจากการฉีดวัคซีนที่ต้องระบุสายพันธุ์ให้ถูกต้องก่อน
ดังนั้นแล้ว โรคไข้กาฬหลังแอ่น แม้เป็นโรคอันตรายที่แพร่ได้ไวและมีโอกาสเสียชีวิตสูง แต่ในทางกลับกัน โรคดังกล่าวมักเกิดในพื้นที่แออัดเท่านั้น หากมีการปิดล้อมพื้นที่อย่างถูกต้องก็ถือเป็นการป้องกันการแพร่ระเบิดไปแล้วระดับหนึ่ง ทั้งนี้ ผู้เข้าใกล้กลุ่มเสี่ยงต้องหมั่นเช็คอาการเพื่อไม่ให้แพร่เชื้อเป็นวงกว้างด้วยเช่นกัน
ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับสุขภาพต่อได้ที่ iNN Lifestyle
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=703