24 กุมภาพันธ์ วันศิลปินแห่งชาติ
ประเทศไทยกำหนดให้วันที่ 24 กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็น “วันศิลปินแห่งชาติ” และวันนี้ยังเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) พระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีอีกด้วย หลายคนคงจะทราบกันดีว่าท่านทรงมีพระปรีชาสามารถในศิลปกรรมหลายด้านหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นด้านกวีนิพนธ์ ด้านประติมากรรม และด้านดนตรี ท่านทรงอุปถัมภ์บำรุงศิลปกรรมแขนงต่าง ๆ ตลอดจนทรงส่งเสริมและเชิดชูศิลปินผู้มีฝีมือมาตลอดรัชสมัยของพระองค์
ศิลปินแห่งชาติ หมายถึง ผู้ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ และจะต้องเป็นศิลปินที่ได้อุทิศตนสร้างสรรค์ผลงานในด้านศิลปะจนเป็นมรดกอันล้ำค่าทางวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นทั้งในสาขาวรรณศิลป์ ทัศนศิลป์ และศิลปะการแสดง ซึ่งพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศิลปินแห่งชาติเข้ารับพระราชทานเข็มเพื่อความเป็นสิริมงคลยิ่งแก่ตนเองและวงศ์ตระกูล
สำหรับหลักเกณฑ์การคัดเลือกศิลปินแห่งชาตินั้น ประกอบด้วย 3 หลักเกณฑ์ด้วยกัน
1. คุณสมบัติของศิลปินแห่งชาติ ได้แก่
- เป็นผู้มีสัญชาติไทยและยังมีชีวิตอยู่ในวันตัดสิน
- เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ มีความเชี่ยวชาญ และมีผลงานดีเด่นเป็นที่ยอมรับของวงการศิลปะแขนงนั้น
- เป็นผู้สร้างสรรค์และพัฒนาศิลปะแขนงนั้นๆ
- เป็นผู้ถ่ายทอดหรือเป็นต้นแบบศิลปะแขนงนั้น
- เป็นผู้มีคุณธรรม และมีความรักในงานศิลปะ
- เป็นผู้มีผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและมนุษยชาติ
2.มาตรฐานผลงานศิลปะของศิลปินแห่งชาติ จะต้องเป็นผลงานที่สื่อให้เห็นถึงคุณค่าในความดี ความงาม คุณค่าทางอารมณ์ สะท้อนความเป็นธรรมชาติ หรือสถานภาพทางสังคมและวัฒนธรรมแห่งยุคสมัย มีค่านิยม จริยธรรม เอกลักษณ์ของท้องถิ่นและเอกลักษณ์ของชาติ และผลงานสร้างสรรค์จะต้องมีเอกลักษณ์เฉพาะตนไม่ลอกเลียนแบบจากผู้อื่น
3.การเผยแพร่และยอมรับคุณค่าผลงานของศิลปินแห่งชาตินั้นจะประกอบด้วยผลงานที่ได้รับการจัดแสดงหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนอย่างต่อเนื่อง มีหลักฐานอ้างอิง โดยเป็นผลงานที่แสดงให้เห็นถึงแนวคิดการพัฒนาการทางงานศิลปะอย่างเด่นชัด และจะต้องเป็นผลงานที่ได้รับรางวัลหรือเกียรติคุณระดับท้องถิ่น ระดับชาติ หรือระดับนานาชาติ
การคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ จะคัดเลือกใน 3 สาขา ได้แก่
- สาขาทัศนศิลป์ หมายถึง ศิลปะที่มองเห็นได้ด้วยตา แบ่งเป็น วิจิตรศิลป์ และประยุกต์ศิลป์ ส่วนที่เป็น วิจิตรศิลป์ ได้แก่ จิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ สื่อผสม และภาพถ่าย ส่วนประยุกต์ศิลป์ ได้แก่ สถาปัตยกรรมแบบประเพณีและร่วมสมัย มัณฑศิลป์ การออกแบบผังเมือง การออกแบบอุตสาหกรรม และประณีตศิลป์ เป็นต้น
- สาขาวรรณศิลป์ หมายถึง บทประพันธ์ที่แต่งอย่างมีศิลปะทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง มีองค์ประกอบที่สำคัญคือความคิดสร้างสรรค์ ความรู้สึกสะเทือนใจ จินตนาการและกลวิธีเสนอเรื่องที่น่าสนใจ
- สาขาศิลปะการแสดง หมายถึง ศิลปะที่มีการแสดง ซึ่งเป็นได้ทั้งวิจิตรศิลป์ ประยุกต์ศิลป์ รวมทั้งศิลปะพื้นบ้าน ได้แก่ การแสดง ดนตรี และการแสดงพื้นบ้าน โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ ดนตรีไทยและนาฏศิลป์ไทย, ดนตรีสากลและนาฏศิลป์สากล และภาพยนตร์และละคร
เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528 ประกาศให้ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็นวันศิลปินแห่งชาติและไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news