ลา มกราคมได้สักที ทำไมเดือนนี้ถึงนานกว่าเดือนอื่น?
ฉลองปี 2023 ด้วยการตกอยู่ในห้วงของเดือนมกราคมที่ตื่นมากี่วัน ๆ ก็ยังไม่หมดเดือน ทั้ง ๆ ที่ก็มี 30 วันเท่ากับเดือนอื่น แต่ทำไมเวลามันช่างผ่านไปนานแสนนาน บอกเลยว่าเราไม่ได้คิดกันไปเอง ปัญหานี้ถูกตั้งคำถามทั่วโลก แต่เรื่องนี้มีคำตอบเป็นงานวิจัยด้วยนะ
เดือนมกราคมช้ากว่าเดือนอื่น ๆ จริง
วิลเลียม สกายลาร์ค (William Skylark) นักวิจัยของมหาวิทยาลัย Cambridge ได้อธิบายว่าการรับรู้เวลาของในสมองกับเวลาในชีวิตจริงของเรานั้นสามารถแตกต่างกันได้ เพราะสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อการรับรู้ของเราในขณะนั้น และอีกปัจจัยสำคัญที่ส่งผลโดยตรงก็คือ “สารโดปามีน (Dopamine)” หรือจากวารสารจาก The New Statesman ก็ได้พูดถึงเรื่อง “Dopamine Clock”
Dopamine Clock เวลาความสุขที่หยุดเดิน
สารที่หลั่งความสุขได้เข้ามาเกี่ยวพันกับช่วงเวลาระหว่างเดือนธันวาคมและมกราคม ช่วงวันหยุดยาวส่งท้ายปีเก่าเราได้หลั่งสารความสุขกันออกมาอย่างเต็มที่ เฉลิมฉลองเทศกาลกับคนที่รัก ได้พักผ่อนหลังจากเหนื่อยล้ากันมาทั้งปี และเมื่อก้าวเข้าสู่มกราคมวันที่เราต้องเริ่มกลับมาทำงาน สารความสุขก็ถูกลดจำนวนการหลั่งลง ทำให้เรารู้สึกว่าไม่ผ่อนคลาย เบื่อหน่าย และหมดแรง
เราจึงรู้สึกว่าเวลาในเดือนมกราคมนั้นเดินช้า เพราะเวลาแห่งความสุขที่เดินช้าลงเหมือนกัน เหมือนถูกปิดสวิตช์ความสุขแบบกะทันหัน กำลังเดินทางไปทะเลแล้วอยู่ ๆ ก็กลับมาทำงาน เข้าสู่ลูปชีวิตประจำวันที่โหยหาการพักผ่อนอีกครั้ง อีกตั้ง 11 เดือนกว่าจะหมดปี สมองเราจึงหลั่งสารโดปามีนออกมาได้น้อยกว่าช่วงวันหยุดเพราะเราตั้งหน้าตั้งตารอเป็นพิเศษ
แต่อย่างไรก็ตามเมื่อพ้นเดือนมกราคมไปแล้ว เดือนอื่น ๆ เราก็รู้สึกถึงความไวที่มีมากขึ้นเพราะเทศกาลต่าง ๆ ที่เราตั้งหน้าตั้งตารอก็จะค่อย ๆ ใกล้เข้ามา อีกไม่กี่วันก็จะหมดเดือนแล้ว กินให้อิ่ม นอนให้หลับ แล้วผ่านเดือนที่แสนยาวนานนี้ไปด้วยกัน
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews
ขอบคุณข้อมูลจาก
https://www.newstatesman.com/science-tech/2018/01/scientific-reason-why-january-lasts-forever