Home
|
ไลฟ์สไตล์

ย้อนร้อย 100 ปี จุดเริ่มต้นของมีม (meme) ฮิตทุกยุคเล่นได้ทุกสถานการณ์

Featured Image

          ทุกคนที่เล่นโซเชียลมีเดียบอกเลยต้องเคยเห็นมีมเป็นแน่ ไม่ว่าจะทั้งมีมตลก ล้อหนัง การ์ตูน หรือแม้แต่เสียดสีสังคม การเมือง ก็พบเจอได้ทั้งนั้น เป็นการย่อยข้อมูลสถานการณ์ต่าง ๆ ออกมาให้อยู่ในรูปภาพ เพื่อให้คนที่สนใจในสิ่งนั้น ๆ เกิดอารมณ์ร่วมไปกับมีมนั่นเอง

          หลาย ๆ คนน่าจะเคยเห็นและคุ้นชินเกี่ยวกับสองภาพนี้กันอยู่บ้างแล้ว เป็นสองมีมฮอตฮิตที่ถูกเอามาใช้ได้เกือบทุกสถานการณ์อย่างภาพเด็กเสื้อเขียวเรียกว่า Success Kid ที่ถูกใช้ในช่วงแรก ๆ ที่ฮิตเลยก็ว่าได้ กับมีมสไปเดอร์แมนนี้ก็ฮิตไม่แพ้กัน

จุดเริ่มต้นของมีม

          มีม (Meme) เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 1976 โดย ริชาร์ด ดอว์กินส์ โดยได้บัญญัติคำว่า meme ลงในหนังสือ The Selfish Gene ที่เกี่ยวกับการอภิปรายทฤษฎีวิวัฒนาการการแพร่ของความคิดและปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรม เพราะมีมถือได้ว่าเป็นสิ่งที่แพร่ความคิดผ่านรูปภาพ ข้อความ ออกไปในหลาย ๆ วัฒธรรมให้รู้ได้โดยทั่วกัน

          นอกจากนี้ยังมีระบุว่า มีม เป็นรูปแบบของ ความคิดทางวัฒนธรรม สัญลักษณ์ หรือการปฏิบัติที่ส่งต่อกันไป เหมือนกับ gene ที่ส่งผ่านต่อพันธุกรรม และยังมีที่มาจาก mimetismos ในภาษากรีกที่แปลว่า การเลียนแบบบางอย่าง โดยสองคำนี้ถูกนำมาย่อยรวมกันจนกลายเป็นคำว่า meme ที่แปลว่า การส่งต่อสิ่งที่เลียนแบบบางอย่างต่อ ๆ กัน ดังที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

          Dawkins เรียกมีมว่า “ความคิดที่แพร่กระจายจากสมองสู่สมอง” หรืออย่างOxford ได้บัญญัติว่า มีม เป็นรูปภาพ วิดีโอ หรือข้อความที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตคัดลอกและเผยแพร่ โดยมักมีรูปแบบต่างกันไป

กำเนิดมีมแรกของโลก

          จากความฮิตและกระแสของมีมที่มีมากันอย่างต่อเนื่องไปทั่วโลก เกิดเรื่องราวน่าสนใจเกี่ยวกับสิ่งที่คาดว่าน่าจะเป็นมีมแรก ๆ ของโลก ที่เกิดขึ้นมากว่า 100 ปีที่แล้ว 

          ภาพการ์ตูนถูกค้นพบในนิตยสารการเสียดสี The Judge (1921) พิมพ์โดยมหาวิทยาลัยไอโอวา ซึ่งผู้ใช้ Tumblr ที่ชื่อว่า Yesterday’s Print ได้ทำการโพสต์ภาพจากสื่อสิ่งพิมพ์สมัยก่อนจนเกิดข้อถกเถียงกันว่า หรือว่านี่จะเป็นมีมแรกของโลกก่อนจะเกิดยุคของอินเทอร์เน็ตกับ “How you think you look like / How you really look”

          นอกจากนี้ยังมีนิตยสาร Wisconsin Octopusโดยมหาวิทยาลัยวิสคอนซินระหว่างปี 1919 ถึง 1959 ที่ได้อิทธิพลการสร้างมีมสิ่งที่คิดกับความเป็นจริงขึ้นมาให้ได้เห็นเรื่อย ๆ 

          ซึ่งรูปแบบของมีมที่เรารู้จักหรือเห็นกันในปัจจุบัน มักจะถูกดัดแปลงมาจากต้นฉบับก่อนการเผยแพร่ออกมา ไม่ว่าจะทั้งรูปแบบล้อเลียนขำขัน เสียดสีจนเจ็บปวด หรือเอาไปใช้คนละเรื่องกับตัวออริจินอลของมีมเลยก็ว่าได้ หรือในบ้างครั้งเองมีมก็เกิดจากรูปภาพที่คนนำมาตีความหมายและนำไปใช้ในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน บนความเข้าใจร่วมกันในสังคม ๆ หนึ่ง เช่น Gavin Thomas มีมเด็กน้อยที่ไม่ว่าจะขยับท่าไหนก็ถูกนำมาใช้เป็นมีมได้ 

          หรืออย่างภาพที่เป็นที่รู้กจัก Disaster Girl ถ่ายในปี ค.ศ. 2005 ทุกคนคงจะคุ้นตาไม่น้อย ซึ่งภาพนี้ถูกนำไปขายในวงการ NFT สร้างรายได้กว่า 14 ล้านบาท

        เรียกได้ว่าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีมก็ยังคงเป็นที่ฮอตฮิตในการนำมาใช้สื่อสารกันผ่านโซเชียลมีเดียกันอย่างทั่วโลก สร้างความจดจำให้กับเอกลักษณ์ความเป็นมีมที่ให้ทุกคนได้นำไปครีเอทต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เหมาะสมได้อีกด้วย

มีม มักมีสองด้านเสมอ

          ในแง่ของความตลก เฮฮานี้เรียกได้ว่าเอาไปเลยเต็ม 100 ยิ่งถ้าใครเข้าใจตรงกันบอกเลยว่านั่งขำกันได้ทั้งวัน ไหนจะร่วมสร้างความสัมพันธ์กับผู้คนในโซเชียล หรือนับเป็นการแบ่งปันทางวัฒนธรรมเลยก็ยังได้

          ในเมื่อก่อนอาจใช้กันในแง่ของบุคคลทั่วไป แต่ทุกวันนี้ได้ถูกนำมาใช้ในแง่ของธุรกิจกันมากยิ่งขึ้น เพราะด้วยความที่เข้าถึงง่าย ผู้คนชอบ การนำมาตีตลาดทางการค้าต่าง ๆ ก็ดูจะประสบผลสำเร็จกันมากเลยทีเดียว โดยเฉพาะหากต้องการเจาะกลุ่มไปที่ผู้บริโภคแบบไหน การครีเอทมีมให้ตรงตามเป้าหมาย ก็สร้างผลสำเร็จของแบรนด์นั้น ๆ ได้เป็นอย่างดี

          แต่เหรียญมักมีสองด้านเสมอ การที่มีมถูกทำออกมาให้เข้าถึงง่ายนี้ การครีเอทในกลุ่มคนที่สร้างเฟคนิวส์หรือสอดแทรกสิ่งน่ากลัวลงไปในมีม การเข้าถึงของบางกลุ่มคนอาจไม่สามารถไตร่ตรองได้ ด้วยความที่มีมเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลในสังคมนั้น ๆ เช่น มีมที่ก่อให้เกิดความสนุกโดยใช้การบูลลี่ในการสื่อสาร ความโหดร้ายในสถานการณ์ในอดีตมาทำให้ขบขัน อีกแง่มุมหนึ่งเรื่องนี้ก็เป็นที่น่ากลัวของสังคมมีมเช่นกัน

          มีมนั้นอาจจะดูไม่มีอะไร แต่หากนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ก็สร้างมูลค่าให้ไม่มากก็น้อย ไหนจะทั้งแง่ความครีเอทีฟ การตลาด หรือแม้กระทั่งการเป็นสินทรัพย์ในวงการ NFT ถึงแม้ความหลากหลายของมีมจะมีไปตั้งแต่ไร้สาระ เฮฮา เสียดสี หรือโหดร้ายอย่างไร แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังคงเป็นสิ่งที่ทุกคนแลกเปลี่ยนผ่านการจดจำและส่งต่อกันได้อย่างไม่จบไม่สิ้น และเชื่อว่าทุกคนต้องมีมีมในดวงใจกันอยู่แน่ ๆ 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

ขอบคุณข้อมูลจาก

BBC News

Wikipedia

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube