วงจรชีวิตของมนุษย์ที่ถูกกำหนดมาให้ต้องเกิด แก่ เจ็บ ตาย และเมื่อช่วงสุดท้ายของชีวิตมาถึง หากการรักษาไม่ได้สามารถครอบคลุมชีวิตให้กลับมาเหมือนเดิมอีกครั้ง เพียงแต่มีไว้เพื่อยื้อชีวิตที่ไร้ซึ่งการใช้ออกไป ร่างกายที่ไม่มีแต่แรงที่จะสื่อสาร กลับถูกยื้อไว้ด้วยการรักษาที่ไม่ใช่ความต้องการของตนเอง
ในประเทศที่การการุณยฆาตยังไม่ถูกกฎหมายที่จะนำมาใช้ เนื่องจากปัจจัยทางสังคมมากมาย ทั้งในเรื่องของครอบครัว ศาสนา กฎหมาย การแพทย์ การตัดสินใจ และการรับผิดชอบต่อชีวิตของใครสักคนหนึ่ง การเกิดการุณยฆาตในไทย ยังคงเป็นที่ถกเถียงทางสังคม
การการุณยฆาตคืออะไร
การการุณยฆาต (Euthanasia หรือ Mercy killing) มาจากภาษากรีกคำว่า Eu + thanatos ซึ่งความหมายเดิมคือ good death คือ การตายดี ตายสงบ เป็นการยุติชีวิตโดยเจตนาเพื่อให้พ้นจากความเจ็บปวดทรมานจากความเจ็บป่วย หรือรวมไปถึงสิทธิที่จะยุติชีวิตตัวเองลงตามแนวคิดแบบทางตะวันตก
โดยสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ
- โดยสมัครใจ (voluntary) ถูกกฎหมายในบางประเทศ เช่น แคนาดา สวิตเซอร์แลนด์
- โดยไม่สมัครใจ (non-voluntary) กรณีที่ผู้ป่วยไม่ยินยอม ผิดกฎหมายในทุกประเทศ
- โดยขัดกับความประสงค์ (involuntary) ไม่ได้รับการยินยอมและไม่ใช่ความต้องการของผู้ป่วย กรณีนี้จะถือว่าป็นการฆ่าโดยสิ้นเชิง
แต่ในไทยการการุณยฆาตถือว่าเป็นการฆ่า มีความผิดตามแง่มุมของทางกฎหมาย เช่น มาตรา 288, 289, 290 เป็นต้น อีกทั้งในบริบททางสังคมไทยในแง่ของจริยธรรม ศีลธรรมของผู้คน มักมองการทำให้ผู้อื่นถึงแก่ชีวิตนั้นล้วนเป็นการผิดบาป ด้วยเหตุผลเหล่านี้การการุณยฆาตในประเทศไทย จึงยังไม่ได้รับการยอมรับนั่นเอง
หลาย ๆ ประเทศอนุญาตให้กระทำการุณยฆาตเชิงรับ (passive euthanasia) เช่น ตัดการรักษา ได้ในบางพฤติการณ์ ส่วนการุณยฆาตเชิงรุก (active euthanasia) เช่น เร่งความตาย เป็นการกระทำที่ถูกกฎหมายหรือยอมรับให้ถูกกฎหมายในไม่กี่ประเทศ ซึ่งในประเทศไทยมีสิ่งที่คล้ายกับการการุณยฆาตเชิงรับที่ไม่ได้ทำเพื่อเกิดการเร่งให้ตายไวขึ้น แต่ทำเพื่อให้เกิดการตายโดยธรรมชาติ คือ พินัยกรรมชีวิต
การเดินทางของช่วงสุดท้ายในชีวิต
เมื่อช่วงสุดท้ายของชีวิตใกล้จะมาถึง การเลือกแนวทางให้กับชีวิตตามความต้องการของเราก็เป็นของขวัญที่ดี
พินัยกรรมชีวิต (Living Will) คือ หนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์รับการักษาเพื่อยื้อชีวิต หากการรักษานั้นไม่สามารถทำให้ร่างกายกลับมาเป็นปกติหรือใช้ชีวิตได้ หากรักษาแล้วนำมาซึ่งภาวะโคม่า ฯลฯ
โดยสามารถเขียนขึ้นได้ตั้งแต่ตอนที่ยังมีสติดีอยู่เพื่อเตรียมความพร้อมต่อการตายที่จะมาถึง ไม่มีรูปแบบที่ตายตัว จะเขียนด้วยลายมือ หรือพิมพ์ขึ้นก็ได้ โดยสามารถระบุ ‘ความต้องการ’ หรือ ‘ไม่ต้องการ’ อะไรในช่วงสุดท้ายของชีวิต เช่น ต้องการที่จะรักษาจนถึงที่สุด หรือ ไม่ต้องการที่จะใส่เครื่องช่วยหายใจ หรือ ไม่ต้องการรับการรักษาที่โรงพยาบาล อยากใช้ช่วงเวลาที่เหลือกับครอบครัว เป็นต้น
การกระทำดังกล่าวถือว่าเป็นไปในทางปฏิบัติของกฎหมายมาตรา 12 ของพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ บัญญัติว่า
“มาตรา 12 บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไป เพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้…
เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขได้ปฏิบัติตามเจตนาของบุคคลตามวรรคหนึ่งแล้ว มิให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดและให้พ้นจากความรับผิดทั้งปวง”
เมื่อการการุณยฆาตยังไม่เป็นผลสำเร็จในประเทศไทย ความประสงค์ในบั้นปลายชีวิตที่ให้เราเป็นคนตัดสินพินัยกรรมชีวิตนั้นจึงสำคัญ เพื่อไม่ให้การยื้อความเจ็บปวดในร่างกาย ที่ไม่ใช่ความต้องการของเรา แต่เป็นเพียงความต้องการของเหล่าญาติ ๆ ที่ยังทำใจไม่ได้ในการที่เราต้องจากไป แต่หากทำความเข้าใจและคุยกันถึง Living Will จะกลายเป็นตัวช่วยสำคัญที่ปลอบประโลมทั้งสองฝ่าย
โดยเราสามารถเขียนขึ้นมากี่ฉบับก็ได้ หากเราเปลี่ยนใจในอนาคต สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามความต้องการ และจะถือว่าฉบับล่าสุดเป็นอันมีผล อีกทั้ง Living Will ไม่เพียงแต่เขียนความประสงค์ของเราลงไปเท่านั้น เราสามารถระบุถึงการมอบอำนาจในการตัดสินใจในช่วงท้ายของชีวิตได้อีกด้วย เช่น หากต้องการยุติการรักษา ขอให้เป็นการตัดสินใจของสามีหรือภรรยา หรือรวมไปถึง เพื่อน พี่ น้อง คู่รักต่างเพศ ทุกคนที่เราระบุไว้จะมีสิทธิตามกฎหมายโดยบุคคลอื่นที่ไม่ได้ระบุไม่มีสิทธิปฏิเสธการตัดสินใจนี้
หากญาติผู้ป่วยจะต้องการให้ยื้อชีวิตอย่างไร แต่ถ้าหากผู้ป่วยเองไม่ต้องการรักษา การปฏิบัติตาม Living will นี้จะนําไปสู่ความสามารถในการตัดสินใจรักษาของแพทย์ได้เป็นไปตามกฎหมายและความต้องการของผู้ป่วยโดยตรง
แต่ไม่ใช่ว่าการไม่ยื้อชีวิตปราศจากไปจากการดูแลรักษาตามหลักการของแพทย์ ผู้ป่วยจะได้รับการดูแลรักษาแบบประคับประคอง (Palliative Care) คือ การดูแลผู้ป่วยในระยะสุดท้าย บรรเทาอาการตลอดจนความทุกข์ต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น และเน้นไปที่องค์รวมของผู้ป่วย ทั้งทางด้านสุขภาพ จิตใจ และจิตวิญญาณ เพื่อให้ผู้ป่วยนั้นได้จากไปอย่างสงบมากที่สุด
ถ้าหากท้ายที่สุดการใส่เครื่องช่วยหายใจแต่สักวันนึงก็ต้องจากไปอยู่ดี เช่นในเคสที่ไม่ใส่เครื่องช่วยหายใจ และเสียชีวิตในวันต่อมา กับเคสที่ใส่เครื่องหัวหายใจ แต่เสียชีวิตในอีก 6 เดือนต่อมา การที่ทํา Living will เราจะสามารถปฏิเสธเครื่องช่วยหายใจนี้เพื่อรับการจากไปที่เข้ามาอย่างธรรมชาติ โดยไม่ยื้อความทรมานของร่างกายออกไป และทุกคนเองก็จะได้ทําตามความต้องการของผู้ป่วยอย่างแท้จริงด้วยเช่นกัน
ถึงแม้การุณยฆาตจะยังไม่ถูกกฎหมายในไทย แต่การยุติความเจ็บปวดทุกข์ทรมานของผู้ป่วยจากการรักษาสามารถทำได้ผ่านมาตรา 12 ของพรบ. สุขภาพแห่งชาติ ที่เอื้อต่อการใช้สิทธิของช่วงชีวิต ทั้งสิทธิในการมีชีวิตอยู่ และสิทธิที่จะตาย เป็นการยอมรับสิทธิในการเป็นเจ้าของร่างกายตนเองและมีอิสระในการตัดสินโชคชะตาได้ตามอิสระในชีวิตของมนุษย์
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews
อ้างอิงจาก