เมื่อกัญชาเริ่มได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายมากขึ้น มีข้อกฎหมายเป็นตัวกำหนดช่วยกำกับการใช้งานที่ค่อนข้างชัดเจน ทำให้ปัญหาในเรื่องของ “กฎหมาย” นั้นไม่ใช่อุปสรรคของผู้ที่ใช้กัญชาอีกต่อไป แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม เนื่องจากการเข้าถึงที่ง่ายยิ่งขึ้น สามารถหาซื้อผลิตภัณฑ์กัญชาผ่านช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ ได้ง่าย ส่วนหนึ่งทำให้ปริมาณของผู้ใช้กัญชาเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และซึ่งเป็นที่มาของปัญหาการขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้กัญชาอย่างเหมาะสม
ขณะนี้มีผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากการใช้กัญชา “โดยขาดความเข้าใจ” เพิ่มมากขึ้นในทุก ๆ วัน ถึงแม้ว่ากัญชาจะมีประโยชน์มากมายมหาศาล แต่การถูกนำไปใช้ด้วยความคึกคะนอง ขาดความรู้ความเข้าใจ ก็ส่งผลให้เกิดผลเสียที่มากพอกัน ซึ่งด้วยเหตุผลนี้จึงมีการเปิดตัว Weed Review ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยกลุ่มผู้มีความรู้เกี่ยวกับกัญชาและใส่ใจในผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการขาดความเข้าใจในกัญชาที่ถูกต้อง เพื่อมอบความรู้เกี่ยวกับกัญชาให้กับผู้ใช้กัญชาในประเทศไทย เพื่อให้สามารถใช้กัญชาได้อย่างถูกต้อง พร้อมกับช่วยให้อุตสาหกรรมกัญชาในประเทศไทยนั้นเติบโตไปในทิศทางที่เหมาะสม
ปริมาณปัญหาที่เกิดจากการใช้กัญชายังคงพุ่งสูงในประเทศไทย
หลังจากที่กัญชาได้รับการปลดล็อกเรียบร้อยแล้ว จากนโยบายของรัฐที่มุ่งเน้นให้ใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ ซึ่งสิ่งเหล่านั้นก็เป็นไปได้ด้วยดี เริ่มมีการนำกัญชาเข้ามาเป็นส่วนประกอบสำคัญ ของขั้นตอนการรักษาโรคต่าง ๆ มากขึ้น แต่สิ่งที่ทำให้กัญชาได้รับการจับตามอง คือปัญหาการใช้กัญชา “เพื่อสันทนาการ” ที่แพร่หลายมากยิ่งขึ้น จากการเข้าถึงกัญชาที่ไม่จำเป็นต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ เหมือนเมื่อก่อน ซึ่งนั่นทำให้กลายเป็นประเด็นในสังคมตามมามากมาย ว่านโยบายนี้จริง ๆ แล้วมีประโยชน์หรือโทษมากกว่ากัน
เนื่องจากการเข้าถึงที่ง่ายขึ้น ทำให้มีปริมาณกลุ่มผู้ซื้อที่มีอายุน้อยมากขึ้น มีการรายงานข่าวว่าในตอนนี้ พบเยาวชนที่หันมาใช้กัญชาเพื่อการสันทนาการเพิ่มสูงขึ้นถึง 2 เท่า ซึ่งนั่นถือว่าผิดไปจากความตั้งใจหลัก ของวัตถุประสงค์ที่ปลดล็อกกัญชาให้พ้นจากสารเสพติด ปัญหาเหล่านี้จะต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยต้องเริ่มจากการให้ความรู้ความเข้าใจกับผู้ใช้กัญชาในทุก ๆ ช่วงวัย พร้อมกับการบังคับใช้กฏหมายห้ามจำหน่ายกัญชาให้กับเยาวชนที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะอย่างเข้มงวด
ไขข้อสงสัย สรุปแล้ว “กัญชา” สามารถเสพติดได้หรือไม่ ?
ข้อสงสัยนี้กำลังเป็นที่ถกเถียงกันเป็นวงกว้างในสังคมไทย “กัญชาจริง ๆ แล้วเสพติดหรือไม่ ?” หลายคนก็อ้างว่าไม่ติด หลายคนก็อ้างว่าติด หากให้ความเป็นธรรมมากที่สุด ข้อสงสัยนี้สามารถให้คำตอบได้ว่า “เกิดอาการเสพติดได้ แต่.. เกิดขึ้นได้ยาก”
เนื่องจากมีการวิจัยในสหรัฐได้ให้ข้อมูลออกมาว่า การใช้กัญชานั้นแม้จะไม่ได้ทำให้เกิดการเสพติดเหมือนกับสารเสพติดชนิดอื่น แต่ก็ส่งผลให้ผู้ที่ใช้กัญชา เกิดอาการเสพติดขึ้นมาได้ ในอัตราส่วนคือ 9 ใน 100 คน และโอกาสเสี่ยงที่จะเสพติดนั้นจะเพิ่มสูงมากยิ่งขึ้น หากเป็นผู้ที่ใช้กัญชาในช่วงวัยรุ่น โอกาสเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 17% ในทันที จนสุดท้ายสำหรับผู้ที่ใช้กัญชาอย่างต่อเนื่องทุกวันเป็นระยะเวลานาน โอกาสที่จะเกิดการเสพติดนั้นจะพุ่งสูงถึง 50% เลยทีเดียว
จากสถิติที่กล่าวถึงไปเมื่อสักครู่ ทำให้เข้าใจได้เลยว่า ปัญหาที่แท้จริงของปัญหาการใช้กัญชา ไม่ได้เกิดจากกัญชาโดยตรง เพราะต่อให้ใช้ต่อเนื่องในทุก ๆ วัน ก็ยังมีโอกาสถึง 50% ที่จะไม่เสพติด ทำให้สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่า ที่จริงแล้วต้นตอของปัญหาคือ ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้กัญชาที่ถูกต้องนั่นเอง เพราะถ้ารู้ถึงปริมาณที่สามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัย พร้อมกับใช้เมื่ออยู่ในช่วงวัยที่เหมาะสม โอกาสที่จะเป็นผู้ป่วยจากปัญหาเสพติดกัญชา นั้นมีน้อยมากเลยทีเดียว
อาการที่พบได้บ่อยที่สุด ของผู้ที่มีอาการป่วยจากการใช้กัญชาโดยขาดความเข้าใจ
ปัญหาของกัญชานั้นไม่ใช่ตัวกัญชาเอง แต่เป็นในส่วนของสารเคมีที่อยู่ภายในกัญชา โดยจะมี 2 ชนิดหลัก ๆ คือ “THC” และ “CBD” หากให้เปรียบเทียบกันระหว่างสาร 2 ชนิดนี้ ทางด้านประโยชน์ทางการแพทย์ สารทั้งคู่นั้นจะมีประโยชน์เป็นอย่างมาก เพราะมีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการป่วยของโรคร้ายแรงได้หลายต่อหลายโรค ไม่ว่าจะเป็น ไมเกรน ลมชัก อาการปวดตามข้อ เป็นต้น
กลับกันนอกจากประโยชน์ที่มีอยู่เหลือคณานับ ในส่วนของโทษเองก็มีไม่น้อยเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะสาร THC ที่ส่งผลโดยตรงกับระบบประสาทของผู้ใช้ หากใช้ในปริมาณที่เหมาะสม จะช่วยคลายเครียด ลดอาการวิตกกังวล สร้างความผ่อนคลายให้สามารถนอนหลับได้อย่างง่ายดาย แต่ถ้าใช้เกิดความต้องการของร่างกาย จากคุณประโยชน์ จะกลายเป็นโทษในทันที ยิ่งถ้าเป็นกรณีที่ผู้ใช้เกิดความรู้สึกเสพติดแล้ว ปัญหานี้จะต้องได้รับการแก้ไขในระยะยาวเลยทีเดียว โดยอาการทั่วไปจะมีดังต่อไปนี้
– เกิดความรู้สึกว่าการใช้ชีวิตตามปกติไม่สามารถสร้างความสุขให้ตนเองได้ จะต้องได้รับสาร THC จากกัญชาเท่านั้นถึงจะมีความสุข และจะต้องใช้ในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ
– จากเดิมที่สาร THC ช่วยให้คลายเครียด จะกลับตาลปัตรทันที เมื่อไม่ได้ใช้กัญชาในปริมาณที่ต้องการ ระบบประสาทจะทำให้เกิดความเครียด วิตกกังวล สิ่งรับรู้นั้นผิดเพี้ยนไปจากเดิม
– สภาพร่างกายย่ำแย่อย่างรวดเร็ว เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้ไม่เต็มที่ ทำให้ร่างกายป่วยง่าย พร้อมกับโอกาสเกิดโรคแทรกที่จะเกิดตามมาอีกมากมาย
– สำหรับผู้ที่มีอาการหนักมาก ๆ จะทำให้มีอาการเหมือนโรคจิตเภท บ้างก็ วิตกกังวล หวาดระแวง หูแว่ว ประสาทหลอน ซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน เป็นต้น
สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบในทางลบจากการใช้กัญชาอย่างไม่เหมาะสม หรือขาดความเข้าใจที่ถูกต้องจนถึงขั้นเสพติด หากได้รับการดูแลและรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างถูกต้องก็จะสามารถหายเสพติดและกลับมาใช้ชีวิตปรกติได้ ซึ่งในประเทศไทยก็มีสถานที่ที่คอยให้ความช่วยเหลือกับผู้เสพติดกัญชาอยู่หลายแห่ง เราขอแนะนำ 3 แหล่งบำบัดและฟื้นฟูผู้ใช้กัญชา เพื่อคอยให้ความช่วยเหลือกับผู้ที่ต้องการดังนี้
1. สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี
สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี เคยเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันธัญญารักษ์ เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่เล็งเห็นความสำคัญของการบำบัด ผู้ที่มีอาการป่วยจากการใช้สารเสพติดมาตลอดระยะเวลากว่า 60 ปี สามารถรองรับผู้ป่วยได้ถึง 570 เตียง นอกจากจะมีการบำบัดเพื่อให้หลีกหนีจากการเสพสารเสพติดให้โทษ ยังมีการอบรมวิชาชีพต่าง ๆ เพื่อให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตอยู่ในสังคมอีกครั้งอีกด้วย
2. The Warmth Rehab
The Warmth Rehab เป็นองค์กรเอกชน ที่พร้อมให้ความช่วยเหลือสำหรับผู้ที่มีอาการติดยาเสพติด โดยเก็บข้อมูลการรักษาเอาไว้เป็นความลับ ด้วยบรรยากาศอันเงียบสงบ ท่ามกลางอากาศอันเย็นสบายของเมืองเชียงใหม่ ช่วยให้ผู้เข้ารักษาสามารถรักษาสมาธิให้จดจ่ออยู่กับการบำบัดได้ การรักษาสามารถเลือกได้หลายรูปแบบ มีทีมงานมากประสบการณ์ทั้งในส่วนของ แพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา ไปจนถึงนักสังคมสงเคราะห์ ที่พร้อมช่วยแก้ไขปัญหาจากต้นตอ ลดโอกาสที่จะกลับไปอยู่ในจุดเดิมอีกครั้งได้อย่างเห็นผล
3.DAY ONE REHABILITATION CENTER
DAY ONE REHABILITATION CENTER เป็นสถานบำบัดยาเสพติดในรูปแบบของการอยู่ประจำ บรรยากาศของแหล่งบำบัดนี้เปรียบเสมือนกับการอยู่ในรีสอร์ต มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน วัตถุประสงค์หลักคือการทำให้ผู้บำบัด ได้อยู่ห่างไกลจากสังคมเดิม ซึ่งมักจะเชิญชวนให้กลับไปใช้สารเสพติดอีกครั้ง โดยการบำบัดนั้นจะมุ่งเน้นไปที่การแก้ปัญหาตามแนวทางแก้ปัญหาเฉพาะบุคคล พร้อมกับมีกิจกรรมต่าง ๆ ที่ช่วยเยียวยาผู้บำบัด ให้สามารถกลับมาอยู่ภายใต้สังคมเดียวกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
บทส่งท้าย
ปัญหาของกัญชาไม่ได้รับมือยากอย่างที่หลายคนกังวล หลังจากผ่านการเลือกตั้งครั้งสำคัญของประเทศ ในวันที่ 14 พ.ค. 2566 ทิศทางของการควบคุมกัญชาอาจเปลี่ยนแปลงไป แต่ถึงอย่างไรในส่วนของการใช้เพื่อการแพทย์ นโยบายของพรรคต่าง ๆ นั้นต่างมีทิศทางไปในทางเดียวกัน ยังคงได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ แต่สำหรับการใช้เพื่อการสันทนาการ อาจต้องมีกฎเกณฑ์ของการใช้ที่เข้ามากำหนด เพื่อให้เกิดความมีระเบียบมากยิ่งขึ้น