จลาจลสโตนวอลล์ จากความรุนแรงสู่เสรีทางเพศ
หลายคนคงเคยได้ยินเกย์ไพรด์ (Gay Pride) ที่จัดขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายนของทุกปี มีขบวนพาเหรดที่สวยงามแสดงความหลากหลายทางเพศ แสดงพลังของชาว LGBT+ ออกมา จนถูกบัญญัติให้เป็น Pride Month แต่จะมีใครรู้หรือไม่ว่าจุดเริ่มต้นของ Pride Month ที่ดูสนุกสนาน มีสีสัน สร้างความคึกคัก มีที่มาอย่างไร ความสำเร็จที่หอมหวานต้องเคยผ่านความขมขื่นมาไม่น้อย ในวันนี้เราจะพาไปรู้จักกับ “เหตุจลาจลสโตนวอลล์” จุดเริ่มต้นของการเรียกร้องสิทธิ LGBT+
ความรักที่ถูกกดขี่จากสังคม
หากย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษที่ 1960s ในสหรัฐฯ การมีความรักระหว่างเพศเดียวกันยังคงเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายและขัดต่อศีลธรรมอันดีงามของสังคม อาทิ ห้ามมีความสัมพันธ์รักใคร่ระหว่างเพศเดียวกัน ห้ามแต่งกายข้ามเพศสภาพของตนเอง ห้ามจำหน่ายสุราให้ผู้ที่เป็น LGBT+ หรือต้องสงสัยว่าเป็น
เขาและเธอจึงถูกกลั่นแกล้งจากผู้คนรอบตัว ถูกเขี่ยให้กลายเป็นคนชายขอบไม่มีใครยอมรับแม้กระทั่งคนในครอบครัว หากผู้ปกครองพบว่าบุตรหลานมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศก็พร้อมที่จะขับไล่ให้พ้นจากชายคาทันที
กลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ จึงต้องอยู่กันอย่างเจียมเนื้อเจียมตัว ไม่แสดงพฤติกรรมที่บ่งบอกตัวตนออกมา ผู้ที่เป็น LGBT+ จึงต้องหาทางปลดปล่อยความเป็นตัวเองบ้างอย่างไรซึ่งกรอบทางเพศของตนเอง หวยจึงลงไปอยู่ที่บาร์”สโตนวอลล์ อิน” บาร์เพศทางเลือกแห่งเดียวในมหานครนิวยอร์คที่จำหน่ายสุราให้กับพวกเขา และสามารถแสดงความเป็นตัวเองได้อย่างเปิดเผย
ซึ่งกฎหมายในขณะนั้นจะไม่จำหน่ายสุราให้กับผู้ที่เป็นเพศทางเลือก สาเหตุที่บาร์แห่งนี้จำหน่ายสุราให้พวกเขาได้นั้น เพราะ ร้านนี้จดทะเบียนแบบ ”Bottled Bar” หรือให้แขกพกเครื่องดื่มมาเอง และมีการติดสินบนให้แก่ตำรวจ แต่ถึงกระนั้นร้านนี้ก็ยังถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษจากเหล่าเจ้าหน้าที่อยู่ดี
ฉันจะไม่ทนอีกต่อไป
แต่แล้วความขัดแย้งก็มาถึงวันที่ 28 มิถุนายน 1969 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้บุกเข้าไป และใช้พยายามในการจับกุม มีการใช้กำลังโดยการนำกระบองทุบไปที่ศีรษะของหญิงคนหนึ่งที่แต่งกายเป็นผู้ชายเพราะมีท่าทีขัดขืน ผู้คนใน สโตนวอลล์ อินน์ ต่างเห็นเหตุการณ์นั้นอย่างชัดเจน ผู้คนในร้านจึงประเคนปาสิ่งของใส่เจ้าหน้าที่ บรรยากาศในร้านเต็มไปด้วยความโกลาหล ด้วยความตกใจเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงเรียกกำลังเสริมเข้ามากว่า 500 นาย เพื่อเข้าควบคุมฝูงชน
ผู้ที่เป็น LGBTQ+ ตอบโต้ใช้กำลังต่อสู้กับเจ้าหน้าที่เพื่อ “สโตนวอลล์ อิน” บาร์ที่เล็ก ๆ ที่เปรียบเสมือนโลกทั้งใบสำหรับพวกเขา ความเดือดดาลที่ถูกสะสมได้ปะทุออกมา ความอดทนที่ถูกกดทับขับไล่จากสังคมเพียงเพราะ ”เพศวิถี” ต่างจากผู้อื่น เหตุจลาจลนี้จึงกินเวลาไปถึง 5 วัน กว่าเหตุการณ์จะสงบ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้มาตรการปราบปรามอย่างหนักหน่วง มีชาว LGBTQ+ บาดเจ็บและถูกจับกุมเป็นจำนวนมาก แต่โชคยังดีที่เหตุการณ์ครั้งนี้ไม่มีผู้เสียชีวิต
จากความรุนแรงสู่เสรีทางเพศเสียงตะโกนแห่งความภูมิใจ
ผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ทำให้มีผู้คนสนใจถึงประเด็น LGBT+ มากขึ้น อาจไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนักแต่ก็เริ่มมีการตั้งคำถามว่า เพียงเพราะวิถีทางเพศที่พวกเขาหรือเธอเลือกนั้นไม่เหมือนผู้อื่นมันผิดขนาดนั้นเลยหรือ มีองค์กรจัดตั้งขึ้นและสนับสนุนมากมายหลังเกิดเหตุการณ์นี้ เช่น Gay Liberation Front, Human Rights Campaign, GLAAD, และ PFLAG
หลังจากครบรอบหนึ่งปี วันที่ 28 มิถุนายน 1970 มีการเดินขบวนพาเหรดใหญ่เพื่อรำลึกถึงเหตุจลาจลเมื่อ 1 ปีก่อน โดยมีผู้คนเข้าร่วมนับพันในขบวน บนถนนแมนฮัตตัน จากบาร์ สโตนวอลล์ อิน ไปยังเซนทรัลปาร์คนิวยอร์กพร้อมตะโกนคำว่า “Say it loud, Gay is proud”(ตะโกนออกมา เกย์คือความภูมิใจ)จนเมื่อปี 2019 ได้มีแถลงคำขอโทษจากเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งใช้เวลาถึง 50 ปี กว่าที่ชาว LGBT+ จะได้รับคำขอโทษจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ
กิจกรรมนี้ถือได้ว่าเป็นขบวนพาเหรด Gay Pride ครั้งแรกในสหรัฐ และแพร่ขยายไปทั่วโลก จัดกิจกรรมนี้เป็นประจำทุกปี ต่อมาเดือนมิถุนายนจึงถูกบัญญัติว่าเป็น Pride Month นี่จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีของมนุษยชนให้เกิดเเรงกระเพื่อมจนถึงปัจจุบันเหมือน “อิสรภาพที่หอมหวานต้องแลกไปด้วยความพยายามอันขมขื่น Say it lound, Gay is pround”
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews
ขอบคุณข้อมูล