ปัจจุบันจะเห็นได้ว่ารสนิยมทางเพศไม่ใช่เรื่องผิดอีกต่อไป จากการที่มีสื่อบันเทิงไม่ว่าจะเป็น ซีรีส์ หรือภาพยนตร์ที่มีการนำเสนอเรื่องราวความรักที่เปิดกว้างมากขึ้น ตัวอย่างที่หลายคนคุ้นเคยและรู้จักกันดี เช่น ซีรีส์วาย ที่ได้รับความนิยมจากผู้ชมเป็นจำนวนมากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่น ซีรีส์เพราะเราคู่กัน ที่นำแสดงโดยไบรท์ วชิรวิชญ์ และ วิน เมธวิน ที่กระแสโด่งดังจนนักแสดงนำมีฐานแฟนคลับจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก
เมื่อความหลากหลายทางเพศถูกเปิดกว้างขึ้น จึงนำไปสู่การสมรสเท่าเทียม ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกถกเถียงกันในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพราะถึงแม้ว่าความหลากหลายทางเพศจะได้รับการยอมรับจากคนในสังคม แต่ในประเทศไทยกลับยังไม่มีการอนุญาตให้บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศสามารถสมรสกันได้ แตกต่างจากต่างประเทศที่อนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถสมรสกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
สมรสเท่าเทียม คืออะไร?
การสมรสเท่าเทียม เป็นแนวคิดที่บุคคลหนึ่งต้องการจะสร้างครอบครัวหรือมีคู่ชีวิต โดยได้รับสิทธิตามกฎหมายอย่างไม่มีข้อจำกัดในเรื่องเพศ ไม่ว่าจะเป็นเพศใดเมื่อสมรสกันก็จะต้องได้รับสิทธิต่าง ๆ อย่างเท่าเทียม เช่น
- สิทธิในการหมั้น
- สิทธิจดทะเบียนสมรส
- สิทธิจัดการทรัพย์สินของคู่สมรส
- สิทธิเป็นผู้จัดการแทนในทางอาญา
- สิทธิรับมรดกหากอีกฝ่ายเสียชีวิต
- สิทธิรับบุตรบุญธรรม
- สิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม
- สิทธิเซ็นยินยอมให้รักษาพยาบาลอีกฝ่าย
- สิทธิจัดการศพ
รวมถึงสวัสดิการต่าง ๆ จากภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นประกันสังคม ตลอดจนสิทธิเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล ซึ่งสิทธิเหล่านี้จะทำให้สิทธิของบุคคลทุกเพศเกิดความเท่าเทียม และได้รับการรับรองในแง่ของกฎหมายอีกด้วย
จุดเริ่มต้นของการสมรสเท่าเทียมในประเทศไทย
สมรสเท่าเทียม เริ่มต้นจากการที่คู่รักเพศเดียวกันเดินทางไปจดทะเบียนสมรส แต่กลับถูกปฏิเสธและไม่ได้รับการจดทะเบียน เนื่องจากตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ระบุว่า การสมรสจะทำได้ระหว่างชายและหญิงเท่านั้น จากเหตุการณ์ดังกล่าวจึงก่อให้เกิดการขับเคลื่อนของกลุ่มคนที่พยายามบอกกับสังคมว่ากฎหมายเกี่ยวกับการสมรสในปัจจุบันเป็นการเลือกปฏิบัติ และเป็นการปิดกั้นทางเพศ จนเกิดเป็นกระแสสมรสเท่าเทียมบนโลกโซเชียลกันเป็นจำนวนมาก และมีการผลักดันกฎหมายอย่างจริงจัง
การสมรสเท่าเทียมถูกกล่าวถึงมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่สมัยนายกรัฐมนตีหญิงยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยมีไทม์ไลน์ ดังนี้
- เดือนสิงหาคม ปี 2555 เริ่มต้นการรณรงค์สมรสเท่าเทียม เรื่องเริ่มจากที่ นที ธีระโรจนพงษ์ และอรรถพล จันทวี เดินทางไปยังที่ว่าการอำเภอเมืองเชียงใหม่เพื่อขอจดทะเบียนสมรส แต่กลับถูกปฏิเสธ เนื่องจากพวกเขาไม่ใช่คู่รักชายหญิง ทั้งคู่จึงจึงมีการร้องเรียนไปยังสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
- ปี 2556 ร่างพ.ร.บ. “คู่ชีวิต” ฉบับแรกเสร็จสิ้น แต่ความคิดเห็นกลับแตกเป็นสองฝ่าย มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ผนวกกับสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงเกิดการรัฐประหาร พ.ศ.2557 ร่างฉบับนี้จึงไม่ได้เข้าสภาฯ และตกไปอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานภาครัฐ คือ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพแทน
- 18 มิถุนายน 2563 ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล เสนอ ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือ ป.พ.พ. ต่อสภาผู้แทนราษฎร ในชื่อร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม
- 8 กรกฎาคม 2563 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต และร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ครั้งแรก
- 17 พฤศจิกายน 2564 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย สมรสได้แค่ชายหญิงเท่านั้น
- 28 พฤศจิกายน 2564 กลุ่ม “ภาคีสีรุ้งเพื่อการสมรสเท่าเทียม” เปิดให้เข้าชื่อนำเสนอร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมภาคประชาชน
- 9 กุมภาพันธ์ 2565 ร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม และ ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต เข้าสภาวาระที่ 1 แต่สภามีมติส่งให้คณะรัฐมนตรีศึกษาก่อน 60 วัน
- 29 มีนาคม 2565 คณะรัฐมนตรีมีมติไม่รับร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม
- 7 มิถุนายน 2565 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตหลังมีการแก้ไข และไฟเขียวส่งเข้าสภาฯ
- 16 มิถุนายน 2565 สภาฯ ผ่านร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม และ ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต วาระ 1
- 21 พฤศจิกายน 2565 บรรจุเข้าพิจารณาวาระ 2 และวาระ 3 ในสภา
อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามกันต่อไป และถ้าหากพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมได้รับเสียงสนับสนุนจากสภาฯ เกินครึ่งผู้จดทะเบียนสมรสภายใต้ พ.ร.บ.ฉบับนี้จะมีสถานะเฉกเช่น “คู่สมรส” ซึ่ง
ผลที่จะเกิดขึ้นหากเกิดการสมรสเท่าเทียมในประเทศไทย
ในแง่ของข้อดี การสมรสเท่าเทียมจะเป็นการปลดล็อคสิทธิต่าง ๆ ให้แก่บุคคลในแง่ของกฎหมาย ทำให้ได้รับความเท่าเทียม และได้รับสิทธิต่าง ๆ อย่างที่ควรจะเป็น อีกทั้งหากว่าประชาชนเข้าถึงสิทธิได้มากขึ้น เศรษฐกิจก็จะดีขึ้นตามมาด้วย ก่อให้เกิดธุรกิจใหม่ ๆ นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะได้รับความไว้วางใจในการร่วมหุ้นลงทุนกับต่างประเทศ เพราะต่างประเทศจะมองว่าประเทศไทยได้ตระหนักรู้ถึงสิทธิและตัวตนของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศอย่างแท้จริง
จากสถิติของประเทศที่อนุญาตให้มีการสมรสเท่าเทียม พบว่าก่อให้เกิดผลบวกในแง่ของสภาพจิตใจ เนื่องจากความเครียดลดลง อัตราการเกิดโรคติดต่อยังลดลง อีกทั้งสถิติเด็กกำพร้าก็จะลดลงจากการรับบุตรบุญธรรมอีกด้วย
นอกจากนี้ยังเกิดการต่อยอดธุรกิจของคู่รักเพศเดียวกัน ทำให้เกิดสินค้าหรือบริการที่มีการคำนึงถึงกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบชุดวิวาห์ การให้คำปรึกษาหรือวางแผนครอบครัวสำหรับคู่รักเพศเดียวกัน
สำหรับข้อเสียของการสมรสเท่าเทียม อาทิเช่น ใครจะได้รับผลกระทบจากกฎหมายดังกล่าว หรือใครจะเป็นผู้เสียประโยชน์ คำถามเหล่านี้อาจยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนนัก อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าแม้ว่าในปัจจุบันจะมีผู้ที่เห็นด้วยและเปิดกว้างทางเพศ แต่ก็ยังมีผู้คนอีกจำนวนไม่น้อย ที่มองว่า LGBTQIA+ เป็นสิ่งที่ผิดศีลธรรม ไม่เป็นที่ยอมรับในแง่ของศาสนา ซึ่งกรอบความคิดเหล่านี้ส่งผลให้ LGBTQIA+ ถูกมองในแง่ลบ
สรุป
ในปัจจุบันบุคคลที่มีชื่อเสียงในประเทศไทยหลายคนที่เป็นเพศทางเลือก มีการตัดสินใจที่จะเดินทางไปจดทะเบียนสมรสที่ต่างประเทศอย่างถูกกฎหมาย อย่างไรก็ตาม สำหรับบุคคลทั่วไปที่ไม่มีทุนทรัพย์มากเพียงพอที่จะบินไปจดทะเบียนสมรสต่างประเทศ ก็จำเป็นจะต้องใช้ชีวิตต่อไปโดยไม่ได้รับสิทธิใด ๆ ต่อไป ดังนั้นจึงเกิดการผลักดันให้เกิดการสมรสเท่าเทียมอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากผู้คนในสังคมที่ไม่ใช่ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่เห็นด้วยกับความเหลื่อมล้ำดังกล่าวอีกด้วย
ดังนั้น สมรสเท่าเทียม จึงเป็นกฎหมายที่จะก่อให้เกิดความเท่าเทียมในสังคมมากยิ่งขึ้น ทั้งในแง่ของกฎหมายและในแง่ของสิทธิมนุษยชน เพราะทุกคนเป็นมนุษย์เหมือนกัน เราจึงควรที่จะเปิดใจยอมรับในความเป็นมนุษย์ของกันและกัน ปฏิบัติอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นเพศใดก็ตาม
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews
ขอบคุณที่มา