ทำไมใส่แมสก์แล้วมีกลิ่นปาก หนึ่งในสิ่งที่หลายคนอาจจะตกใจ ว่า เฮ้ย! ปกติเราไม่ได้กลิ่นปาก(Bad breath)สักหน่อย ทำไมใส่แมสก์หรือหน้ากากอนามัยแล้วมีกลิ่นขึ้นมาทุกทีเลย ข่าวดีคือคุณไม่ได้เป็นคนเดียว ทุกคนมีกลิ่นปากอยู่แล้วตลอดเวลา
คนเรามีกลิ่นปากตลอดเวลา
ใช่แล้ว คนเราทุกคนมีกลิ่นปากอยู่ตลอดเวลา แต่กลิ่นอาจจจะเบาหรือน้อยมากจนเราและคนรอบข้างไม่ได้กลิ่น แต่เมื่อใส่แมสก์แล้วทำให้กลิ่นไม่ได้ระบายออกวนเวียนอยู่ในแมสก์จึงทำให้เราสังเกตและได้กลิ่นขึ้นมา
ถ้าเช่นนั้นแล้วจะทำยังไงดี เพราะแมสก์หรือหน้ากากอนามัยคงต้องอยู่กับเราไปอีกนาน เราทุกคนคงไม่อยากมีกลิ่นปากเป็นแน่
กลิ่นปากมาจากไหน
ก่อนที่จะกำจัดอย่างไร เราต้องมารู้ว่ากลิ่นปากมาจากไหนก่อน เข้าใจง่ายที่สุดคือกลิ่นปากอย่างแรกมาจากแบคทีเรียในปาก ซึ่งมักเพิ่มจำนวนตอนที่เราหลับ อย่างที่สองคือสิ่งที่เรารับประทานเข้าไป ให้เห็นภาพที่สุดนึกถึงเวลาที่เราหรือใครสักคนรับประทานกระเทียมหรือหัวหอม รับรองว่าเราได้กลิ่นแน่นอน สุดท้ายคือปัญหาเรื่องสุขภาพกลิ่นปากมาจากฟันผุ อาการของโรคบางชนิด มีตัวเลขรายงานว่ากว่า 60 ล้านคนทั่วโลกมีปัญหาเรื่องกลิ่นปากเรื้อรัง
หากแยกออกมาละเอียดหน่อยสามารถแยกได้สัก 9 เหตุผลเลยทีเดียว
- แปรงฟันไม่ถูก
- รับประทานหรือดื่มของที่มีกลิ่น เช่น กาแฟ กระเทียม หัวหอม ปลา เครื่องเทศ
- ทานขนมหรือของหวานมากเกินไป ของพวกนี้ทำให้เกิดแบคทีเรียในปากได้ง่าย โดยเฉพาะพวกคาราเมลที่มักติดอยู่ที่ฟัน
- รับประทานอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตน้อย ทำให้ร่างกายเข้าสู่ภาวะคีโต
- หายใจทางปาก เวลาเรานอนหลับ การนอนกรน ภูมิแพ้ หรืออะไรก็ตามที่ทำให้เราต้องหายใจทางปาก ทำให้ปากเรามีกลิ่นได้ เนื่องจากปากเราจะแห้ง เรียกว่า Xerostomia
- ยาบางชนิดที่ส่งผลทำให้ปากแห้ง
- สูบบุหรี่หรือเคี้ยวพวกยาสูบ
- ดื่มแอลกอฮอล์
- โรคประจำตัว เช่น กรดไหลย้อนก็สามารถทำให้เรามีกลิ่นปากได้
กำจัดกลิ่นปาก
หลังจากรู้ที่มากันไปแล้ว ต่อไปคือการกำจัดปัญหากลิ่นปากให้หมดไปหรือน้อยลงเพื่อความมั่นใจมากขึ้น
- แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง
- แปรงบริเวณลิ้น กระพุ้งแก้ม เหงือก
- บ้วนน้ำยาบ้วนปากหลังแปรงฟัน ช่วยลดแบคทีเรียตอนเรานอนได้
- ใช้ไหมขัดฟันเพื่อลดโอกาสเติบโตของแบคทีเรียที่อยู่ระหว่างซอกฟัน
- ดื่มน้ำเปล่าก่อนนอนเพื่อลดความแห้งของปาก
- ขูดหินปูน ตรวจสุขภาพช่องปาก
สรุปไม่ว่าเราจะใส่แมสก์หรือหน้ากากอนามัยหรือไม่ ทุกคนก็มีกลิ่นปากอยู่ดี จะมากจะน้อยขึ้นอยู่ปัจจัยส่วนบุคคล สำคัญที่สุดคือการดูแลรักษาความสะอาดของช่องปากเราเสมอ หากทำแล้วไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์ที่เกี่ยวข้อง
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
ขอขอบคุณข้อมูลจาก