สามเหลี่ยมเบอร์มิวดา สามเหลี่ยมปีศาจกับอาถรรพ์แห่งท้องทะเล
ถ้าจะพูดถึงเรื่องลี้ลับที่ถูกกล่าวถึงมาอย่างยาวนาน หนึ่งในนั้นต้องมีเรื่องของสามเหลี่ยมเบอร์มิวดาอย่างแน่นอน สามเหลี่ยมเบอร์มิวดา เป็นเรื่องราวของสามเหลี่ยมปีศาจที่มักจะได้ยินกันตั้งแต่เด็ก ๆ ว่ากันว่า เรือเดินสมุทร ตลอดจนเครื่องบิน ที่ผ่านไปยังดินแดนแห่งนี้ก็จะหายสาบสูญหรืออับปางราวกับโดนอาถรรพ์บางอย่าง
ความพิศวงของมันทำให้ผู้คนเอาไปเล่าต่อกันจนเกิดเป็นตำนานขึ้นมา อีกทั้งยังถูกนำไปทำเป็นหนังหลายต่อหลายเรื่อง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้คนจะเกิดคำถาม และนักวิทยาศาสตร์ต่างก็ตั้งทฤษฎีสมคบคิดขึ้นมามากมาย แต่สุดท้ายแล้วอะไรคือคำตอบที่แท้จริงสำหรับปริศนานี้กันแน่
ในวันนี้ เราจะมาร่วมไขปริศนาของสามเหลี่ยมปีศาจไปพร้อม ๆ กัน
สามเหลี่ยมเบอร์มิวดา คืออะไร?
ก่อนอื่นเราคงจะต้องทำความรู้จักกับมันก่อน สามเหลี่ยมเบอร์มิวดา คือชื่อเรียกของอาณาเขตที่สมมุติขึ้นมาในมหาสมุทรแอตแลนติก ซึ่งถ้าหากลากเส้นเป็นจุดสามจุดเชื่อมต่อกัน ตั้งแต่ตะวันตกของมหาสมุทรแอตแลนติก ไปถึงตอนใต้ของฟลอริดา และเปอร์โตริโก ทั้งสามตำแหน่งก็จะเชื่อมต่อกันจนเป็นรูปสามเหลี่ยมแบบพอดิบพอดี เนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 1.2 กิโลเมตร อย่างไรก็ตามพื้นที่ของมันไม่มีความชัดเจน และแตกต่างกันไปตามแหล่งเรื่องเล่า
ภายในบริเวณนี้เอง เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีการเดินเรือสินค้าและพาณิชย์ต่าง ๆ อย่างหนาแน่นมากที่สุดในโลก แต่ก็มีการหายสาบสูญอย่างผิดปกติของทั้งเรือและเครื่องบินที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน ซึ่งทำให้เกิดเป็นปริศนาขึ้นมา และจากเรื่องเล่าที่เล่ากันปากต่อปาก ทำให้สามเหลี่ยมเบอร์มิวดาถูกเรียกว่า “สามเหลี่ยมปีศาจ”
สามเหลี่ยมปีศาจ
จุดเริ่มต้นของมันเริ่มขึ้นเมื่อ ค.ศ.1945 ภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยปรากฏรายงานการหายสาบสูญอย่างผิดปกติในพื้นที่เบอร์มิวดาอย่างมากมาย เครื่องบินจำนวน 100 กว่าลำ ทั้งยังเรือจำนวนนับไม่ถ้วน ผู้คนบนเที่ยวบินและเรือเหล่านั้นเองก็หายสาบสูญไปพร้อมกัน โดยไม่เหลือร่องรอยใด ๆ ไม่มีแม้แต่เศษซากหรือชิ้นส่วนของเรือและเครื่องบินเหล่านั้น
ยิ่งเวลาผ่านไป การหายสาบสูญก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ประเทศที่เกี่ยวข้องต่างก็ร่วมกันค้นหาคำตอบ แต่ก็ไม่สามารถหาสาเหตุ หรือหาวิธีป้องกันจากภัยลึกลับที่เกิดขึ้นได้
สิ่งที่น่าแปลกคือก่อนที่จะขาดการติดต่อจากฐานปฏิบัติการ ทุกอย่างจะดำเนินไปอย่างปกติ ไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศ ทัศนวิสัยที่เงียบสงบ ไม่มีวี่แววของพายุ แต่แล้วเมื่อถึงเวลาทั้งเรือและเครื่องบินเหล่านั้นต่างก็อันตรธานหายไป โดยไม่มีโอกาสได้แจ้งข่าว หรือให้ข้อมูลใด ๆ กลับมาเลย
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีบางครั้งที่นักบินมีโอกาสแจ้งข่าวผิดปกติกลับมายังฐานปฏิบัติการ ซึ่งทุกรายต่างก็แจ้งตรงกันว่าไม่สามารถควบคุมกลไกต่าง ๆ ได้ เข็มทิศประจำเครื่องจะหมุนไปมาจนไม่สามารถบอกทิศทางได้ ท้องฟ้าจะกลายเป็นสีเหลือง มองดูคล้ายหมอกหนาทึบ ทั้งที่ก่อนหน้านี้อากาศแจ่มใสและไม่มีวี่แววของพายุ ท้องทะเลที่เคยเงียบสงบ กลับปั่นป่วนขึ้นมาอย่างฉับพลัน สิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นอย่างไม่มีสาเหตุ เป็นเหตุการณ์ลึกลับที่ไม่สามารถหาคำตอบได้
ทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้น กองทัพเรือสหรัฐก็จะออกตรวจสอบและค้นหาร่องรอยอย่างละเอียด แต่ก็ล้มเหลวทุกครั้ง เพราะไม่พบร่องรอยหรือหลักฐานที่จะนำไปสู่การไขปริศนาได้เลยแม้แต่ครั้งเดียว
สำหรับเหตุการณ์ที่โด่งดังที่สุด ก็คงหนีไม่พ้นเหตุการณ์ “การหายสาบสูญของฝูงบิน 19” ซึ่งเป็นฝูงบินของสหรัฐที่หายสาบสูญพร้อมกันทั้งฝูง ประกอบด้วยเครื่องบินทิ้งระเบิดทีบีเอ็ม อแวงเกอร์ห้าลำ ซึ่งอยู่ในระหว่างการฝึกบิน พร้อมกับชีวิตนักบินและพลเรือนประจำเครื่องรวม 14 นาย ในบริเวณสามเหลี่ยมเบอร์มิวดา
เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 1945 นิตยสารอเมริกันลีเจียน ฉบับประจำเดือนเมษายน ค.ศ.1962 ตีพิมพ์ว่าก่อนการหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย ผู้บังคับฝูงบินได้กล่าวว่า “เรากำลังเข้าสู่เขตน้ำขาว ไม่มีอะไรดูปกติเลย เราไม่รู้ว่าเราอยู่ที่ไหน น้ำทะเลเป็นสีเขียว ไม่ใช่สีขาว”
สอดคล้องกับลักษณะการหายสาบสูญของเครื่องบินส่วนใหญ่ ที่ส่วนมากก่อนจะขาดการติดต่อกับฐานปฏิบัติการ จะรายงานถึงสภาพทุกอย่างที่ปกติ บรรยากาศ และทัศนวิสัย สงบแจ่มใสดี ไม่มีวี่แววของพายุ หลังจากนั้นก็จะหายไปแบบฉับพลัน ไม่มีแม้แต่การส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ SOS
ท้ายที่สุด แม้ว่ากองทัพเรือสหรัฐ จะเก็บเรื่องเหล่านี้ไว้เป็นความลับ ไม่ยอมเปิดเผยหรือให้คำตอบใด ๆ แก่ประชาชนที่อยากรู้อยากเห็น แต่ประชาชนทั่วไปก็เริ่มระแคะระคาย และเชื่อว่ากันว่าจะต้องมี แรงอาถรรพ์ หรือพลังอำนาจอันลึกลับอย่างหนึ่งอย่างใด ภายในบริเวณสามเหลี่ยมเบอร์มิวดาจนทำให้เกิดเป็นเรื่องเล่าขาน และตำนานขึ้นมา ส่งผลให้นักวิทยาศาสตร์จำเป็นจะต้องหาคำตอบ ด้วยการตั้งทฤษฎีต่าง ๆ ขึ้นมา
ทฤษฎีเกี่ยวกับสามเหลี่ยมเบอร์มิวดา
จากเหตุการณ์ปริศนาที่เกิดขึ้น นักวิทยาศาสตร์ต่างก็มีการถกเถียงและตั้งทฤษฎีขึ้นมา ซึ่งก็มีทั้งทฤษฎีที่มีความเป็นไปได้ และเป็นไปไม่ได้ รวมถึงทฤษฎีที่น่าเหลือเชื่อ หรือหลุดโลกจนเกินไป ซึ่งสามารถรวบรวมมาได้ ดังนี้
- ทฤษฎีการแปรผันของสนามแม่เหล็กโลก
สำหรับทฤษฎีแรก เป็นทฤษฎีที่เชื่อกันว่าเครื่องบินอาจถูกดูดโดยแรงดึงดูดของสนามแม่เหล็กไฟฟ้าหรือแรงโน้มถ่วงโลก จนพุ่งดิ่งลงสู่ทะเล กล่าวคือบริเวณสามเหลี่ยมเบอร์มิวดาเป็นบริเวณที่สนามแม่เหล็กมีความเข้มข้นสูง ทำให้เกิดการผิดพลาดในการทำงานของเครื่องวัดระดับ และเข็มทิศประจำเครื่อง เครื่องบินจึงถูกดูดกลืนหายไปอย่างรวดเร็ว
- ทฤษฎีประตูมิติ
ทฤษฎีถัดมา อาจฟังดูน่าเหลือเชื่อ แต่ก็มีผู้ที่เชื่อในทฤษฎีนี้ไม่น้อย นั่นคือสามเหลี่ยมเบอร์มิวดาตั้งอยู่ในจุดสมดุลของสนามแม่เหล็กไฟฟ้า กับพลังของสนามแรงโน้มถ่วง ซึ่งทำให้เกิดช่องว่างที่เชื่อมต่อกับอีกมิติหนึ่งในห้วงเวลาอวกาศ เมื่อวัตถุหลุดผ่านเข้าไปอีกมิติแล้ว จะไม่สามารถกลับมาได้อีก
- ทฤษฎีมนุษย์ต่างดาวและเทคโนโลยีชั้นสูง
สำหรับทฤษฎีนี้ก็มีความน่าเหลือเชื่อไม่แพ้ทฤษฎีก่อนหน้านี้ เพราะผู้คนเชื่อกันว่า อาจมีมนุษย์ต่างดาวหรือมนุษย์ที่อาศัยอยู่ใต้มหาสมุทรบริเวณนั้นต้องการขโมยเรือหรือเครื่องบิน และสิ่งมีชีวิตลงไปใต้มหาสมุทรเพื่อศึกษาหรือทดลองบางอย่าง ซึ่งข้อสันนิษฐานนี้สอดคล้องกับรายงานที่ว่า มีผู้พบเห็นจานบินลึกลับร่อนไปมาเหนือสามเหลี่ยมเบอร์มิวดาอยู่หลายครั้ง แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานยืนยันอย่างชัดเจน
- ทฤษฎีกระแสน้ำวน
ทฤษฎีนี้เป็นทฤษฎีที่มีความเป็นไปได้พอสมควร จากการที่นักประดาน้ำมักจะพบ “ปล่องน้ำเงิน” อยู่ตามหุบผาใต้น้ำ รวมถึงแหล่งหินปะการังในท้องทะเล ปล่องเหล่านี้เกิดจากถ้ำหินประการังถูกกัดกร่อนด้วยกระแสน้ำใต้ทะเลมาเป็นเวลานับหมื่นปี
ปล่องจำนวนมากต่างมีทางแยกออกไปในหลายทิศทาง มีกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยว ทำให้น้ำบริเวณปากปล่องไหลวนเข้าไปภายในอย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดการหมุนเป็นกรวยเหนือพื้นน้ำในลักษณะของวังน้ำวน ซึ่งสามารถจะดึงดูดเรือพร้อมด้วยคนบนเรือลงอย่างรวดเร็ว
- ทฤษฎีก๊าซมีเทน
นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโมนาช กรุงเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย รายงานว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มีก๊าซมีเธนอยู่ใต้ท้องทะเลเป็นจำนวนมาก จนปะทุขึ้นเหนือท้องทะเล ซึ่งก๊าซมีเทนนี้ เมื่อขยายตัวเป็นวงกว้างแล้ว ไม่ว่าวัตถุใด ๆ เคลื่อนที่ผ่าน มันก็จะดูดกลืนทุกสิ่งทุกอย่างให้จมลงสู่ห้วงทะเลลึกอย่างรวดเร็ว
จากทฤษฎีที่กล่าวมาทั้งหมด ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา ทฤษฎีที่ได้รับการยอมรับ และน่าเชื่อถือมากที่สุด คือทฤษฎีก๊าซมีเทน อย่างไรก็ตาม หลังจากเวลาผ่านไป ในปี 2566 นักวิทยาศาสตร์ชาวออสเตรเลียก็ได้ออกมาประกาศว่าเขาสามารถไขปริศนาสามเหลี่ยมเบอร์มิวดาได้แล้ว
ปริศนาที่ถูกคลี่คลาย?
ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 The Mirror รายงานว่าคาร์ล ครุสเซลนิค นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ออสเตรเลีย อ้างว่าเขาได้ไขปริศนานี้สำเร็จแล้ว และมันไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งเหนือธรรมชาติแต่อย่างใด
โดยคาร์ลเชื่อว่าการหายตัวไปของเครื่องบินและเรือไม่มีอะไรไปมากกว่าสภาพอากาศที่เลวร้ายและความผิดพลาดของมนุษย์ พร้อมเสริมว่า จากข้อมูลของ Lloyd’s of London และ U.S. Coast Guard จำนวนเรือและอากาศยานที่หายไปในสามเหลี่ยมเบอร์มิวดาแทบจะไม่ต่างจากที่อื่น ๆ ของโลกหากคิดเป็นเปอร์เซ็นต์
คาร์ลได้ยกตัวอย่างฝูงบิน 19 ที่หายไปอย่างเป็นปริศนา เขามองว่าการหายตัวไปของฝูงบินดังกล่าวมีแนวโน้มว่าจะเกิดจากคลื่นที่สูง 15 เมตรกระทบมหาสมุทรแอตแลนติกในวันนั้น โดยเสริมว่านักบินที่มีประสบการณ์ในเครื่องบินลำนั้นมีเพียงคนเดียวคือร้อยโทชาร์ลส์ เทย์เลอร์ ซึ่งความผิดพลาดของมนุษย์อาจมีส่วนในโศกนาฏกรรมนี้เช่นกัน ไม่เกี่ยวกับความเป็นพื้นที่อาถรรพ์ ไม่เกี่ยวกับมนุษย์ต่างดาวลักพาตัว หรือความลึกลับใด ๆ แห่งท้องทะเลเลยแม้แต่น้อย
สรุป
แม้ว่านักวิทยาศาสตร์จะมีการออกมายืนยันว่าสามเหลี่ยมเบอร์มิวดาไม่มีอยู่จริง และสามารถอธิบายได้ด้วยวิทยาศาสตร์ แต่ก็ยังมีผู้คนอีกไม่น้อยที่เชื่อว่าปริศนาสามเหลี่ยมเบอร์มิวดายังไม่ถูกคลี่คลาย ทั้งยังปักใจเชื่อในทฤษฎีของตัวเอง จนทำให้เรื่องราวของสามเหลี่ยมเบอร์มิวดา เป็นข้อถกเถียงที่ไม่มีจุดสิ้นสุด เรื่องราวของมันถูกปรับเปลี่ยนไปตามแต่ความเชื่อของบุคคล
อย่างไรก็ตาม ยังมีความจริงอีกข้อหนึ่งที่เราต้องไม่ลืม นั่นคือมนุษย์เพิ่งจะสำรวจมหาสมุทรไปได้เพียง 5-7% เท่านั้น ยังมีปริศนาอีกมากมายภายใต้ท้องทะเลที่รอให้มนุษย์เข้าไปค้นหาคำตอบ ในอนาคตหากว่าเทคโนโลยีก้าวหน้าถึงขั้นที่มนุษย์สามารถสำรวจมหาสมุทรได้ทั้งหมด เราก็คงจะสามารถคลายข้อสงสัยทั้งหมดได้
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews
ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก