หาวเกิดจากอะไร ทำไมเห็นคนอื่นหาวเราต้องหาวตาม หลายคนอาจจะเคยอ่านข้อมูลเจอว่า เราหาวเวลาง่วงนอน เวลาเหนื่อย หรือเกิดจากการที่สมองไม่ได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอเลยหาวเพื่อเอาอากาศเข้าไป การศึกษาและการสังเกตพบว่าเหตุผลที่เราหาวอาจจะไม่ได้เป็นเช่นนั้น
ทำไมเราถึงหาว?
อาการหาว คืออาการที่เราไม่สามารถควบคุมมันได้ ไม่ว่าจะคนหรือสัตว์ก็มีการหาวทั้งนั้น ทฤษฎีที่พูดถึงและยอมรับกันมากที่สุดคือการที่สมองมีออกซิเจนไม่พอ ร่างกายเลยต้องเอาออกซิเจนเข้าไปมากขึ้น แต่ทฤษฎีนี้ถูกยกมาเป็นประเด็นหลายครั้งว่าอาจจะไม่ถูกต้องไปซะหมด มันน่าจะเกี่ยวกับเรื่องอุณหภูมิมากกว่า
การศึกษาและทฤษฎีที่ดูจะมีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์มากที่สุดคือ การหาวคือการควบคุมอุณหภูมิของสมอง ในช่วงประมาณปี 2014 วารสาร Physiology&Behavior ได้ศึกษาพฤติกรรมการหาวของคนจำนวน 120 คน ผลที่น่าสนใจพบว่า หากสมองมีอุณหภูมิสูงกว่าปกติการหายใจเข้านั้นทำให้สมองเย็นลง ซึ่งร่างกายจะพยายามคุมอุณหภูมิของสมองอยู่เสมอ ผลเลยชี้ว่าช่วงฤดูหนาวคนเราจะหาวน้อยลง
อุณหภูมิของสมองยังอาจจะเกี่ยวข้องกับอาการอื่นอีกด้วยเช่น อาการเหนื่อยทำให้สมองทำงานช้าลง อุณหภูมิสมองก็ลดลงตามไปด้วย อาการเบื่อสมองไม่ได้ตื่นตัวทำให้อุณหภูมิลดลง
ทฤษฏีอื่นๆที่น่าสนใจ การหาวอาจจะเป็นการปลุกตัวเองของร่างกาย ทำให้ช่วยขยายปอดและระบบในร่างกาย เป็นการขยับกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ นอกจากนี้ยังช่วยส่งเลือดไปบริเวณใบหน้าและสมองเพื่อให้ตื่นตัวมากขึ้น
ทำไมเห็นคนอื่นหาวแล้วเราถึงหาวตาม?
การที่เห็นคนอื่นหาวแล้วเราหาวตาม ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่นอน บางก็ว่าเราหาวเหมือนๆกันเพราะอุณหภูมิที่อยู่รอบๆนั้นเหมือนกันซึ่งสอดคล้องกับข้อด้านบน บางก็ว่าเป็นอาการทางสังคมที่เราทำต่อๆกัน
แต่มีการศึกษาที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัย Baylor ชี้ว่าการที่เราหาวตามผู้อื่นอาจแสดงถึงความเห็นอกเห็นใจ บทความถูกตีลงนิตยสารด้านบุคคลิกภาพ จากการศึกษากลุ่มตัวอย่างที่เป็นนักศึกษาจำนวน 135 คน เพื่อดูการตอบสนองเวลาหาว ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า คนที่มีพฤติกรรมไม่ค่อยสนใจผู้อื่นมีโอกาสน้อยที่พวกเขาจะหาวหลังจากที่เห็นคนอื่นหาว แล้วเรามักจะหาวต่อหน้ากับคนที่รู้จักมากกว่าคนแปลกหน้า แต่นั้นก็ยังไม่เพียงพอต่อการสรุปอยู่ดี
ทำไมน้ำตาไหลเวลาหาว?
เมื่อเราหาวแน่นอนว่ากล้ามเนื้อบนใบหน้าเราถูกเปลี่ยนกะทันหัน ทำให้ลูกตาที่เป็นส่วนที่บอบบางที่สุดปรับตัวไม่ทัน ร่างกายเลยทำงานอัตโนมัติโดยให้น้ำตามมาช่วยปกป้องลูกตาของเราไม่ให้เสียหาย
สิ่งที่น่าสนใจบางคนอาจไม่มีน้ำตาไหลเลยสักหยดเวลาหาว เนื่องด้วยสภาพร่างกายอาจมีอาการตาแห้ง
เราห้ามไม่ให้น้ำตาไหลเวลาหาวได้หรือเปล่า
แน่นอนว่าไม่ได้ แม้แต่การหาวเองก็ไม่สามารถหยุดได้ แต่ยังพอมีวิธีทำให้หาวน้อยลงได้อยู่ เช่น
- หายใจเข้าลึกๆ
- ขยับตัว ทำกิจกรรมสนุกๆบ้าง
- หาที่อากาศเย็นๆ ดื่มน้ำเย็น ทานขนมเย็นๆ
สรุปการศึกษาล่าสุดที่เห็นตรงกัน การหาวนั้นเกี่ยวข้องกับอุณหภูมิ แน่นอนว่ายังมีอีกหลายทฤษฏีที่ยังถกเถียงกันอยู่ว่าการหาวเกิดขึ้นจากอะไรกันแน่ ไม่แน่ว่าอาจจะมีใครสักคนที่อ่านบทความนี้แล้วหาวก็เป็นได้และอาจเป็นการค้นพบครั้งใหม่เลยทีเดียว
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
healthline : Facts About Yawning
healthline : Why We Tear Up When Yawning