ประวัติศาสตร์ “แท็กซี่ไทย”ผู้ขับเคลื่อนการเดินทางจากยุคสู่ยุค
วันที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ ถือเป็นวันแรกที่รถแท็กซี่ได้วิ่งลงบนถนนของประเทศไทย จากยุคสมัยที่มีแต่รถสามล้อถีบวิ่งทั่วกรุงเทพ จนมาสู่ยุคปัจจุบันของรถหลากสีทั้ง เหลือง-เขียว ชมพู ฟ้า ที่วิ่งรับผู้โดยสารอยู่ทุกวันนี้ ทั้งรถ ทั้งคนขับ ต้องผ่านร้อนผ่านหนาวอะไรมาบ้าง วันนี้เราจะพาไปรู้จักกับ แท็กซี่ไทย ตั้งแต่ยุคแรกจนถึงยุคปัจจุบันกัน
เริ่มจาก”รถไมล์”ก่อนจะเป็น”แท็กซี่”
หลังจากสงครามโลกครั้งที่ ๑ จบลง ทหารอาสาที่ไปรบทำเพื่อสยามชาติ ต้องกลับสู่บ้านเกิดเมืองนอนแต่เมื่อกลับมาแล้วนั้นก็พบว่าการทำงานหาเลี้ยงชีพทั่วไปนั้นหาได้ยากเหลือเกิน ในช่วงพุทธศักราช ๒๔๖๖ พลโท พระยาเทพหัสดิน (ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เพื่อเป็นการช่วยเหลือพี่น้องทหารอาสาให้มีอาชีพหลังจากสงคราม จึงได้นำเอารถเก๋งยี่ห้อ ออสติน (Austin) ซึ่งเป็นรถยนต์ขนาดเล็กออกมาวิ่งรับจ้าง โดยติดป้ายคำว่า “รับจ้าง” ไว้ข้างหน้า–หลังของตัวรถ คิดค่าโดยสารเป็นไมล์ โดยตกไมล์ละ ๑๕ สตางค์ ซึ่งนับว่าแพงโข เมื่อเทียบราคากับค่าโดยสารในปัจจุบัน
ในสมัยนั้นแท็กซี่จึงมีชื่อเรียกว่า “รถไมล์” เพราะเก็บค่าโดยสารตามเลขไมล์ระยะทางที่วิ่ง ส่วน ”คนขับรถไมล์” ก็เป็นพวกทหารอาสาไปร่วมรบในทวีปยุโรป โดยเฉพาะที่สังกัดกองทหารบกรถยนต์ ทั้งนี้เพราะพระยาเทพหัสดินเคยดำรงตำแหน่งแม่ทัพฝ่ายไทยในสมัยมหาสงครามโลกครั้งที่ ๑ พวกสารถีจะสวมเสื้อเชิ้ต มีเสื้อนอกคอแบะสวมทับอีกชั้น นุ่งกางเกงขายาวแบบฝรั่ง นับว่าแต่งตัวหล่อเหลานำสมัยเอาการ อีกทั้งการขับ “รถไมล์” ยังทำให้มีรายได้จำนวนเงิน ๑๐ เปอร์เซ็นต์ของค่าโดยสาร
ในสมัยบุกเบิกใหม่ ๆ มีรถแท็กซี่อยู่เพียง ๑๔ คัน แต่ก็พอได้รับความนิยมจากชาวพระนครอยู่บ้าง พระยาเทพหัสดินจึงจัดตั้งเป็นกิจการในรูปแบบบริษัท ใช้วิธีคิดค่าโดยสารแบบมิเตอร์ให้เหมือนกับทางยุโรปเขา ตอนนี้เองนี้แหละที่ถือเป็นการกำเนิด”แท็กซี่ มิเตอร์”ขึ้นครั้งแรกในไทย
แต่อย่างไรก็ดี ด้วยค่าโดยสารที่แพงเกินไป และผู้ใช้บริการยังไม่คุ้นเคยกับความหรูหราระดับนี้ จึงมีผู้ใช้บริการไม่มากพอ ประกอบกับกรุงเทพฯ ยังมีขนาดเล็ก และมีรถรับจ้างอื่นๆ อย่าง รถเจ๊ก(รถลากสำหรับให้ผู้โดยสารนั่ง มีล้อขนาดใหญ่ ๒ ล้อมีคนจีนเป็นผู้ลาก)อยู่มาก และมีค่าบริการถูกกว่า รถแท็กซี่ของพระยาหัสดินจึงต้องปิดกิจการลงไป หลังจากเลิกกิจการไปแล้ว กรุงเทพฯ ก็ไม่มีรถแท็กซี่อีกเลย
สู่ยุคสมัยของ”แท็กซี่”
จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ในปีพุทธศักราช ๒๔๙๐ ได้มีผู้บุกเบิกกิจการแท็กซี่ขึ้นมาอีกครั้ง ในครานี้ใช้รถยนตร์ “เรโนลต์” (Renault) มาทำเป็นแท็กซี่จึงเรียกว่า “รถเรโนลต์” ซึ่งถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นความสำเร็จของแท็กซี่เลยก็ว่าได้ เพราะได้รับความนิยมจากคนทั่วไปเป็นอย่างมาก เนื่องจากสะดวกและรวดเร็วกว่ารถสามล้อถีบที่มีอยู่ชุกชุมในสมัยนั้น ด้วยเหตุนี้รถแท็กซี่จึงกลับมาเป็นที่ฮือฮา และเเพร่หลายมาก
มีผู้นำรถเก๋งไปทำเป็นรถแท็กซี่มากมายจนเกลื่อ ตั้งแต่ยี่ห้อออสตินที่กลับมาฮิตอีกครั้ง ตามด้วยรถดัทสัน บลูเบิร์ด และโตโยต้าที่เห็นอยู่ทั่วไปจนถึงทุกวันนี้ จนกระทั่งรถแท็กซี่ได้ขยายเพิ่มจำนวนไปยังต่างจังหวัด จนต้องมีการออกกฎหมายควบคุมจำนวนรถ
แต่อย่างที่กล่าวไว้ แต่ก่อนคนขับ “รถไมล์” ผู้เป็นอดีตทหารอาสาสงครามโลกแต่งกายดูดี ย่อมจะสร้างภาพลักษณ์ให้รถโดยสารในสมัยกิจการของพระยาเทพหัสดิน ไว้เริ่ดหรู ชวนหลงใหล ทว่าพอล่วงเข้าสู่สมัยของภาคเอกชนที่เข้าสู่ยุคเริ่มต้นแท็กซี่นี้ ก็เริ่มมีกิจการรถแท็กซี่ของเจ้าอื่นๆ เพิ่มเติมมาด้วย คนขับรถแท็กซี่ของบางกิจการก็มิได้แต่งกายโก้ๆ เหมือนพวกอดีตทหารอาสาอีกแล้ว ในช่วงเวลานี้เองที่ภาพลักษณ์ของคนขับแท็กซี่แปรเปลี่ยนไป กลายเป็นคนขับรถโดยสารเพื่อหารายได้มาดูแลครอบครัว ประทังชีวิตในแต่ละวัน
ในช่วงแรกของการให้บริการรถแท็กซี่ ป้ายทะเบียนของแท็กซี่จะมีราคาค่อนข้างแพงมาก แตะถึงหลักแสนบาทเลยทีเดียว ทำให้ผู้ให้บริการรถแท็กซี่ต้องใช้รถยนต์แท็กซี่หลายต่อหลายปีกว่าจะเปลี่ยนรถใหม่ จึงทำให้รถแท็กซี่ช่วงนั้นจะมีสภาพค่อนข้างเก่าและทรุดโทรมเป็นส่วนใหญ่ เพราะจำเป็นต้องใช้ป้ายราคาแสนเเพงให้คุ้มค่า
ในส่วนของค่าโดยสารช่วงนั้นนั้นจะเป็นการต่อรองระหว่างผู้โดยสารและผู้ให้บริการ ในแบบสมัครใจต่อกัน ต่อมาในปี ค.ศ. 1992 หรือราวปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้มีการออกกฎหมายบังคับให้รถแท็กซี่มีการติดมิเตอร์ โดยระบุว่า รถแท็กซี่ใหม่ที่จดทะเบียนในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ เป็นต้นไปจะต้องติดมิเตอร์
สู่ยุคปัจจุบัน
กรมการขนส่งทางบกได้มีการเปลี่ยนระบบป้ายทะเบียนแท็กซี่ใหม่ โดยให้จดทะเบียนได้ในราคาถูกลงจากเดิมเหลือเพียงหลักพันบาท แต่จำกัดอายุของรถแท็กซี่เอาไว้มิให้เกิน 12 ปี หากเกินจากนี้ก็จำต้องปลดประจำการไม่สามารถนำมาขับเป็นแท็กซี่ได้อีก และยังได้สั่งให้เปลี่ยนสีรถแท็กซี่บุคคล จากสี “ดำ-เหลือง” ในระบบป้ายแบบเก่า กลายเป็นสี “เขียว-เหลือง” ในระบบป้ายแบบจำกัดอายุ
ปัจจุบันแท็กซี่ในเมืองไทยก็เป็นรถปรับอากาศติดมิเตอร์ อัตราค่าโดยสารคำนวนตามระยะทางและเวลาโดยเริ่มต้นที่ 35 บาท พร้อมทั้งมีวิทยุสื่อสาร บางคันอาจมีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกอื่นๆ เพื่อใช้ในระหว่างเดินทางด้วย รวมถึงมีการอัปเดตสีใหม่ๆ เข้ามาทั้ง ชมพู ฟ้า ส้ม (สีเหล่านี้ไม่ได้แบ่งประเภทแท็กซี่แต่อย่างใด) และแถมในปัจจุบันการจะเรียกรถแท็กซี่ ก็ไม่จำเป็นต้องไปยืนโบกอยู่ริมถนนอีกต่อไปแล้ว เพราะ มีแอปพลิเคชั่นมากมายที่ช่วยอำนวยความสะดวกเรียกรถได้ถึงที่หมายผ่านโทรศัพท์
และทั้งหมดทั้งมวลนี้ก็คือวิวัฒนาการของรถแท็กซี่ไทย ที่อยู่คู่สยามประเทศเวลากว่า ๑๐๐ ปีแล้ว ที่เจ้ารถโดยสารเหล่านี้วิ่งบนท้องถนน ด้วยเทคโนโลยีและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆที่เข้ามา ก็เป็นที่น่าสนใจว่าทิศทางของเเท็กซี่ไทยจะวิวัฒนาการไปทางไหน ส่วนทางเราขอตัวลาไปก่อน ขอให้ทุกคนเดินทางโดยสวัสดิภาพ สวัสดีครับ 🙏
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews
ขอบคุณข้อมูล