“โมนาลิซา” ภาพอิสตรีโฉมงามในตำนาน
โลกใบนี้มีหญิงงามอยู่มากมายทั่วทุกแห่งหน แต่จะมีหญิงใดเล่าที่งดงามข้ามยุคข้ามสมัยมากว่า 500 ปี เธอหาใช่สตรีที่งดงามตามรูปลักษณ์ของหญิงสมัยนิยม มิได้สวมเครื่องอาภรณ์น้อยชิ้นที่เผยให้เห็นหนังมังสา แต่เธอมีมนต์สะกดด้วยรอยยิ้มชวนหลง ดวงตาที่ดึงดูด เธออาจมิได้มีตัวตนดำรงชีพอยู่แล้ว แต่หากตอนนี้เธอฝากตัวตนไว้ในรูปภาพที่ชื่อว่า “โมนาลิซา”
“โมนาลิซา” คือ ภาพวาดสีน้ำมัน สูง 77 เซนติเมตร กว้าง 53 เซนติเมตร เธอถือกำเนิดขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ระหว่างปี ค.ศ.1503-1507 ด้วยฝีแปรงของ เลโอนาร์โด ดาวินชี ศิลปินเอกของโลก ด้วยฝีแปรงดุจดั่งเนรมิตรความมหัศจรรย์ได้เกือบเทียบเทียมธรรมชาติ และสัดส่วนรูปทรงที่ถ่ายทอดได้อย่างไร้ที่ติ โมนาลิซาจึงได้รับคำชื่นชมและมีคนรู้จักมากที่สุดในโลก เธอน่าค้นหาและซ่อนเร้น โมนาลิซาช่างดูพิศวงราวกับเป็นกระจกสะท้อนความรู้สึกนึกคิดอันยากหยั่งถึง ดวงหน้าและแววตาดูร้อนรุ่มและสงบนิ่งในเวลาเดียวกัน รอยยิ้มของเธอมีเสน่ห์ยากจะเข้าใจ จนทำให้ภาพนี้ได้รับคำชื่นชมว่า
“เหมือนนางฟ้ามากกว่ามนุษย์”
ความเป็นมาของภาพนางฟ้าโมนาลิซา
“โมนาลิซา” หรือ ลีซา เกราร์ดีนี เป็นภรรยาของ ฟรันเชสโก เดล โจกอนโด พ่อค้าผ้าไหมชาวฟลอเรนซ์ผู้รํ่ารวย บ้านของเธออยู่ไม่ไกลจากบ้านของ เลโอนาร์โด เท่าใดนัก เมื่อ ฟรันเชสโก รู้ว่า เลโอนาร์โด เป็นจิตรกร เขาจึงขอให้เลโอนาร์โดวาดภาพภรรยาตัวเองเพื่อเป็นของขวัญ ว่ากันว่าดาวินชีการเงินขัดสนจึงรับวาดภาพนี้ บ้างก็ว่าหญิงสาวผู้เป็นแบบรูปมีแววตาที่สวยจับใจ แต่จะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่เขาก็วาดภาพนี้ออกมาจนได้
แต่ก็ไม่รู้ด้วยเหตุอันใด ภาพโมนาลิซากลับไม่ได้ถูกส่งมอบให้แก่ผู้ว่าจ้าง ส่วนทางพ่อค้าขายผ้าไหมก็ไม่ได้จ่ายเงินให้แก่ลีโอนาร์โดเช่นกัน รูปภาพนี้จึงระหกระเหินเดินทางตามศิลปินพเนจรผู้นี้เรื่อยมา
จนถึงวาระสุดท้ายของ เลโอนาร์โด ดาวินชี หลังจากที่เดินทางรังสรรค์ผลงานศิลปะ สร้างชื่อเสียงให้ตนเองมากมายจนมีอายุได้จะ 60 ปี เขาเริ่มมีปัญหาสุขภาพ บ้านก็ไม่มี เงินทองก็ร่อยหรอ หากแต่ก็เหมือนโชคช่วย มีชายผู้ร่ำรวย คฤหาสน์หลังใหญ่มาเป็นผู้อุปถัมป์ โดยเงื่อนไข คือเขาไม่ต้องทำอะไรเลยแค่มาอยู่เป็นเพื่อนกับชายผู้นั้น ชายผู้ชื่นชมลีโอนาร์โดผู้นี้คือ “พระเจ้าฟร็องซัวที่ 1 แห่งฝรั่งเศส (Francis I of France)”
พระเจ้าฟร็องซัวที่ 1 ได้พระราชทานบ้านหลังใหญ่ให้เลโอนาร์โด ซึ่งเลโอนาร์โดก็ย้ายเข้ามายังพระราชวังแห่งนี้พร้อมกับหนังสือ สมุดบันทึก และภาพวาดสามภาพ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือภาพ ”โมนาลิซา”
ลีโอนาร์โดเสียชีวิตในวันที่ 2 พฤษภาคม ค.ศ.1519 ส่วนภาพโมนาลิซาก็ยังคงอยู่ในพระราชวังของพระเจ้าฟร็องซัวนั้นแล
หลังจากยอดจิตกรผู้นี้เสียชีวิตลง ผลงานของ เลโอนาร์โด เริ่มกระจัดกระจายไปอยู่ในหลายแห่งทั่วฝรั่งเศส ต่อมามีการนำภาพนี้ไปเก็บไว้ที่ พระราชวังฟงเตนโบล แล้วย้ายมาที่พระราชวังแวร์ซาย จนสิ้นสุดการปฏิวัติฝรั่งเศสก็ถูกนำไปเก็บไว้ที่ พระราชวังตุยเลอรี และสุดท้ายภาพนี้ก็ถูกนำมาเก็บไว้ที่ พิพิธภัณฑ์ลูฟร์ ในกรุงปารีส
โมนาลิซาดังกระฉ่อนจากการถูกโจรกรรม
21 สิงหาคม ค.ศ.1911 เป็นอีกวันที่วงการศิลปะโลกต้องจารึกกับเหตุการณ์โจรกรรมภาพวาด โมนาลิซา ขณะจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ ความจริงแล้วก่อนหน้านั้นภาพ โมนาลิซา ไม่ได้เป็นผลงานชิ้นเอก ที่โด่งดังเมื่อเทียบกับผลงานอิงศาสนาอย่าง The Last Supper หรือ ภาพ Virgin of the Rocks ซึ่งเป็นผลงานของเลโอนาร์โดเหมือนกัน กระทั่งในเช้าวันจันทร์ที่ 21 สิงหาคม ค.ศ.1911 เมื่อภาพหญิงสาวที่เคยมีได้สาบสูญไปจากห้องจัดแสดง กว่าที่จะมีคนสังเกตเห็นว่าที่ว่างบนผนังตรงนี้เคยมีรูปอิสตรีผู้ทรงสง่าอยู่ก็กินเวลากว่า 48 ชั่วโมง
หลังจากที่ภาพวาดโมนาลิซาหายไป พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ก็ปิดทำการนานหนึ่งสัปดาห์เพื่อสอบสวนเรื่องนี้ และเมื่อเปิดทำการอีกครั้งกลับพบว่ามีประชาชนแห่ไปชมจุดที่เคยแขวนภาพโมนาลิซา ซึ่งกลายเป็นผนังที่ว่างเปล่าอย่างล้นหลาม ยิ่งทำให้นักสะสม ผู้คนในวงการศิลปะ และประชาชนทั่วไปอยากจะรู้จักภาพวาดโมนาลิซามากขึ้น ว่าทำไมความงามของหญิงสาวในภาพจึงดึงดูดใจให้มีคนกล้าขโมยออกจากพิพิธภัณฑ์ลูฟร์
ช่วงแรก เจ้าหน้าที่ตำรวจสันนิษฐานจากรูปคดีว่า เป็นพวกโมเดินนิสต์ที่ต่อต้านขนบศิลปะแบบเก่าอาจจะเป็นผู้ก่อเหตุ โดยเจ้าหน้าที่ได้จับกุมตัว กีโยม อะพอล์ลิแนร์ ศิลปิน นักประพันธ์ และนักวิจารณ์ศิลปะชื่อดัง ในเดือนกันยายนปีเดียวกันเพื่อทำการสอบสวน ก่อนที่จะปล่อยตัวเขาออกมา
และ ปาโบล ปีกัสโซ ศิลปินผู้ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งในยุคศตวรรษที่ 20 ก็เคยตกเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีนี้กับเขาด้วยเหมือนกัน (ด้วยการซัดทอดของอะพอล์ลิแนร์) แต่เจ้าหน้าที่ขาดพยานหลักฐานที่จะดำเนินคดีกับเขาได้
คดีนี้จึงค่อยๆ เงียบหายไป จนกระทั่งสองปีถัดมาโจรตัวจริงก็เผยตัว เมื่อเขาอดใจไม่ไหวออกมาติดต่อเจ้าของแกลเลอรีในฟลอเรนซ์เพื่อหวังจะปล่อยภาพที่ประเมินค่ามิได้ชิ้นนี้ แต่เจ้าของแกลลอรี่ตลบหลังพาตำรวจมาจับเจ้าโจรรายนี้แทน
ผู้ร้ายในคดีนี้ คือ วินเชนโซ เปรูจา อ้างเหตุผลที่ต้องทำการโจรกรรมภาพวาดว่า อยากจะนำ “โมนาลิซา” คืนสู่ถิ่นบ้านเกิดอย่างอิตาลี ที่เขาทำไปก็เพราะรักชาติ และบอกว่าศิลปะชิ้นนี้ถูก”นโปเลียน”ขโมยไป ซึ่งแท้ที่จริงแล้วภาพนี้ไปอยู่ที่ฝรั่งเศส จากการที่ เลโอนาร์โด ดาวินชี นำติดตัวไปประเทศฝรั่งเศส ในช่วงท้ายของชีวิต หลังได้รับการอุปถัมป์จากพระเจ้าฟร็องซัวที่ 1 เมื่อ เลโอนาร์โด เสียชีวิตที่นั่น ภาพโมนาลิซาและผลงานของเขาจึงติดตัวไปอยู่ที่ฝรั่งเศส
เมื่อภาพโมนาลิซา ถูกส่งกลับคืนสู่พิพิธภัณฑ์ลูฟว์ จึงเกิดกระแสให้ผู้คนทั่วโลกพากันแห่เดินทางมาชมภาพวาดที่ถูกขโมยไป ซึ่งก็ถูกรักษาความปลอดภัยอย่างแน่นหนามากขึ้น โดยในช่วงหลังมีการนำกระจกหนามาคุ้มกันงานจิตรกรรมชิ้นนี้อีกด้วย และมีกฏห้ามมิให้ผู้ชมเข้าใกล้ชิ้นงาน กลายเป็นอีกหนึ่งผลงานชิ้นเอกที่โด่งดังไปทั่วโลกจวบจนปัจจุบันนี้
โมนาลิซ่า ก็เป็นอีกหนึ่งผลงานเลื่องชื่อที่ผ่านกาลเวลามาอย่างยาวนาน มีคนตั้งทฤษฎีสมคบคิดขึ้นมากมายเกี่ยวกับรูปภาพนี้ ทั้งกล่าวว่ามีตัวเลขปริศนาซ่อนอยู่ในภาพ หรือรอยยิ้มที่เป็นปริศนาของภาพนี้ แม้แต่บุคคลในภาพที่สมคบคิดกันว่าเป็นตัวแทนของเลโอนาโดร์ในร่างผู้หญิงเลยทีเดียว แต่ทฤษฎีเหล่านี้ก็ถูกไขผ่านกาลเวลามากว่า 500 ปี ไม่แน่ว่าภาพมหัศจรรย์ของอิสตรีโฉมงามนี้อาจจะมีปริศนาหรือนัยยะอะไรแอบแฝงรอให้ถูกค้นพบในอนาคตอยู่ก็เป็นได้
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews
ขอบคุณข้อมูล