ตำนานที่กล่าวขาน ย่อมสวนทางกับข้อเท็จจริง ครูกายแก้ว บรมครูผู้เรืองเวทย์
เชื่อว่าหลายๆคนคงคุ้นหน้าคร่าตามาบ้างแล้ว จากกรณีรถบรรทุก รูปปั้นสีดำขนาดใหญ่ ติดคาสะพานลอยย่านรัชดาจนไม่สามารถขับผ่านไปได้ ซึ่งส่งผลกระทบทำให้การจราจรติดขัดไปชั่วขณะ เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งนี้เมื่อภาพดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป ก็ทำเอาหลายคนต่างสงสัยว่ารูปปั้นดังกล่าวคืออะไรกันแน่ เพราะมีกายเป็นมนุษย์กึ่งนก ร่างสีดำทะมึน มีปีก เขี้ยวทอง ตาและเล็บสีแดงฉาน ดูน่าเกรงขาม ต่อมาจึงทราบว่ารูปปั้นดังกล่าวคือ ‘ครูกายแก้ว‘ บรมครูผู้เรืองเวทย์ เทพเจ้าแห่งโชคลาภ
ครูกายแก้ว บรมครูผู้เรืองเวทย์ เป็นใครมาจากไหน
ตามตำนานเล่ากันว่า ครูกายแก้ว หรือ บรมครูผู้เรืองเวทย์ ถูกขนานนามว่า เป็นผู้ประทานความร่ำรวย ความสำเร็จ และโชคลาภ มีวิชาอาคม เวทย์มนต์ อีกทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้งสำนักกายแก้ว ซึ่งเป็นสำนักวิชาความรู้ และ เวทมนตร์ชั้นสูง
จากข่าวที่ปรากฏในช่วงแแรก ระบุว่า ได้มีพระธุดงค์จากจังหวัดลำปาง ไปนั่งทำสมาธิที่ปราสาทนครวัดนครธม ประเทศกัมพูชา และได้ครูกายแก้วมา ซึ่งเชื่อว่าเป็นครูของศาสตร์และศิลป์ทั้งปวงในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 จากนั้นได้มอบรูปปั้นเทพองค์ขนาดหน้าตัก 2 นิ้ว ให้แก่ อาจารย์ถวิล มิลินทจินดา เป็นอดีตทหารกองดุริยางค์ทหารในสมัยก่อน
ต่อมาอาจารย์ถวิล ได้ส่งต่อรูปปั้นของครูกายแก้ว ให้แก่ อาจารย์สุชาติ รัตนสุข ผู้มีความรู้ด้านศาสตร์ดวงชะตา ผู้สร้างพระพิฆเนศห้วยขวาง ที่ได้นำมาบูชา ซึ่งครูกายแก้วได้ปรากฏกายให้เห็น เป็นคนแก่ ลักษณะผู้บำเพ็ญ กึ่งมนุษย์กึ่งนก จึงได้หล่อเป็นองค์สำริดยืน คล้ายคนแก่ มีลักษณะคล้ายผู้บำเพ็ญเพียร นั่งขัดสมาธิ หน้าตาน่าเกรงขาม มีปีกด้านหลัง กึ่งมนุษย์กึ่งนก ตามีสีแดงฉาน เล็บยาวงุ้ม ส่วนบริเวณใบหน้ามีเขี้ยวสีทองคล้ายนกการเวก ซึ่งเป็นสัตว์โบราณในป่าหิมพานต์ รูปลักษณ์ของครูกายแก้วนี้ได้อ้างอิงว่ามาจากภาพสลักบนกำแพงปราสาทบายน
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ย่อมสวนทางกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี ในทางกลับกัน ตำนานของครูกายแก้ว พบว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาเมื่อไม่นานมานี้ และไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์มารับรอง มีแต่เรื่องเล่าต่อๆกันมาในกลุ่มคนเล็กๆ แล้วขยายความเชื่อออกไปอย่างรวดเร็วในสังคม อย่างที่มีผู้เชี่ยวชาญหลายท่านได้ให้ข้อคิดเห็นโดยอ้างอิงจากหลักฐานต่าง ๆ เช่น อาจารย์ตุล คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง ได้ให้ข้อมูลไว้ในช่อง Jomquan เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า เป็นความเชื่อเฉพาะบุคคล เฉพาะกลุ่มคน ที่เริ่มต้นมาจาก อาจารย์สุชาติ รัตนสุข ที่เป็นคนนิยามคำว่าครูกายแก้วขึ้นมา เพราะเขายกย่องให้ครูกายแก้วเป็นครูของเขาจริงๆ ในทางไสยศาสตร์ ที่มีรูปลักษณ์เป็นอสูรกาย จากนั้นลูกศิษย์ที่เข้ามานับถือ อ.สุชาติ ก็เลยนับถือตามกันมา
ทางด้าน อั๋น โอกิ เซียนพระ คนที่เชื่อและศรัทธา ได้เล่าผ่านรายการโหนกระแสว่า เรื่องความเชื่อกับประวัติศาสตร์ ไม่สามารถเอามารวมกันได้ เพราะในหลายๆความเชื่อก็ไม่มีบอกในประวัติศาสตร์ เช่นเราบูชาเทพต่างๆ ศาสนาพราหมณ์ อินดู ก็ยังมีตำนานของพระพรหมที่ไม่เหมือนกัน อย่างครูกายแก้ว เชื่อว่าเป็นตำนานที่เขาเล่าสืบต่อกันมาเป็นพื้นบ้าน ไม่มีใครรู้จริง สมัยนั้นถ้าพูดกันตามตรงเราก็เกิดไม่ทัน คนที่วิเคราะห์ก็เกิดไม่ทัน ไม่มีใครเกิดทัน มันคือเรื่องเล่า ตำนาน ความเชื่อ
เสียงจากผู้บูชา ทำไมถึงศรัทธา
สำนักพุทธาคมบรมครูปู่ฤาษีจับยาม ครูกายแก้ว โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่าถึงครูกายแก้วว่า ไม่ว่าใครจะพูดถึงครูเช่นไร ก็จะยังคงเคารพอย่างไม่มีวันเปลี่ยนแปลง รูปลักษณ์จะเป็นแบบไหน ใครจะว่าว่าครูเป็นเปรตเป็นผีหรืออสูรยักษ์ มาจากเขมรหรือพม่าลาวอย่างไร แต่ท่านก็คือครู ไม่ได้เป็นอสูรหรืออสรพิษอย่างที่ใครเขาว่า
ขณะเดียวกันประชาชนที่มากราบไหว้ต่างก็ยอมรับว่า ไม่เคยรู้จักชื่อของครูกายแก้วมาก่อน เพิ่งมารู้จักเมื่อตอนที่เกิดเหตุติดสะพานขณะเคลื่อนย้าย และเดินทางมากราบไหว้เพราะมีความเชื่อในเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว และกราบไหว้เพื่อความสบายใจ-ความเป็นสิริมงคล ส่วนประเด็นที่โซเซียลแนะนำว่า ให้นำสุนัขหรือแมวไปบูชายัญครูกายแก้วนั้น เป็นความเชื่อที่ผิด การจะบูชาครูกายแก้วไม่จำเป็นต้องไปเบียดเบียนชีวิตใคร กราบไหว้ท่านด้วยความศรัทธา
ความคิดเห็นอีกหลากหลายแง่มุม
อย่างไรก็ตามก็ได้มีความคิดเห็นอีกหลากหลายแง่มุม ที่เชื่อกันว่า ครูกายแก้ว นั้น ไม่ใช่ เทพเจ้าแห่งโชคลาภ ซึ่งก็กลายเป็นเรื่องถกเถียงกันว่า แท้จริงแล้ว ครูกายแก้ว คืออะไรกันแน่ ?
นาย โอภาส จริยพฤติ หรือ ไกด์โอ พาเที่ยว ได้ให้ความเห็นว่า ที่ปราสาทบายนไม่มีภาพสลักของครูกายแก้วตามที่กล่าวอ้าง และครูของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ตามจารึกประสาทพรหม ก็ไม่ใช่ครูกายแก้ว ปรากฎชื่ออยู่เพียงสองท่านคือ ศรีมังคลารถเทสะ และ ศรีชยกีรติเทวะ ทั้งยังกล่าวต่ออีกว่า ภาพที่คล้ายกับครูกายแก้วนั้น คือ ท้าวพาณอสูร ซึ่งได้ไปเข้าเฝ้าขอความอนุเคราะห์ต่อพระศิวะที่ประทับที่เขาไกรลาส
ศาสตราจารย์ พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่าถึงครูกายแก้วว่า ข้อมูลส่วนนี้ยังไม่เคยเห็นหลักฐานยืนยันได้แน่นอนว่า เล่าลือกันมาจากที่ไหน ความเลื่อมใสในเรื่องอย่างนี้แม้ไม่ผิดกฎหมาย แต่สามารถบ่งบอกถึงความไม่มั่นคงทางจิตใจของสมาชิกในสังคมได้ในระดับหนึ่ง และถ้าไม่เกรงใจกันแล้วก็ต้องบอกว่าเป็นระดับที่สูงมากเสียด้วย รูปอะไรก็ไม่รู้ที่กราบไหว้กันอยู่นี้ มองในทางศิลปะก็สอบไม่ผ่านแน่ จะว่าเป็นมนุษย์ก็เห็นจะไม่ใช่ จะเป็นสัตว์ก็ไม่เชิง เป็นต้น
ทางด้าน พระพยอม กัลยาโณ เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว ตำบลบางเลน อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี กล่าวว่า เป็นเรื่องของความเชื่อ ไม่อยากไปทะเลาะกับคนที่มีความเชื่อ อยากให้ศึกษากัน ไม่เชื่ออย่าลบหลู่แต่ถึงเชื่อก็ต้องเรียนรู้ให้ชัดเจนว่าจะเชื่อผิดหรือถูก เรื่องบูชายันต์ไม่รู้สรุปเป็นเทพหรือเป็นอะไร อยากให้คิดกันเอาเอง อย่าไปหลงคำว่าไม่เชื่ออย่าลบหลู่ เชื่อแล้วต้องมีเหตุผล ศึกษาข้อมูล ขอฝากสั้นๆ ไม่ว่าจะชื่ออะไรก็ตามอย่าเชื่อแบบหัวปักหัวปำ เชื่อไปศึกษาไป จนเกิดสติปัญญา
อ. เทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์และนักเทววิทยา ได้โพสต์ไว้ว่า แท้ที่จริงแล้ว กายแก้ว มาจาก การ์กอยส์ แปลกที่มีคนหลงเชื่อ งมงาย ได้เพียงนี้ โดยไม่ไปศึกษาหาความรู้ก่อน จึงอาจกลายเป็นเหยื่อถูกล่อลวง ในทางศาสนากายแก้ว อาจมีที่มาคือการ์กอยส์ ซึ่งเป็นสัตว์ผสมหากินกลางคืน เป็นมารกึ่งอมนุษย์ – มังกร ที่ปกปักษ์รักษาผู้คนตามความเชื่อของชาวยุโรปแน่นอนว่า ไม่เกี่ยวข้องอะไรเลยกับพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มหาราชกัมพูชาในอดีต และย่อมไม่เกี่ยวข้องอะไรเลยที่พยายามทำรูปลักษณ์ให้เป็นยักษามีปีกสังคมไทยไปไกลสุดกู่ เอาทุกอย่างมาบูชาปะปนกันโดยความไม่รู้เรื่องจริง
อีกมุม รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหง , ผศ.ดร.กังวล คัชชิมา อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาตะวันออก ผู้เชี่ยวชาญด้านจารึกเขมรโบราณ คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ที่ออกมายันว่าครูกายแก้วไม่มีในประวัติศาสตร์
เรื่องราวของ ครูกายแก้ว นอกจากจะได้รับความนิยมในประเทศไทยเป็นอย่างมากแล้ว ทั้งยังได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในต่างประเทศอีกด้วย โดยที่นั่นได้ยกย่องให้ครูกายแก้ว เป็นเสมือนเทพเจ้าแห่งความร่ำรวย และ บรมครูผู้ประทานพรให้สมหวัง
ท้ายที่สุดแล้ว ก็ไม่สามารถปฏิเสธไม่ได้ว่าความเชื่อและความศรัทธาเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับเมืองไทยมาช้านาน จนหลายอย่างผสมกันจนแยกไม่ออก ทั้งศาสนา ตำนานเรื่องเล่า เรื่องลี้ลับ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เทพจากหลากหลายที่มา กลายเป็นที่พึ่งพาทางจิตใจของประชาชน เรื่องราวเหล่านี้ เป็นความเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งไม่มีถูกหรือผิด แต่ถึงแม้จะเป็นความเชื่อส่วนบุคคล แต่ก็ต้องมีวิจารณญาณกันสักหน่อย ไม่อย่างนั้นเราอาจเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของลัทธิมารได้
ขอบคุณรูปภาพจาก
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews