วันช้างไทย ตรงกับวันที่ 13 มีนาคมของทุกปี เพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักถึงความสำคัญและการดำรงอยู่ของช้างไทย สัตว์คู่บ้านคู่เมืองและนับเป็นเอกลักษณ์อีกหนึ่งอย่างของชาติไทย
ที่มาของวันช้างไทย
วันช้างไทย เริ่มมาจาก คณะอนุกรรมการประสานงานการอนุรักษ์ช้างไทย เป็นหน่วยงานที่ช่วยประสานงานระหว่างองค์การภาครัฐและเอกชนที่ทำงานเกี่ยวกับการอนุรักษ์ช้างไทยได้มองเห็นปัญหาเกี่ยวกับช้าง ไม่ว่าจะถูกใช้งาน ความสำคัญ จึงคิดว่า หากมีการสถาปนาวันช้างไทยขึ้น ประชาชนชาวไทย จะหันมาสนใจช้าง รักช้าง หวงแหนช้าง ตลอดจนให้ความสำคัญต่อการให้ความช่วยเหลืออนุรักษ์ช้างมากขึ้น
ดังนั้นจึงพยายามจัดหาวันช้าง ครั้งแรกได้มองวันที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทำยุทธหัตถี เพราะมีช้างเป็นส่วนสำคัญและเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงออกได้ดีถึงความสำคัญของช้าง แต่วันดังกล่าวถูกใช้เป็น วันกองทัพไทยไปแล้ว จึงได้มองหาวันอื่นๆ แทน
มีวันที่ 13 มีนาคม ที่เห็นว่าเหมาะสม เพราะเป็นวันที่ ช้างเผือก ถูกคัดเลือกเป็นสัตว์ประจำชาติ จึงได้เสนอคณะรัฐมนตรีและได้เห็นชอบให้วันที่ 13 มีนาคม เป็นวันช้างไทย
ความสำคัญของช้างไทย
- ช้างเป็นสัตว์คู่บารมีของพระมหากษัตริย์ไทย ช้างเป็นสัตว์ที่อยู่กับประเทศไทยมานาน ย้อนไปตั้งแต่สมัยโบราณเลยก็ว่าได้ แม้แต่ในสมัยรัชกาลที่ 2 กรุงรัตนโกสินทร์ สยามประเทศเคยใช้ธงชาติเป็นรูปช้างเผือก
- ช้างเป็นผู้ปกป้องเอกราชแห่งชาติไทย ค่อนข้างต่อเนื่องจากข้อด้านบน ช้างถูกนำมาใช้ในสงครามหลายต่อหลายครั้ง หลักฐานในประวัติศาสตร์การรบก็ใช้ช้างในการต่อสู้จนได้รับชัยชนะมานับครั้งไม่ถ้วน
- ช้างถูกใช้ในพระราชพิธีสำคัญ ในช่วงการตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ ช้างคือพาหนะสำคัญที่อัญเชิญพระพุทธมณีรัตนปฏิมากร หรือพระแก้วมรกต มาสถิตย์ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม นอกจากนี้ยังถูกใช้ในพระราชพิธีอื่นๆ อาทิ พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา งานพระราชพิธีฉัตรมงคล จะต้องนำช้างเผือกแต่งเครื่องคชาภรณ์ ไปยืนที่แท่นเกยช้างด้านตะวันตกของพระที่นั่งดุสิตาภิรมย์ในพระบรมมหาราชวังเพื่อประกอบพระเกียรติยศ
- ช้างใช้สร้างสัมพันธ์ไมตรีระหว่างประเทศ ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสสิงคโปร์ และเบตาเวีย(จาการ์ตา) ประเทศอินโดนีเซียได้พระราชทานช้างสำริดให้แก่ทั้ง 2 ประเทศนี้ เพื่อสร้างสัมพันธไมตรีกับประเทศไทย
- ช้างใช้เป็นพาหนะในการคมนาคม ในอดีตช้างถูกนำมาใช้ในการขนส่งของ เป็นพาหนะใช้ในชีวิตประจำวันอยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน
แต่ถึงกระนั้น ช้างก็ยังถูกทารุณ ในประเทศไทย
ข้อมูลจากองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกเผยว่าช้างเลี้ยงในประเทศไทยส่วนใหญ่ถูกผสมพันธุ์และใช้ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและยังมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีผลสำรวจจากเดือนมกราคม 2564 ที่ผ่านมาพบว่ามีช้างเลี้ยงราว ๆ 2,779 เชือก นับเป็น 2 เท่าเทียบกับช่วง 10 ปีก่อนหน้า
ช้างนั้นถูกกระทำอย่างโหดร้าย เช่น
- ลูกช้างต้องถูกจับแยกกับแม่ช้างตั้งแต่ยังไม่หย่านม
- ถูกใช้ความกลัวเข้าควบคุมด้วยตะขอสับหัว การล่ามโซ่
- บังคับให้ฝึกทักษะต่างๆ เพื่อใช้ในการแสดงความบันเทิงต่อนักท่องเที่ยว
แน่นอนว่านี่เป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วๆไปตามแหล่งท่องเที่ยว แต่ก็ยังมีอีกฝ่ายที่ยังมีประเด็นที่ยกมาโต้เถียงว่า บางทีช้างอาจสบายและได้รับการดูแลที่ดีกว่าอยู่ตามธรรมชาติ ซึ่งจะไม่ขอตัดสินว่าใครถูกผิด
นอกจากนี้ช้างยังถูกรุกล้ำพื้นที่อย่างมาก เช่นกรณีที่มีข่าวที่ช้างออกมาบริเวณจุดกางเต็นท์ที่เขาใหญ่ จนทำให้มีผู้เสียชีวิต หลายคนก็ได้ให้ความคิดเห็นว่าไม่แปลกเพราะนั่นเป็นพื้นที่ของช้างอยู่แล้ว มนุษย์นั่นเองที่ไปบุกรุก
วันช้างไทย อาจจะเป็นแค่วันธรรมดาวันหนึ่ง หากเราคนไทยไม่สนใจที่จะอนุรักษ์และให้ความสำคัญกับช้างจริงๆ อย่าลืมที่จะช่วยดูแลรักษา ส่งเสริมให้ช้างได้อยู่ตามธรรมชาติอย่างที่ควรจะเป็น ไม่บังคับ ทารุณทำร้ายพวกเขา ดูแลให้ช้างอยู่คู่กับประเทศไทย เป็นสัตว์ที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองไปอีกนานเท่านาน
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
ขอขอบคุณข้อมูลจาก