Home
|
ไลฟ์สไตล์

วันไหว้พระจันทร์ กับตำนานความลับที่หลายคนยังไม่รู้

Featured Image

          เทศกาลวันไหว้พระจันทร์ หรือที่หลายคนรู้จักในชื่อเทศกาล Mid-Autumn Festival  (中秋節) เป็นเทศกาลที่มีความสำคัญสำหรับคนจีนมากเป็นอันดับสองรองจากเทศกาลตรุษจีน ซึ่งวันไหว้พระจันทร์ปีนี้ ตรงกับวันศุกร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2566 ซึ่งเป็นประเพณีที่ชาวจีนถือปฏิบัติสืบต่อกันมานับพันปี เทศกาลนี้จัดขึ้นในช่วงกลางฤดูใบไม้ร่วง ในคืนวันเพ็ญเดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติ นับว่าเป็นวันที่พระจันทร์ส่องแสงงดงามที่สุด และเต็มดวงที่สุด

วันไหว้พระจันทร์

เทศกาลวันไหว้พระจันทร์ คนจีนทำอะไรบ้าง? 

          ในเทศกาลนี้ ชาวจีนจะเฉลิมฉลองการไหว้ดวงจันทร์ในเวลากลางคืนของวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 ในบางประเทศ เช่น ฮ่องกง ไต้หวัน สิงคโปร์ หรือเวียดนาม จะจัดเป็นประเพณีใหญ่ มีการเฉลิมฉลองด้วยโคมไฟสีแดงเป็นสีสันยามค่ำคืน หรือบางแห่งอาจมีการเชิดมังกร ทั้งนี้จะมีชื่อเรียกต่างกันออกไปตามแต่ละท้องถิ่น เทศกาลวันไหว้พระจันทร์นี้ยังนิยมขอพรเรื่องความรักและเนื้อคู่เป็นหลัก แต่ก็สามารถขอเงินทองโชคลาภจากพระจันทร์ได้เช่นกัน 

          และนอกจากที่กล่าวมาแล้วนั้น เทศกาลวันไหว้พระจันทร์ยังมีตำนานที่เล่าขานเกี่ยวกับวันไหว้พระจันทร์ต่าง ๆ มากมายอีกด้วย โดยวันนี้เราได้นำตำนานเรื่องเล่าเกี่ยวกับวันไหว้พระจันทร์มาให้ผู้อ่านได้อ่านกัน

 

ตำนานเทพธิดาฉางเอ๋อ

          ตามตำนานเล่าว่า เมื่อครั้งสมัยก่อนโบราณกาลนั้น มีเทพธิดาแห่งดวงจันทร์องค์หนึ่ง นามว่า “ฉางเอ๋อ” ซึ่งเป็นหญิงคนรักของ โฮวอี้ วีรบุรุษนักยิงธนูแห่งสวรรค์ เป็นผู้ที่มีฝีมือในการยิงธนูได้แม่นยำอย่างมาก โดยสามารถยิงธนูขึ้นสู่ฟ้าเพียงดอกเดียว แต่ยิงดวงอาทิตย์ตกลงไปถึง 9 ดวง จากทั้งหมด 10 ดวง ซึ่งเป็นการขจัดความทุกข์ให้กับประชาชนทั่วไป แต่ก็เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนบัญชาสวรรค์เฉกเช่นเดียวกัน โฮวอี้จึงโดนลงทัณฑ์ให้ไปใช้ชีวิตธรรมดาเช่นมนุษย์ทั่วไปบนโลกมนุษย์กับแม่นางฉางเอ๋อ แต่แล้วโฮวอี้ก็ถูกคนสนิททรยศฆ่าตาย ส่วนแม่นางฉางเอ๋อ ได้ดื่มน้ำอมฤตเพื่อที่จะมีชีวิตอมตะ แล้วเหาะกลับไปยังดวงจันทร์อีกครั้งตามลำพังด้วยความเศร้าโศกเสียใจ

          ต่อมากษัตริย์ฮั่นเหวินตี้ แห่งราชวงศ์ฮั่น พระองค์ได้ทรงพระสุบินว่า พระองค์ลอยขึ้นไปเที่ยวชมพระราชวังบนดวงจันทร์ และได้พบกับฉางเอ๋อที่กำลังร่ายรำอยู่อย่างงดงามในสุบินนั้น พระองค์ทรงเพลิดเพลินและเกษมสำราญเป็นอย่างยิ่ง กระทั่งเมื่อตื่นพระบรรทมและโปรดให้สุบินนั้นเป็นความจริง จึงมีรับสั่งให้นางสนมแต่งตัวและร่ายรำเลียนแบบเทพธิดาฉางเอ๋อที่พระองค์ทรงได้พบเจอมา

          จากนั้นมา การร่ายรำแบบนี้ก็แพร่หลายไปสู่ราษฎรและเป็นประเพณีมาตั้งแต่บัดนั้น โดยหญิงสาวชาวจีนในยุคนั้น จะนิยมสวดขอพรจากเทพธิดาฉางเอ๋อ เพื่อให้มีความเยาว์วัยและงดงามตลอดไปดุจดั่งแม่นางฉางเอ๋อ

 

ตำนานกระต่ายบนดวงจันทร์

          อีกตำนานก็คือ ตำนานกระต่ายบนดวงจันทร์ ตามตำนานเล่าว่า เมื่อครั้งในอดีต เมืองปักกิ่ง ได้เกิดโรคระบาด ผู้คนล้มตายกันทั่ว เมื่อเทพธิดาฉางเอ๋อ เทพแห่งพระจันทร์ ได้มองลงมาเห็น ก็รู้สึกทุกข์ใจเป็นอย่างมาก จึงส่งกระต่ายหยก ที่มีหน้าที่ตำยาอยู่บนดวงจันทร์ ให้ลงมารักษาโรคชาวบ้าน กระต่ายหยกแปลงกายเป็นหญิงสาวออกรักษาผู้คนให้หายจากโรค ชาวบ้านรู้สึกซาบซึ้งใจในความช่วยเหลือ นับแต่นั้นมาชาวบ้านจึงได้กราบไหว้บูชาเทพเจ้ากระต่ายในวันไหว้พระจันทร์

 

ตำนานกำเนิดขนมไหว้พระจันทร์

          นอกจากตำนานเทพธิดาฉางเอ๋อเหินสู่ดวงจันทร์ และ ตำนานกระต่ายบนดวงจันทร์แล้ว ยังมีตำนานของ ขนมไหว้พระจันทร์ โดยความเป็นมาของขนมไหว้พระจันทร์ ( Moon Cake ) เกิดขึ้นมาแล้วประมาณ 600 ปีก่อน ในยุคปลายราชวงศ์หยวน ( Yuan dynasty ) จักรพรรดิแห่มองโกล ได้เข้ายึดครองแผ่นดินจีนและปกครอง ชาวจีนอย่างกดขี่ และ เข้มงวด ชาวจีนกลุ่มหนึ่ง จึงต้องการก่อกบฎต่อต้าน ด้วยการแอบสอดสาส์นไว้ในขนมชิ้นนี้ แล้วนำไปแจกจ่ายให้กับทุกบ้าน ในสาส์นมีข้อความว่า “คืนนี้ในเวลายาม 3 จงสังหารทหารมองโกลพร้อมกัน” อันนำมาซึ่งเอกราชของชาวฮั่น จนกลายเป็นประเพณีการรับประทานและไหว้ขนมไหว้พระจันทร์ ที่สืบต่อกันมาเรื่อย ๆ ตั้งแต่สมัยนั้น มาจนถึง ปัจจุบัน เพื่อระลึกถึงบรรพบุรุษชาวจีนผู้กล้าหาญ ที่ช่วยกอบกู้เอกราชได้นั่นเอง 

          และทั้งหมดนี้ก็เป็นเพียงแค่ตำนานส่วนหนึ่งที่เรานำมาให้ทุกคนได้อ่าน ทั้งนี้ทั้งนั้น เรื่องราวเหล่านี้ถูกเล่าขานต่อกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่มีใครรู้ที่มาจริงๆว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นเป็นเช่นไร อย่างไรก็ตาม อาจต้องใช้วิจารณญาณในการอ่านด้วย

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

wikipedia

taiwantourism

ประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube