แพทย์จุฬาฯ ชี้ “โรคใหลตาย” ภัยเงียบที่ชายไทยไม่ควรมองข้าม
แพทย์ จุฬาฯ เผยคนไทยจำนวนมากมียีนโรคใหลตาย พบในชายมากกว่าหญิง แนะผู้มีประวัติครอบครัว “หลับไม่ตื่น” สังเกตอาการเสี่ยง และตรวจวินิจฉัยเพื่อรักษาแต่เนิ่นๆ
ศาสตราจารย์ นพ.อภิชัย คงพัฒนะโยธิน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวถึงความสำคัญของการวิจัยโรคใหลตายซึ่งเกิดคณะทำงานวิจัย Thai BrS เกี่ยวกับ Brugada syndrome (BrS) โดยจุฬาฯ เป็นแกนหลักในการทำวิจัยภายใต้ความร่วมมือระหว่าง 15 สถาบันในประเทศไทย
โรคใหลตาย ” (Brugada syndrome) คือ การเสียชีวิตขณะนอนหลับ พบมากในประชากรชายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในส่วนประเทศไทย พบอัตราผู้เป็นโรคนี้มากที่สุดในภาคอีสานและภาคเหนือ โรคนี้มักเกิดกับชายหนุ่มร่างกายปกติแข็งแรง โดยจะหลับและละเมอก่อนจะเสียชีวิต
ผู้ที่เป็นโรคใหลตายมีอาการแตกต่างกัน หรือบางรายอาจไม่มีอาการอะไรเลย ซึ่งทำให้ไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคนี้ ทั้งนี้ การวินิจฉัยโรคใหลตายในปัจจุบันใช้วิธีการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram – ECG) อย่างไรก็ตาม คนไข้ที่เป็นโรคใหลตายจะมีความเสี่ยงเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะรุนแรงจนทำให้เสียชีวิตจากโรคใหลตาย
โรคใหลตายพบมากในหมู่คนเอเชีย โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ประเทศไทยโดย และประเทศจีนตอนล่าง โดยอัตราการเกิดโรคในประเทศไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือ 1 ใน 1,000 คน ในขณะที่ประเทศอื่นๆ อัตราการเกิดโรคอยู่ที่ 1 ใน 2,000 คน
สาเหตุของการเกิดโรค พบได้ 2 สาเหตุหลัก คือ พันธุกรรม และ สาเหตุที่ไม่ใช่ส่วนของพันธุกรรม ซึ่งเกิดจากมีปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะนำไปสู่การเสียชีวิต อย่างไรก็ตามพบว่า เพศชายมีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าเพศหญิง
ศ.นพ.อภิชัย กล่าวถึง สัญญาณ เสี่ยง ของการเป็น โรคใหลตาย ว่าชายไทยมีความเสี่ยงเป็นโรคใหลตาย แต่การตรวจคัดแยกชายไทยทั้งหมดเพื่อค้นหาความเสี่ยงในการเป็นโรคนี้เป็นเรื่องยาก ฉะนั้นจึงแนะให้เฉพาะผู้ที่มีสัญญาณเสี่ยง มาพบแพทย์เพื่อตรวจคลื่นหัวใจ โดยสามารถประเมินความเสี่ยงเบื้องต้น ดังนี้ 1. มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคใหลตาย หรือเสียชีวิตจากการนอนหลับอย่างกะทันหันโดยไม่ทราบสาเหตุ 2.เคยมีอาการเป็นลมโดยไม่ทราบสาเหตุ 3.มีความผิดปกติเวลานอนหลับ ตื่นขึ้นมาตอนเช้ามีอาการมึนงง เบลอๆ เหมือนกับสมองขาดเลือด
เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคใหลตาย คนไข้ควรหลีกเลี่ยงหลีกเลี่ยงกลุ่มยาที่มีกลไกการออกฤทธิ์ลดการทำงานของ Sodium channel หากไม่สบายเป็นหวัดและมีไข้ ต้องกินยาลดไข้ พยายามอย่าให้ไข้สูง ไมควรดื่มแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มมึนเมาหรือสารเสพติดทุกชนิด หลีกเลี่ยงอาหารมื้อหนักที่มีคาร์โบไฮเดรตและให้พลังงานสูง
ปัจจุบัน ยังไม่มียารักษาโรคใหลตาย แต่หากพบว่ามีความเสี่ยง แพทย์จะให้การรักษาตามอาการแบบประคับประคอง ได้แก่ การฝังเครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติ หรือ การจี้หัวใจ ซึ่งเป็นการรักษาที่ได้ผลดี โดยในปัจจุบัน จุฬาฯ เป็นผู้นำในการใช้การจี้หัวใจด้วยคลื่นวิทยุความถี่สูง (Radiofrequency Ablation – RFA) กับคนไข้ที่มีภาวะหัวใจห้องล่างเต้นพลิ้ว (Ventricular Fibrillation) จากโรคนี้
สำหรับผู้สนใจเข้ารับการตรวจวินิจฉัยความเสี่ยง “โรคใหลตาย” และรับคำปรึกษาในแนวทางการรักษา สามารถติดต่อได้ที่ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการวิจัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย [email protected]