Home
|
ไลฟ์สไตล์

เข้าใจ โรคแพนิค (Panic Disorder) สาเหตุเกิดจากอะไร และ ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค

Featured Image

          “แพนิคไปเองหรือเปล่า?” “คิดไปเอง สงบสติอารมณ์บ้างสิ” คำพูดติดปากของใครหลาย ๆ คน ที่มักจะพูดถึงเวลาที่รู้สึกว่าคนรอบข้างมีอาการหวาดกลัว กังวล หรือแสดงอาการตื่นตระหนกให้เห็น แต่คุณรู้ไหมว่า คำว่าแพนิคนั้น แท้จริงแล้ว คืออะไรกันแน่ ?

          โรคแพนิค  (Panic Disorder) หรือเรียกอีกชื่อว่า “โรคตื่นตระหนก” เป็นโรควิตกกังวลโดยไม่มีเหตุผลหรือหาสาเหตุไม่ได้ โดยโรคนี้เกิดจากระบบประสาทอัตโนมัติ (Automatic Nervous System) ทำงานผิดปกติ แม้ว่าอาการของโรคนี้จะไม่รุนแรงถึงขั้นอันตรายต่อชีวิต แต่ก็ควรได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง และถูกวิธีเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้ ซึ่งในบทความนี้เราจะพาทุกคนมารู้จักกับสาเหตุ อาการ ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคแพนิคให้มากยิ่งขึ้น

โรคแพนิค คืออะไร?

           โรคแพนิค (Panic Disorder) จัดเป็นโรคทางระบบประสาทชนิดหนึ่ง ผู้ที่เป็นมักมีอาการวิตกกังวลสุดขีด หรือมีความกลัว ความอึดอัด ไม่สบายอย่างรุนแรง มีความตื่นตระหนกเป็นอย่างมาก แบบไม่คาดคิดมาก่อน สามารถเกิดขึ้นซ้ำ ๆ จนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน อาการนี้ของคนที่เป็นโรคนี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายในเวลา 10 นาที คงอยู่สักระยะหนึ่ง แล้วค่อย ๆ ทุเลาลง หลังอาการแพนิคทุเลาลงแล้ว ผู้ป่วยมักรู้สึกอ่อนเพลียไม่ค่อยมีแรง

 

โรคแพนิค เกิดจากสาเหตุอะไร?

          โดยโรคแพนิคเกิดจากการที่ระบบประสาทอัตโนมัติ (Automatic Nervous System) ทำงานผิดปกติ สามารถเกิดขึ้นได้ในคนทั่วไป และเกิดจากหลายสาเหตุ  เช่น ความเครียดสะสม ความกังวล พฤติกรรมหลายอย่างในชีวิตประจำวัน เป็นส่วนหนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดอาการแพนิคได้ และในบางกรณี อาจจะเคยมีอดีตที่ฝังใจมาก ๆ เคยอกหัก สูญเสีย หรือมีเรื่องที่ทำให้กระทบจิตใจอย่างรุนแรงมาก่อน นอกจากนี้อาจเกิดจากกรรมพันธุ์ การใช้สารเสพติด ความผิดปกติของฮอร์โมน อีกด้วย

 

อาการของ โรคแพนิค เป็นอย่างไร?

          สำหรับอาการของโรคแพนิค ที่เด่นชัด มักแสดงออกโดยมีอาการใจสั่น หัวใจเต้นแรงและเร็ว เหงื่อออกผิดปกติ โดยไม่มีสาเหตุ หวาดกลัว หรือ รู้สึกกลัวไปหมดทุกอย่าง โดยเฉพาะเรื่องของความตาย หรือกลัวการสูญเสีย รู้สึกตัวชา ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ และไม่สามารถอยู่คนเดียวได้ ซึ่งถ้าคุณมีอาการเหล่านี้โดยไม่มีเหตุผล ควรปรึกษาแพทย์ทันที เพราะเนื่องจากอาจเสี่ยงเป็นอาการของโรคแพนิคหรือโรควิตกกังวลได้

ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรคแพนิค

  • อาจเกิดจากสมองส่วนควบคุมความกลัวที่เรียกว่า “อะมิกดาลา” (Amygdala) ทำงานผิดปกติ
  • กรรมพันธุ์ คนที่มีญาติหรือประวัติครอบครัวเป็นโรคแพนิค มีแนวโน้มเป็นได้มากกว่าคนทั่วไป
  • การใช้สารเสพติด
  • ความผิดปกติของฮอร์โมน อาจทำให้สารเคมีในสมองเสียสมดุลได้
  • มีประสบการณ์ เคยผ่านเหตุการณ์เลวร้ายในชีวิต
  • พฤติกรรมต่าง ๆ ที่เป็นตัวกระตุ้น เช่น ทำงานกับคอมพิวเตอร์และมือถือนานๆ เผชิญความกดดัน อยู่ในสภาวะที่เร่งรีบ เครียดวิตกกังวล ไม่ออกกำลังกาย พักผ่อนน้อย
  • เครียดสะสม เกิดจากการใช้ชีวิตอย่างจริงจัง เคร่งเครียด อยู่ในสภาวะกดดันเป็นประจำ

 

โรคแพนิค ไม่อันตรายแต่ควรรักษา

          โรคแพนิค ไม่ได้เป็นที่โรคร้ายแรง หรือทำให้มีอันตรายถึงชีวิต สามารถรักษาได้ด้วยการทานยา เพื่อปรับสมดุลของสารเคมีในสมองที่ผิดปกติ และเพื่อการรักษาที่ได้ผลดีนั้นจะต้องมีการรักษาทางจิตใจควบคู่ไปด้วย ด้วยการปรับแนวคิดและพฤติกรรมของผู้ป่วย รวมถึงคนรอบข้าง คนใกล้ชิด ควรทำความเข้าใจกับโรคนี้ โดยการศึกษาวิจัยพบว่าการรักษาด้วยยาควบคู่ไปกับการรักษาทางด้านจิตใจ เป็นการรักษาที่ได้ผลดีที่สุด

          หากใครที่คิดว่าตนมีอาการแพนิค ควรปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชทันที และที่สำคัญเลยก็คือ ผู้ที่กำลังเผชิญกับโรคนี้อยู่ ควรมีสติอยู่เสมอ หากอาการตื่นตระหนกนั้นเกิดขึ้นอย่างกระทันหัน ควรหา วิธีรับมือ ที่สามารถช่วยลดความเครียด ความวิตกกังวลนี้ 

          นอกจากวิธีการรับมือแล้ว ผู้ป่วยควรอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข และ กำลังใจในครอบครัวนั้นก็เป็นสิ่งสำคัญ ควรเข้าใจและปลอบโยนมากกว่าการตั้งคำถามว่า “ทำไมถึงเป็นได้” เพื่อให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้นมีคุณภาพชีวิตที่สงบสุขและปลอดภัย

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

sikarin

thainakarin

โรงพยาบาลรามคำแหง

โรงพยาบาลเปาโล

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube