ลูกไม่มีสมาธิ สนใจอะไรได้ไม่นาน ทำการบ้านได้แปปเดียว ลูกหยุดนิ่งไม่ได้ ปัญหาใหญ่ที่พ่อแม่เกือบทุกคนต้องเจอ และปัญหาลูกไม่มีสมาธินี้เองที่สร้างความกังวลให้พ่อแม่เป็นอย่างมาก วันนี้เราได้รวบรวมและสรุปผลวิจัย ผลการศึกษาที่เกี่ยวข้องมาเป็น 7 เหตุผลว่าทำไมลูกของเราถึงไม่มีสมาธิ พร้อมแนวทางการแก้ไขปัญหา ไปอ่านพร้อมๆกันเลย
ปัญหาสมาธิสั้นในเด็ก
เข้าใจก่อนว่านี่เป็นปัญหาที่พ่อแม่เกือบทุกคนต้องเจออยู่แล้ว กับการที่ลูกตัวน้อยของเราไม่ค่อยมีสมาธิจดจ่อกับอะไรได้นาน บางครั้งก็เป็นพฤติกรรมของเด็กเท่านั้น บางครั้งก็เป็นเพราะปัจจัยต่างๆ หรือบางทีก็เกี่ยวกับอาการของโรคสมาธิสั้น (Attention Defictit Hyperactivity Disorder หรือ ADHD) อย่างไรก็ตามไม่ว่าปัญหาสมาธิสั้นจะเกิดจากอะไรก็สามารถปรับและแก้ไขได้โดยเริ่มจากตัวพ่อแม่เอง
รู้ได้อย่างไรว่าลูกเรากำลังขาดสมาธิ
เริ่มจากลองสังเกตลูกของเราว่ามีอาการเหล่านี้หรือไม่
- ลูกของเราเสียสมาธิง่ายมาก
- อยู่ไม่สุข ขยับนู่นขยับนี่ตลอดเวลา
- ลูกไม่สามารถจัดระเบียบ จัดการกับสิ่งต่างๆได้
- ลูกไม่สามารถปฏิบัติตามคำแนะนำได้
- มีปัญหาที่โรงเรียน เช่น ไม่ทำการบ้าน ไม่ให้ความร่วมมือ มีปัญหาที่เกี่ยวกับสมาธิที่โรงเรียน
- ลูกมักจะมีอารมณ์หงุดหงิดหรือมีพฤติกรรมที่ก้าวร้าว
- ลูกมักไม่ค่อยรักษาหรือถนอมน้ำใจกับเพื่อนในวัยเดียวกัน
สาเหตุของปัญหา
หากสังเกตแล้วลูกของเรามีอาการหรือพฤติกรรมข้างต้น 7 เหตุผลนี้อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกของเราขาดสมาธิ
1.สิ่งที่ทำอยู่ยากเกินไป
ปัจจุบันพ่อแม่หลายคนพยายามเสริมทักษะให้กับลูก แต่ในบางครั้งตัวพ่อแม่เองก็ลืมที่จะประเมินกำลังของลูกในแต่ละวัย อย่าลืมว่าเด็กทุกคนไม่เหมือนกัน บางทีสิ่งที่เราให้ทำ สิ่งที่เด็กกำลังทำอยู่นั้นอาจจะยากเกินไป เด็กรู้สึกว่ามันยากเกินกว่าความสามารถของตัวเอง จนรู้สึกว่าไม่อยากทำ เลยหมดความสนใจ ไม่มีสมาธิกับสิ่งนั้น และล้มเลิกไปทำงานอื่นในที่สุด
หากเจอปัญหานี้ สิ่งที่พ่อแม่ควรทำคือ แบ่งสิ่งนั้นให้เป็นงานเล็กๆ ให้ง่ายมากขึ้นสำหรับลูกของเรา เช่น อยากให้ลูกบวก ลบ เลขง่ายๆได้ ก็ให้เขาบวกเลขให้ได้ก่อนค่อยๆไปที่ละขั้น พร้อมดูแลให้คำแนะนำให้กำลังใจอย่างใกล้ชิด
2.มีสิ่งรบกวนอยู่ใกล้ตัวลูก
เด็กๆนั้นมีความอยากรู้อยากเห็นตามธรรมชาติ แต่ในขณะเดียวกันการศึกษาชี้ว่า เด็กๆมักไม่ค่อยกระตือรือร้นหรือสนใจที่จะทำอะไรเพียงอย่างเดียวในเวลาเดียวกัน พวกเขามีแนวโน้มที่จะหลุดสมาธิได้ง่ายเมื่อมีอะไรเกิดขึ้น เช่น ทีวี วิทยุ มือถือ หรือแม้กระทั่งอะไรก็ตามที่เกิดนอกหน้าต่าง
สิ่งที่ทำได้ดีที่สุดสำหรับปัญหานี้คือจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะกับการเรียนรู้ ให้เหมาะกับสิ่งที่เด็กต้องทำ ให้ห้องนั้นไม่มีสิ่งรบกวนต่างๆที่จะมาดึงสมาธิของเขาได้
3.ลูกอาจจะกำลังเรียกร้องความสนใจ
ธรรมชาติสร้างวิธีการสื่อสารมาตั้งแต่เราเกิด หากมองย้อนไปในตอนเด็ก การร้องไห้ก็เป็นการสื่อสารเพื่อเรียกร้องความสนใจ เมื่อโตขึ้นมา นอกจากจะร้องไห้แล้ว ความดื้อ ความซน การอยากเข้าหา เรียกหาพ่อแม่ก็เป็นวิธีการสื่อสารเช่นกัน พฤติกรรมนี้หลายคนอาจจะมองว่าลูกทำตัวไม่ดี แต่ในอีกมุมอาจจะเป็นที่ตัวพ่อแม่เองที่ปล่อยให้ลูกต้องทำอะไรคนเดียว อาจจะเป็นเพราะพ่อแม่ไม่มีเวลาให้ อย่าลืมว่าแม้กระทั่งตัวเราเองก็อยากได้รับความสนใจจากใครสักคน ลูกก็เช่นกัน
ปัญหานี้แก้ได้ด้วยการให้เวลากับลูกของเราทุกวัน และต้องใช้เวลานั้นอย่างมีคุณภาพ ให้ความรัก ความเอาใจใส่ ให้กำลังใจ วิธีนี้จะทำให้พวกเขามีโอกาสน้อยลงที่จะเสียสมาธิกับสิ่งที่ทำอยู่ ได้รู้ปัญหาที่เขาเจอ นอกจากนี้ยังช่วยเสริมความมั่นใจให้เด็กกล้าทำสิ่งต่างๆมากขึ้น และสิ่งนี้จะส่งผลดีระยะยาวอีกด้วย
4.สารอาหารไม่เพียงพอ
อาหารเช้าสำคัญที่สุด นี่คือสิ่งที่ใช้ได้กับทุกเพศทุกวัย ในปัจจุบันมีพ่อแม่หลายคนต้องให้ลูกทานอาหารง่ายๆบนรถระหว่างกำลังไปส่งที่โรงเรียน หลายครั้งที่อาหารนั้นไม่มีประโยชน์ ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการต่อลูกเลย การศึกษาส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่านี่เป็นสาเหตุหลักของการที่ลูกไม่มีสมาธิ รวมถึงอาการหงุดหงิดต่างๆที่เกิดขึ้นด้วย
วิธีแก้คือให้ลูกรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่เหมาะสมตามช่วงวัย ให้ทานมื้อเช้าเป็นประจำ ห้ามให้ลูกข้ามมื้อเช้าโดยเด็ดขาด
5.นอนหลับไม่เพียงพอ
การนอนหลับที่เพียงพอจะทำให้สมองหลั่งสารเคมีที่จำเป็นต่อร่างกาย ทำให้ร่างกายได้ซ่อมแซมตัวเอง เด็กๆควรได้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพออย่างน้อยแปดถึงสิบสองชั่วโมงทุกคืน ไม่เช่นนั้นจะส่งผลต่อสมาธิของตัวเด็ก ส่งผลต่อทักษะในการตัดสินใจต่างๆ ที่จะทำได้แย่ลง
คำแนะนำสำหรับปัญหานี้คือ พยายามให้ลูกเข้านอนเป็นเวลา นอนหลับเพียงพอ อย่าพยายามปล่อยให้เขานอนดึก และให้แน่ใจว่าการนอนของลูกนั้นมีประสิทธิภาพ คือนอนหลับสนิท ไม่ตื่นกลางดึก นอนหลับสบาย
6.ปัญหาครอบครัว
ปัญหาครอบครัวนั้นส่งผลอย่างมากต่อสมาธิของเด็ก นอกจากนี้ยังส่งผลต่อพฤติกรรมที่แสดงออกมาด้วย จากการศึกษาพบว่าครอบครัวที่มีปัญหาเช่น ทะเลาะกันบ่อยครั้ง เด็กจะรู้สึกไม่สบายใจ และรู้สึกว่าการทำอะไรสักอย่างเป็นเรื่องที่ยากสำหรับเขา
ปัญหาครอบครัวเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ พยายามพูดคุยกันด้วยเหตุผล ไม่ใช้ความรุนแรง หลีกเลี่ยงการให้ลูกเห็นเพราะจะส่งผลเสียต่อเขาได้
7.ปัญหาการเรียนรู้ที่มาจากโรค
เด็กบางคนมีปัญหาสมาธิสั้น ปัญหาการเรียนรู้จากโรคต่างๆเช่น โรคสมาธิสั้นหรือ ADHD จากการสำรวจของกรมสุขภาพจิตในปี 2559 พบว่า เด็กอายุ 6-15 ปีทั่วประเทศพบว่าเป็นโรคสมาธิสั้นราวๆ 420,000 คน พบในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง 4 – 6 เท่า เฉลี่ยในห้องเรียน 40 คน จะมีเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นราวๆ 2-3 คน
สำหรับปัญหานี้แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อได้รับการวินิจฉัยและดำเนินการรักษาอย่างถูกวิธี
สรุปปัญหาสมาธิสั้นในเด็กเป็นพฤติกรรมที่พบเห็นได้เป็นธรรมชาติเนื่องจากความอยากรู้อยากเห็นประกอบกับปัญหาหรือปัจจัยรอบๆตัวเด็ก สิ่งที่พ่อแม่ควรทำเมื่อพบเจอปัญหาคือการดูแล พูดคุยอย่างใกล้ชิด
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
ขอขอบคุณข้อมูลจาก