เรื่องน่ารู้สำหรับสาวก ‘ก๋วยเตี๋ยว’ กินบ่อยเกินไปเสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพ
อาหารที่มักถูกเสนอชื่อมาตอนคิดไม่ออกนอกจากกะเพราก็น่าจะเป็นก๋วยเตี๋ยวนี่แหละ ด้วยความที่หากินได้ง่ายและเป็นอาหารโปรดของหลาย ๆ คน โดยเฉพาะสาวกก๋วยเตี๋ยวที่เรียกได้ว่ากินทุกมื้อ! ร่างกายขาดก๋วยเตี๋ยวไม่ได้ บอกไว้ก่อนว่ากินบ่อย ๆ ก็มีข้อเสียเหมือนกันนะ
สารในก๋วยเตี๋ยวที่พึงระวัง
ก๋วยเตี๋ยวอาหารแสนอร่อยของพวกเรา เบื้องหลังความอร่อยก็มีส่วนผสมของสารที่เรามองไม่เห็นและไม่ได้ระมัดระวังอย่าง สารกันบูด
สารกันบูด คือ วัตถุเจือปนอาหารที่ใช้ถนอมอาหารและยืดอายุในการเก็บรักษา ซึ่งหากรับประทานอาหารที่เจือปนสารกันบูดในปริมาณมาก อาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ อาเจียน ท้องเสีย หรือหมดสติได้
ด้วยความที่เส้นก๋วยเตี๋ยวส่วนใหญ่นั้นทำขึ้นมาจากแป้งข้าวเจ้า มีความชื้นสูง เก็บไว้ได้เพียง 2 – 3 วัน ดังนั้นจึงต้องใส่สารกันบูดไว้ กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดปริมาณที่สามารถใช้ได้ในเส้นก๋วยเตี๋ยวต่าง ๆ อยู่ที่ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และหากใส่เกินปริมาณที่กำหนดไว้จะต้องมีผลตามกฎหมาย แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังคงพบว่าปริมาณสารกันบูดอย่างกรดเบนโซอิกในเส้นก๋วยเตี๋ยวมีปริมาณตั้งแต่ 1,000 – 18,000 มิลลิกรัม
โดยสามารถเรียงปริมาณสารกันบูดในเส้นก๋วยเตี๋ยวจากมากไปน้อยได้ ดังนี้
เส้นเล็ก > เส้นหมี่ > เส้นใหญ่ > เส้นบะหมี่ > วุ้นเส้น
โดยพบว่าในเส้นบะหมี่และวุ้นเส้นนั้นไม่พบปริมาณสารกันบูด หรือพบในปริมาณที่ไม่เป็นอันตรายหากทานติดต่อกัน แต่ทั้งนี้ในเส้นบะหมี่เอง ก็ยังคงมีสีสังเคราะห์ที่ทำให้การคงอยู่ไว้ของสีเส้น วิธีสังเกตคือหากเส้นก๋วยเตี๋ยวที่เหนียวผิดปกติ กัดขาดจากกันยาก นำลงลวกแล้วน้ำขุ่น สีสดเกินจริง ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ฟันธงได้เลยว่าใส่สารสังเคราะห์แน่นอน
*ไม่เป็นอันตรายในทันที แต่หากสะสมในปริมาณมากเกินไปอาจส่งผลต่อร่างกายในอนาคต*
ถั่วลิสงและพริกป่นเองก็มีโอกาสพบเจอสารอะฟลาท็อกซิน ซึ่งเป็นสารพิษที่เกิดจากเชื้อรา หรือแม้แต่ ลูกชิ้นเด้ง ที่อยู่ในก๋วยเตี๋ยวก็อาจซ่อนสารบอแร็กซ์ไว้เช่นกัน หากรับในปริมาณมาก ๆ อาจส่งผลต่อร่างกาย เช่น ผมร่วง มีอาการคลื่นไส้ ท้องเสีย เป็นต้น หรือแม้แต่หม้อต้มก๋วยเตี๋ยวเอง ก็มีอันตรายของสารตะกั่ว ทางที่ดีควรสังเกตร้านที่ใช้หม้อที่มีรอยต่อเป็นแนวตะเข็บเรียบร้อยไม่ขรุขระ และมีตรามาตรฐานมอก.การันตี หรืออย่างหมึกกรอบในเย็นตาโฟก็มีการปนเปื้อนของสารฟอร์มาลีนนะ เลือกร้านดีมีชัยไปกว่าครึ่ง
อันตรายหากรับปริมาณสารต่าง ๆ มากเกินไป
อย่าพึ่งตกใจหรือกลัวก๋วยเตี๋ยวกันไปก่อน เพราะการทานต่อครั้งไม่ได้ส่งผลทันที อีกทั้งร่างกายยังคงขับสารบางอย่างออกมาได้ แต่หาก*รับในปริมาณที่มากเกินไปสะสมเป็นเวลานาน*ถึงจะส่งผล ซึ่งอาการส่วนใหญ่จะเป็นดังนี้
- วิงเวียนหรือปวดศีรษะ
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร
- ท้องเสีย
- เป็นโรคที่เกิดจากอาหาร เช่น อาหารเป็นพิษ เป็นต้น
- มีปัญหาเกี่ยวกับตับและไต เช่น มะเร็งตับ
- เป็นภาวะเมทฮีโมโกลบินนีเมีย (Methemoglobinemia) ที่อาจทำให้มีอาการคลื่นไส้ หายใจไม่ออก ตัวเขียว เป็นลม และหมดสติ ซึ่งอันตรายมากหากเกิดในเด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีภาวะซีด หรือผู้ที่เป็นโรคเลือด
- หากร่างกายได้รับสารบอแรกซ์ในปริมาณ 5-15 กรัม ก็อาจทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตได้
อาการเหล่านี้่สามารถเกิดขึ้นได้หากรับในปริมาณที่มากเกินความจำเป็น ดังนั้นควรเลือกร้านที่ปลอดภัยต่อการรับประทาน หรือหลีกเลี่ยงการทานที่บ่อยเกินไปเพื่อลดความเสี่ยงในการสะสมสารเคมีต่าง ๆ ในอาหารได้
แต่ใช่ว่าทุกร้านจะอันตรายไปซะหมด อย่าพึ่งงดรับประทานก๋วยเตี๋ยวกันไปเพราะรสชาติความอร่อยก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินชีวิตของเหล่าสาวกกันต่อ แต่สุดท้ายควรเลือกรับประทานอาหารให้หลากหลายในปริมาณที่พอเหมาะ เพื่อลดความเสี่ยงในการรับสารเคมีต่าง ๆ และส่งผลดีต่อสุขภาพในระยะยาวอีกด้วย
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews
ขอบคุณข้อมูลจาก