8 พฤติกรรมที่ส่งผลให้ประกันรถยนต์ไม่รับเคลม
การทำประกันรถยนต์ถือเป็นแนวทางช่วยกระจายความเสี่ยง โดยมีบริษัทประกันช่วยคุ้มครองเราจากอุบัติเหตุต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเหตุรถชนรถ เหตุการณ์ชนแบบไม่มีคู่กรณี และค่ารักษาพยาบาลเพิ่มเติมจาก พ.ร.บ. แต่คุณรู้หรือไม่ว่า ทางบริษัทประกันสามารถปฏิเสธความรับผิดชอบกับเราได้ หากพิสูจน์ได้ว่าอุบัติเหตุเกิดจากพฤติกรรมที่ขัดต่อเงื่อนไขในกรมธรรม์
รวมพฤติกรรมที่ประกันรถยนต์ไม่คุ้มครอง
เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงการขับขี่รถยนต์ที่ปลอดภัยและคำนึงถึงส่วนรวม บทความนี้จะมาแนะนำกับ 8 พฤติกรรมที่ประกันรถยนต์ปฏิเสธความคุ้มครองกับเราได้ มีอะไรบ้างไปดูกัน!
1. ไม่มีใบขับขี่หรือถูกเพิกถอน
ใบอนุญาตขับขี่ คือเอกสารสำคัญที่ผู้ใช้รถทุกประเภทต้องมี เพื่อใช้ยืนยันความสามารถในการขับขี่ของคุณ เมื่อเกิดอุบัติเหตุ หากบริษัทประกันรถยนต์รู้ว่าตัวผู้ขับขี่โดนเพิกถอนใบอนุญาต หรือไม่มีประวัติการทำใบขับขี่เลย เคสนี้ประกันปฏิเสธความรับผิดชอบได้ตามเงื่อนไขของกรมธรรม์
2. เมาแล้วขับ
เป็นพฤติกรรมที่ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง หากว่ากันด้วยกฎหมาย เมื่อพบปริมาณแอลกอฮอล์เกิน 50 มิลลิกรัมถือว่าเมา เคสนี้ประกันไม่รับผิดชอบแบบเด็ดขาด และต้องโดนดำเนินคดีข้อหาเมาแล้วขับอีกด้วย
3. ใช้รถยนต์ผิดประเภท
การใช้รถยนต์ผิดประเภท ตัวอย่างเช่น ทำประกันในนามรถยนต์ส่วนบุคคล แต่นำรถไปใช้เพื่อการพาณิชย์ รับส่งสินค้า เอาไปขนของ แบบนี้ถือว่าใช้รถยนต์ผิดประเภท และประกันถือว่าเป็นการทำผิดเงื่อนไขมีสิทธิ์ไม่รับเคลม
4. จัดฉากทำลายทรัพย์สินตนเอง
การจัดฉากทำลายทรัพย์สินเพื่อหวังเอาเงินประกัน เป็นพฤติกรรมที่ได้ไม่คุ้มเสีย เพราะบริษัทประกันมีความสามารถในการพิสูจน์เคสเหล่านี้ หากพบว่าจัดฉากจริงประกันจะไม่รับผิดชอบ และอาจถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเป็นรางวัลตอบแทน
5. ใช้รถยนต์ทำสิ่งผิดกฎหมาย
การใช้รถยนต์ทำสิ่งผิดกฎหมาย เช่น ขับรถไล่ชนคนอื่น ในประกอบการโจรกรรม ใช้ขนยาเสพติด เมาแล้วขับ เมื่อเกิดอุบัติเหตุจะไม่ได้รับความคุ้มครองใดๆ จากประกันภัย
6. ใช้รถยนต์ลากจูง
มีคนจำนวนไม่น้อยที่เลือกใช้รถยนต์ส่วนตัวนำไปใช้ลากจูงรถยนต์อีกคันที่มีปัญหาขับต่อไม่ได้ แต่หลายคนอาจไม่รู้ว่า หากรถยนต์ของเราที่เป็นฝ่ายลากจูงแล้วเกิดอุบัติเหตุต่อตัวรถ แบบนี้ประกันถือว่าผิดเงื่อนไข สามารถปฏิเสธความคุ้มครองได้
7. ชนกับรถยนต์ของคนในครอบครัว
ข้อนี้มีทั้งเหตุที่ตั้งใจและเหตุสุดวิสัย แต่ทางบริษัทประกันภัยจะถือว่าอุบัติเหตุรถชนกันในครอบครัว เป็นการชนแบบไม่มีคู่กรณี หากต้องการเคลมทางบริษัทจะให้จ่ายค่า Excess จำนวน 1,000 บาท จึงจะออกใบเคลมให้
8. สลับตัวผู้ขับขี่เมื่อเกิดเหตุ
ข้อสุดท้าย ถือว่าร้ายแรงไม่แพ้ข้ออื่นๆ เพราะการสลับตัวผู้ขับขี่ในที่เกิดเหตุ ถือเป็นเจตนาที่ไม่สุจริต ทางบริษัทประกันภัยสามารถแจ้งความเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย หากพิสูจน์ได้ว่าอุบัติเหตุดังกล่าวมีการสลับตัวกันจริง
แม้ว่าประกันรถยนต์จะถูกออกแบบมาเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้เราเมื่อเกิดอุบัติเหตุ แต่ก็ต้องทำความเข้าใจกับเงื่อนไขต่างๆ ด้วย เพื่อให้คุณได้รับสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสม และที่สำคัญพฤติกรรมที่กล่าวไปข้างต้น มีหลายข้อที่ขัดต่อกฎหมาย ทั้งการใช้รถกระทำผิดกฎหมาย การเมาแล้วขับ จัดฉากทำลายทรัพย์สิน และการสลับตัวคนขับในที่เกิดเหตุ ซึ่งเป็นการกระทำที่ได้ไม่คุ้มเสีย ฉะนั้นควรคำนึงทำความถูกต้องและความปลอดภัยในการใช้รถยนต์อยู่เสมอ