Home
|
ไลฟ์สไตล์

แนะนำ 7 แอปพลิเคชันสุขภาพจิต เยียวยาใจโดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปพบแพทย์

Featured Image

          เครียด เหนื่อย เศร้า หรือ มีปัญหาทางใจ มาทางนี้! ในทุกวันนี้ที่มีเรื่องเครียด บางคนมักจัดการความรู้สึกเหล่านั้นด้วยการปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยาเพื่อรักษาสุขภาพจิต แต่สำหรับคนที่ไม่มีเวลา วันนี้เรามี 7 แอปพลิเคชันที่สามารถช่วยให้คำปรึกษาและฟื้นฟูสุขภาพจิตได้ โดยไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาลให้เสียเวลา

          นอกจากจะเป็นผลดีกับคนที่ไม่มีเวลาแล้ว ยังดีสำหรับผู้ที่กำลังลังเลไม่กล้าที่จะไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลด้วยเหตุผลบางอย่าง คุณสามารถลองโหลดแอปพลิเคชันเหล่านี้ได้ รู้อย่างนี้แล้ว เรามาดูกันว่ามีแอปอะไรบ้างที่สามารถช่วยเยียวยาจิตใจของเราได้บ้าง ถ้าพร้อมแล้วตามไปดูกันเลย ~

1.Ooca

          เริ่มต้นด้วยแอปพลิเคชันแรกอย่าง Ooca เป็นแพลตฟอร์ม Telemedicine หรือปรึกษาสำหรับปัญหาสุขภาพจิต โดยสามารถเลือกนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ได้ สามารถเข้าใช้งานได้ทั้งแอปพลิเคชันและเว็บไซต์ นอกจากนี้ยังสามารถนัดวันเวลาตามความสะดวกของคุณ ซึ่งมีค่าบริการในการปรึกษาเริ่มต้นที่ 450 บาท ต่อ 30 นาที ถือได้ว่าเป็นแอปที่มีความสะดวกเป็นอย่างมาก

 

2.Doctor Anywhere

          การปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยาและรักษาสุขภาพจิตจะไม่เป็นเรื่องยากอีกต่อไปด้วยแอปพลิเคชัน Doctor Anywhere เป็นอีกหนึ่งแอปพลิเคชันที่เป็นตัวเลือกที่ดี ไม่เพียงแต่ปรึกษาปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ได้ แต่ยังสามารถปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตได้อีกด้วย โดยมีแพทย์ให้เลือกมากมาย ไม่ว่าจะปรึกษาเรื่องโรคซึมเศร้าและวิตกกังวล ปัญหาความรุนแรงในวัยเยาว์ ปัญหาชีวิตคู่ ปัญหาในที่ทำงาน และการทำงาน และอื่น ๆ ซึ่งค่าบริการเริ่มต้นเพียง 1000 บาท/ครั้ง

 

3.Chiiwii

          Chiiwii แพลตฟอร์มนี้เป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มที่อยากแนะนำ ด้วยความที่สามารถปรึกษาหมอเฉพาะทางจากแผนกต่าง ๆ แบบออนไลน์ที่แสนสะดวกแล้ว ยังสามารถพบแพทย์ในแผนกสุขภาพจิตได้อีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งแอปที่สามารถปรึกษาทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจเลยทีเดียว นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายยังไม่แพงมากเกินไป และยังประหยัดเวลา ตอบโจทย์ผู้ที่ไม่อยากเดินทางไปโรงพยาบาล

 

4.Daylio Journal

          Daylio Journal เป็นแอปพลิเคชันที่เหมาะสำหรับคนที่กำลังสังเกตและอยากที่จะทำความรู้จักกับตัวเอง ทั้งยังเหมาะสำหรับผู้ที่กำลังทบทวนความรู้สึกของตัวเองที่เกิดขึ้นในแต่วัน เปรียบเสมือนไดอารีเล็ก ๆ ที่บันทึกโดยไม่ต้องพิมพ์เรื่องราวมากมาย ตอบโจทย์ผู้ทำ Mood Tracker ที่ช่วยให้มองเห็นถึงแบบแผนทางอารมณ์ของตัวเอง ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากกับผู้ที่กำลังมีปัญหาทางสุขภาพจิต เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล เป็นต้น

 

5.Well by Samitivej 

          Well by Samitivej เป็นอีกหนึ่งแอปพลิเคชันที่พร้อมบริการด้านการแพทย์รูปแบบใหม่ เพิ่มความสะดวกสบายในการเข้าถึงบริการต่าง ๆ ของโรงพยาบาลได้อย่างรวดเร็ว จึงเป็นอีกตัวเลือกที่สามารถปรึกษาปัญหาทางสุขภาพจิตได้โดยไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล ทั้งยังสามารถเลือกแพทย์ได้มากมาย และยังมีบริการจัดส่งยาให้ถึงที่บ้าน นอกจากนี้ยังมีฟีเจอร์วางแผนสุขภาพสุดล้ำ เช่น บันทึกอารมณ์ประจำวัน เป็นต้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นแอปที่ดีมาก ๆ เลยล่ะ !

 

6.Mental Health Check Up

          Mental Health Check Up เป็นแอปพลิเคชันจากกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข โดยออกแบบเพื่อใช้เป็นเครื่องมือประเมินสุขภาพจิตแบบเบื้องต้นด้วยตัวเอง และคัดกรองความเสี่ยงต่อปัญหาจิตเวช ได้แก่ ความเครียด ภาวะซึมเศร้า ภาวะสมองเสื่อม ความสุข พลังสุขภาพจิต และความฉลาดทางอารมณ์ 

 

7.Alljit

          มาถึงแอปพลิเคชันสุดท้ายแล้ว นั่นคือ Alljit เป็นแพลตฟอร์มรับฟังทุกเรื่องราวปัญหาภายในใจ รวมถึงปัญหาชีวิตที่เป็นกังวล ซึ่งข้อมูลจะถูกเก็บไว้เป็นความลับไม่มีการเปิดเผยตัวตน เพื่อให้ได้ระบายความในใจอย่างไร้ความกังวล เพราะบางเรื่องอาจไม่อยากให้คนใกล้ตัวได้รับรู้ ตอบโจทย์ผู้ที่กำลังหาที่เซฟใจสุด ๆ

          เป็นอย่างไรบ้างกับ 7 แอปพลิเคชันเกี่ยวกับสุขภาพจิตที่ทางเราได้นำมาแนะนำให้ทุกคนได้อ่านกัน แน่นอนว่าแต่ละแอปพลิเคชันจะช่วยทำให้จิตใจของทุกคนนั้นฟื้นฟูเต็มร้อยและผ่านเรื่องยากลำบากในแต่ละวันไปได้อย่างง่ายดายมากยิ่งขึ้น แต่สำหรับใครที่มีอาการทางจิตใจรุนแรง ควรรีบปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทันที และในครั้งหน้า ทางสำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น จะมีบทความอะไรดี ๆ ติดตามไว้ได้เลยนะ และหากใครมีแอปพลิเคชันสุขภาพจิตอื่น ๆ ที่ดีมาแชร์กันได้เลยนะคะ~ 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก

ooca

doctoranywhere

chiiwiidoctor

trueplookpanya

samitivejhospitals

dmh

Alljitblog

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube