Cherophobia โรคกลัวตัวเองมีความสุข
เคยรู้สึกกลัวว่าตัวเองจะมีความสุขไหม? เคยกลัวว่าถ้าชีวิตมีเรื่องดีๆเข้ามาแล้วต้องมีเรื่องแย่ๆตามมาด้วยไหม? หากคุณเคยหรือรู้สึกแบบนี้คุณอาจจะเป็นโรค Cherophobia หรือ โรคกลัวตัวเองมีความสุข
Cherophobia
เป็นอาการความหวาดกลัวที่บุคคลหนึ่งรู้สึกกลัวขึ้นมาอย่างไม่มีเหตุผลว่าตัวเองจะมีความสุข รากศัพท์คำว่า Chero เป็นภาษากรีกแปลว่า ชื่มชมยินดี ส่วนคำว่า phobia หมายถึงภาวะอาการกลัว อาการของคนเป็นโรคนี้คือกลัวที่จะเข้าร่วมกิจกรรม หรืออะไรก็ตามที่จะทำให้มีความสนุกหรือความสุข
เช่นการไปงานสังสรรค์ งานเลี้ยง เที่ยว เล่นกิจกรรม อะไรก็แล้วแต่ก็มักจะมีอาการกลัวขึ้นมาซะแบบนั้น คนที่เป็นโรคนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่เศร้า แต่พยายามหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้เกิดความสุข นอกจากนี้คนที่เป็นโรคนี้มักจะปฏิเสธโอกาสดีๆในชีวิตเพราะกลัวว่าสิ่งไม่ดีจะตามมา
มุมมองต่อความสุขของคนเป็น Cherophobia นั้นมักมองความสุขเป็นสิ่งไม่ดี
- การมีความสุขจะนำพาสิ่งไม่ดีมาให้
- ความสุขจะทำให้เราเป็นคนที่แย่ขึ้น
- การแสดงออกว่ามีความสุขนั้นไม่ดีต่อตัวเองหรือคนรอบตัว
- การพยายามมีความสุขคือสิ่งที่เสียเวลา
ในบทความ Journal of Cross – Cultural Psychology ผู้เขียนได้ตั้งหัวข้อคะแนน Fear of Happiness Scale ไว้ว่า
- ฉันไม่ชอบที่จะมีความสุขมากเกินไป เพราะโดยปกติความสุขมักจะตามมาด้วยความเศร้า
- โชคดีมักตามมาด้วยภัยพิบัติ
- ความสุขที่มากเกินไปมีผลเสียบางอย่างตามมา
จากนั้นเขาขอให้คนที่อ่านลองให้คะแนนความกลัว 1 ถึง 7 ว่าคุณเห็นด้วยหรือคุณมีอาการกลัวความสุขหรือเปล่า ใครสนใจก็ลองไปตามหาอ่านกันได้
Cherophobia เกิดจากอะไร
โรคกลัวตัวเองมีความสุขหรือ Cherophobia นั้นยังไม่มีการศึกษารายละเอียดมากนัก บ้างก็ว่าเกิดจากความเชื่อส่วนบุคคล ความเชื่อที่ว่าความสุขและโชคร้ายเป็นของคู่กัน เลยขอไม่มีความสุขดีกว่า กรณีนี้อาจจะเกิดขึ้นเมื่อใครบางคนเคยประสบกับเหตุการณ์เลวร้าย เหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจในอดีต
คนที่เก็บตัวหรือคนประเภท introvert นั้นมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคกลัวความสุขเนื่องจากความชอบในการทำกิจกรรมคนเดียว คนกลุ่มนี้มักรู้สึกไม่สนุก ไม่สบายใจหากต้องอยู่ในสถานที่ที่มีเสียงดังหรือสถานที่ที่มีผู้คนจำนวนมาก
นอกจากนี้คนที่เป็น Perfectionist ก็มีแนมโน้มที่จะเป็นโรคกลัวความสุขเช่นกัน เพราะการที่ต้องทำอะไรให้สมบูรณ์แบบอาจจะรู้สึกว่าความสุขจะเป็นผลร้ายของตัวเองได้ เช่น ความสุขที่ได้ขี้เกียจ หรือคนกลุ่มนี้มองว่ากิจกรรมบางอย่างนั้นไม่ได้ทำอะไรให้ดีขึ้น ถ้าคุณสงสัยว่าตัวคุณเองมีความเป็น Perfectionist อยู่ไหม ลองอ่านดูได้ที่นี่
รักษาอย่างไร แก้อย่างไรดี
อย่างที่กล่าวไปว่ายังไม่มีการศึกษาอย่างจริงจังเกี่ยวกับโรคนี้โดยการรักษาเลย จะใช้การบำบัดที่คล้ายกับโรคความกลัวอื่นๆมากกว่า
- การบำบัดพฤติกรรมที่เรียกว่า CBT การบำบัดช่วยให้บุคคลรับรู้แนวความคิดที่ผิดพลาดพร้อมปรับและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตามความคิดดังกล่าว
- ผ่อนคลายความเครียด นั่งสมาธิ
- ออกกำลังกาย
- พูดคุยกับนักจิตวิทยา
- พยายามมองโลกในแง่บวกเพื่อปรับความคิดว่าความสุขไม่ได้มีผลร้ายตามมา
เช่นเดียวกับโรคความกลัวทั่วๆไป หากมันจะร้ายแรงจนส่งผลกระทบกับชีวิตประจำวันก็ควรเข้าพบแพทย์หรือคนที่เชี่ยวชาญเพื่อทำการรักษา แต่โดยปกติแล้วคนทั่วไปมักมีความกลัวเพียงเล็กน้อยและไม่ได้กระทบอะไรมาก อีกทั้งบางคนรู้สึกว่าการทำแบบนี้ทำให้ตัวเองสบายใจแล้วและมีความสุขมากกว่าอีก
ความกลัวเป็นสิ่งที่ทุกคนนั้นมีอยู่แล้ว แม้อาจจะต้องใช้เวลา แต่สักวันก็ขอให้ทุกคนก้าวผ่านความกลัวไปได้ในที่สุด
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news