“การนอนกรน” อาการที่พบได้ในทุกเพศ ทุกวัย เกิดได้จากหลายสาเหตุ ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของแต่ละบุคคล หลายคนคิดว่าการนอนกรนเป็นเรื่องธรรมดาที่ใคร ๆ ก็เป็นกัน อาจส่งผลกระทบต่อคนรอบข้างในเรื่องเสียงบ้างแต่ไม่ใช่เรื่องร้ายแรงอะไร
แต่รู้หรือไม่ว่า หากนอนกรนเป็นประจำ หรือมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea, OSA) ร่วมด้วยนั้น สามารถก่อให้เกิดความผิดปกติอื่นตามมาจนถึงแก่ชีวิตได้ ในบทความนี้ ทางสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. จะพาไปทำความรู้จักกับอาการนอนกรนให้มากยิ่งขึ้น ทั้งสาเหตุ อาการ และอันตรายที่ไม่ควรมองข้าม
อาการนอนกรนคืออะไร?
อาการนอนกรน คือ ภาวะที่การนอนมีเสียงดังขึ้นขณะหลับ ซึ่งเกิดจากการหย่อนตัวของกล้ามเนื้อเพดานอ่อน คอหอย และลิ้น ที่ในขณะหลับจะคลายตัวและหย่อนลง ทำให้ระบบทางเดินหายใจส่วนบนมีการตีบแคบลงจึงเกิดเป็นเสียงกรนขึ้น
นอนกรนเกิดจากอะไร?
อาการนอนกรน เกิดจากการหดตัวและสั่นสะเทือนของเนื้อเยื่อในช่องปากและคอ เมื่ออากาศผ่านทางเดินหายใจที่แคบลงจะกลายเป็นเสียงดังออกมานั่นก็คือเสียงกรนนั่นเอง อีกทั้งการนอนกรนยังสามารถเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ได้ เช่น
- มีน้ำหนักตัว และดัชนีมวลกายเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐาน
- มีไขมันในช่องคอหนา
- มีสรีระที่ผิดปกติ เช่น ช่องจมูกคด ลิ้นไก่โตกว่าปกติ
- อายุที่เพิ่มมากขึ้น
- มีพฤติกรรมการนอน เช่น นอนหงาย นอนหนุนหมอนที่ไม่เหมาะสม
- มีพฤติกรรมในการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่เป็นประจำ
- มีความเครียด และความเหนื่อยล้าสะสม
การนอนกรนอันตรายไหม?
อาการนอนกรน สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ อาการนอนกรนแบบธรรมดา และอาการนอนกรนแบบอันตราย
การนอนกรนแบบธรรมดา เกิดจากการตีบแคบของช่องทางเดินหายใจเพียงบางส่วน แต่ไม่ได้ปิดสนิททั้งหมด ดังนั้นยังมีอากาศไหลผ่านเข้าสู่ร่างกายเราได้ ไม่ก่อให้เกิดปัญหาอะไร แค่สร้างเสียงดังน่ารำคาญต่อผู้ที่นอนร่วมห้องด้วยเท่านั้น หรืออาจตื่นมาแล้วเจ็บคอ
การนอนกรนแบบอันตราย เกิดจากกล้ามเนื้อในช่องคอมีการหย่อนตัวลงมากขึ้น ช่องทางเดินหายใจที่ตีบแคบ ก็จะแคบลงมาจนปิดสนิท และเมื่อช่องทางเดินหายใจปิดสนิท ก็จะไม่มีอากาศไหลผ่านเข้าสู่ร่างกายเราได้เลย ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea, OSA) ร่วมด้วย สามารถก่อให้เกิดความผิดปกติอื่นตามมาจนถึงแก่ชีวิตได้ การนอนกรนแบบอันตรายจำเป็นที่จะต้องได้รับการรักษาจากแพทย์เฉพาะทาง เพื่อแก้อาการนอนกรน และป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงจากโรคแทรกซ้อนขึ้น
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับคือ?
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea, OSA) เป็นภาวะที่ช่องทางเดินหายใจถูกปิดกั้นอย่างสมบูรณ์ จนอากาศไม่สามารถเดินทางไหลผ่านได้เลย ซึ่งภาวะนี้มีความอันตรายต่อสุขภาพเป็นอย่างมาก
อาการของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
- มีอาการนอนกรนเสียงดังมาก และหยุดหายใจในขณะนอนหลับ
- มีอาการสะดุ้งตื่น จากการสำลัก หรือหายใจติดขัด
- มีอาการเจ็บคอ และปากแห้งหลังตื่นนอน
- มีอาการชัก หรือขยับขาไปมาขณะหลับ
- มีอาการละเมอต่าง ๆ เช่น ละเมอเดิน ละเมอพูด
- มีอาการฝันร้าย ฝันผวา นอนหลับได้ไม่สนิท
- มีอาการนอนกัดฟัน
ปัญหานอนกรนนั้น ไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ ที่ทุกคนจะมองข้าม นอกจากจะรบกวนการพักผ่อนของคนใกล้ชิดแล้ว ยังเป็นการค่อย ๆ บั่นทอนสุขภาพของผู้ที่นอนกรนไปทีละนิดอีกด้วย นอกจากนี้แล้วหากคุณหรือคนใกล้ชิดมีอาการนอนกรนเป็นประจำ หรือ มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย ควรรีบมาพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด เพื่อรับการรักษาให้ทันท่วงที
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews
ขอบคุณข้อมูลจาก : webmd, nksleepcenter, phyathai