ข้อแนะนำสำหรับผู้ปกครอง เราควรปฏิบัติตัวอย่างไร หากพบว่าลูกเป็น LGBTIQAN+
เพราะโลกนี้ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงเพศชายและเพศหญิง LGBTIQAN+ จึงกลายเป็นสิ่งที่ใช้เรียกตัวแทนของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเรื่องเพศและรสนิยมความชอบ ไม่ใช่เรื่องผิดแปลกแต่อย่างใด แต่กลับกัน มันเป็นเรื่องธรรมชาติที่มีสภาพแวดล้อมเป็นปัจจัยเสริมเท่านั้น
เหมือนกับความชอบเรื่องสี อาหาร ฯลฯ จึงไม่ใช่ความผิดปกติของร่างกายหรือจิตใจ แต่เป็นเพียงความแตกต่างที่ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว ดังนั้นไม่ว่าจะมีรสนิยมทางเพศแบบไหน ทุกคนต่างมีสิทธิเท่าเทียมกัน
ซึ่งสังคมปัจจุบันเริ่มให้การยอมรับเรื่องความหลากหลายทางเพศมากขึ้น ผู้คนเริ่มกล้าที่จะยอมรับและเปิดเผยตัวตนกับสังคม แต่กระนั้นด้วยขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมประเพณีที่สืบทอดมา จึงอาจไม่ใช่ทั้งหมดของสังคมที่จะเปิดใจยอมรับ
สำหรับในบางครอบครัวการที่ลูกเดินมาบอกว่าพวกเขาเป็น LGBTIQAN+ ก็ยากที่พ่อแม่บางคนจะยอมรับได้ ในบทความนี้ เราเลยอยากชวนคุณพ่อคุณแม่มาทำความเข้าใจ ความหลากหลายทางเพศ และข้อควรปฏิบัติหากพบว่าลูกเราเป็น LGBTIQAN+
LGBTIQAN+ คืออะไร
สำหรับความหมายของ “LGBTQIAN+” นั้นย่อมาจากคำเรียกเพศวิถีต่างๆ ที่มีความหลากหลาย จากเดิมที่มีตัวอักษร “LGBT” แค่ 4 ตัว แต่ต่อมาได้ใส่ + เข้าไป เพื่อสื่อถึงความหลากหลายที่เพิ่มเข้ามา กระทั่งได้เพิ่มตัวอักษรเข้าไปอีก 4 ตัว กลายเป็น “LGBTQIAN+” ในปัจจุบันนั่นเอง โดย คำย่อในปัจจุบัน มาจากคำดังต่อไปนี้
- L = Lesbian (เลสเบี้ยน) – เพศหญิงที่ชอบและสนใจเพศหญิงด้วยกัน
- G = Gay (เกย์) – เพศชายที่ชอบและสนใจเพศชายด้วยกัน
- B = Bisexual (ไบเซ็กชวล) – กลุ่มที่ชอบได้ทั้งเพศเดียวกันและเพศตรงข้าม
- T = Transgender (ทรานส์เจนเดอร์) – ผู้ที่เพศกำเนิดไม่ตรงกับอัตลักษณ์ทางเพศ
- Q = Queer (เควียร์) – ผู้ที่ไม่ได้จำกัดว่าเป็นเพศใด และต้องรักกับเพศใด
- I = Intersex (อินเตอร์เซ็กซ์) – ผู้ที่มีภาวะเพศกำกวม ระบุเพศไม่ได้ มีลักษณะทางกายภาพแตกต่าง
- A = Asexual (อะเซ็กซวล) – ผู้ที่ไม่มีแรงดึงดูดทางเพศ แต่มีรักโรแมนติกและเพศสัมพันธ์ได้
- N = Non-Binary (นอน-ไบนารี่) – ผู้ที่ไม่ต้องการระบุเพศของตัวเอง ไม่จำกัดอยู่ที่เพศชายหรือหญิง
4 ข้อแนะนำสำหรับผู้ปกครอง ในวันที่ลูกเดินมาบอกว่าตัวเองเป็น LGBTIQAN+
1.ตั้งสติ ใจเย็น ไม่บอกปัด หรือเมินเฉย
การที่ลูกของเราเดินมาบอกกับเราว่า เขาเป็น LGBTIQAN+ คุณอาจจะตกใจเมื่อได้ยินอย่างนั้น แต่ให้คุณคิดไว้เสมอว่า กว่าลูกจะกล้าบอกกับคุณได้นั้น เขาต้องผ่านการคิดใคร่ครวญ ค้นหาตัวเอง สำรวจตัวเองมาระยะหนึ่งแล้วเขาถึงได้มาบอกกับคุณ วิธีที่ดีสุดที่ควรทำ คือ การตั้งสติ ใจเย็น ถามลูกด้วยเหตุและผลถามโดยใช้ความรู้สึก ไม่ใช้อารมณ์ การพูดคุยทำความเข้าใจกันจะนำไปสู่การยอมรับซึ่งกันและกันได้ไม่ยากเลย
2.เคารพการตัดสินใจและยอมรับลูก
ยังมีอีกหลายครอบครัวที่ลูกไม่สามารถสื่อสารกับพ่อแม่โดยตรงได้ การที่ลูกกล้าเปิดใจคุยเรื่องนี้กับคุณแสดงว่าคุณคือ พื้นที่ปลอดภัยสำหรับเขา ซึ่งสิ่งที่พ่อแม่อย่างเราทำได้ก็คือเคารพและยอมรับการตัดสินใจของเขา ไม่เปรียบเทียบ และจงรักเขาให้มากกว่าเดิม
3.หากไม่เข้าใจในสิ่งที่ลูกเลือก ลองศึกษาหาข้อมูล
ถึงแม้ว่าเรื่อง LGBT จะไม่ใช่เรื่องใหม่แล้วในสังคมไทย แต่ก็ไม่ใช่ว่าพ่อแม่ทุกคนจะยอมรับได้ เพราะฉะนั้นหากคุณพ่อคุณแม่ไม่เข้าใจในเพศสภาพที่ลูกเลือก ก็สามารถเข้าไปหาข้อมูลใน google หรือสอบถามจากผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญได้เช่นกัน
4.อยู่เคียงข้างเพื่อสนับสนุน
แม้ว่าสังคมจะเปิดกว้างเรื่องความหลากหลายทางเพศมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันการบูลลี่ หรือรังแกเด็กที่มีความหลากหลายทางเพศ ก็ยังคงมีให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง การได้รับการยอมรับจากพ่อแม่และครอบครัว หรือแม้แต่การที่พ่อแม่คอยสนับสนุนและให้กำลังใจก็อาจเป็นผลดีทำให้คนคนหนึ่งมีความมั่นใจมากขึ้นได้เช่นกัน
ดังนั้นเมื่อลูกเป็น LGBTQ สิ่งที่ควรทำ ไม่ใช่การพาไปหาหมอ แต่คือการทำความเข้าใจและยอมรับในสิ่งที่ลูกเป็น มองในตัวตนของเขามากกว่าเพศสภาพหรือความชอบ สุดท้ายนี้ทางเราหวังว่าข้อมูลข้างต้นจะเป็นประโยชน์กับ พ่อแม่ ผู้ปกครอง ที่กำลังเจอกับสถานการณ์ดังกล่าว และในเดือนแห่งเทศกาลไพรด์นี้ ทาง สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น ก็จะขอเป็นส่วนหนึ่งในการถ่ายทอดเรื่องราว สนับสนุนความหลากหลายทางเพศ การยอมรับในสิทธิเสรีภาพของคนทุกเพศในสังคม
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews
ขอบคุณข้อมูลจาก
thepotential ,istrong ,sosthailand ,คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ,starfishlabz