วันออมสินของไทย
การออมเป็นรากฐานที่สำคัญต่อชีวิต เชื่อว่าในวัยเด็กของใครหลายๆคนถูกสอนให้ออมเพื่อจะได้มีเงินเก็บเมื่อโตขึ้นมา ด้วยความสำคัญของการออมนี้เองทำให้ วันที่ 1 เมษายน ของทุกปึ ถือว่าเป็น วันออมสินของไทย
ที่มาของวันออมสิน
สมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พระองค์ทรงเห็นประโยชน์ของการออม และต้องการให้ประชาชนได้รู้จักการประหยัด จึงทรงริเริ่มจัดตั้งคลังออมสินเพื่อทดลองขึ้นมา ตอนนั้นใช้ชื่อว่า ลีฟอเทีย หลังจากศึกษามาสักระยะ ต่อมาใน พ.ศ. 2456 ทรงจัดตั้ง คลังออมสิน ขึ้นในสังกัดกรมพระคลังมหาสมบัติ กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ และพระราชทานพระบรมราชานุญาตประกาศใช้ “พระราชบัญญัติคลังออมสิน พ.ศ. 2456” ประกาศใช้ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2456
ต่อมาในปี พ.ศ. 2472 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 มีพระราชดำริจะขยายกิจการคลังออมสินให้กว้างขวางขึ้น จึงโอนกิจการคลังออมสิน จากกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ไปสังกัดกรมไปรษณีย์โทรเลข หลังจากโยกย้ายเปลี่ยนแปลงกิจการได้เริ่มแพร่หลาย รู้จักกันมากขึ้นจนเป็นรากฐานการออมที่ประชาชนชาวไทยรู้จักกัน
ช่วงปี พ.ศ 2488 หลังจากที่สงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง ในนั้นรัฐบาลได้เห็นถึงคุณประโยชน์ของการออมทรัพย์และความสำคัญของการออมทรัพย์ว่าจะช่วยในการพัฒนาประเทศ จึงยกฐานะของคลังออมสินเป็นองค์การของรัฐ มีฐานะเป็นนิติบุคคล ดำเนินธุรกิจภายใต้ “พระราชบัญญัติธนาคารออมสิน พ.ศ 2489” ปีต่อมาได้เปลี่ยนชื่อ คลังออมสิน เป็น ธนาคารออมสิน เหมือนที่เรารู้จักกัน
นับตั้งแต่นั้นรัฐบาลกับธนาคารออมสินได้ตั้งนโยบายให้ประชาชนเห็นความสำคัญถึงการออม ที่โดดเด่นที่สุดคือการสนับสนุนให้ออมเงินตั้งแต่ยังเด็ก
วันนี้เราอาจจะเห็นภาพเด็กตัวเล็กๆถือกระปุกออมสินสีชมพูไปธนาคาร ก็อย่าให้แพ้เด็กไม่ว่าโตแค่ไหนการออมก็ยังเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตเสมอ
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news