Home
|
ไลฟ์สไตล์

ส่องกฎหมายเกี่ยวกับสมรสเท่าเทียมแต่ละประเทศทั่วโลก

Featured Image

          เพราะโลกนี้ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงเพศชายและเพศหญิง สิ่งมีชีวิตหลายอย่างบนโลกอย่างสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิดก็สามารถพบความหลากหลายทางเพศได้เช่นกัน ดังนั้นจึงอาจสันนิษฐานได้ว่าเรื่องเพศเป็นสิ่งที่มีความหลากหลายโดยธรรมชาติที่มีมานานแล้ว 

          เพียงแต่ในสมัยก่อน LGBTIQAN+ หรือที่เราเรียกพวกเขาว่า ตุ๊ด เกย์ กะเทย ทอม ดี้ รวมถึงภาพจำที่ว่า ชาย-หญิง ต้องคู่กัน หากแตกต่างจากนั้นจะถือว่าเป็นสิ่งที่แปลก ยังไม่ได้รับการยอมรับในสังคมอย่างกว้างขวางสักเท่าไหร่ แต่ในปัจจุบันสังคมเริ่มให้การยอมรับเรื่องความหลากหลายทางเพศมากขึ้น ผู้คนเริ่มกล้าที่จะยอมรับและเปิดเผยตัวตนกับสังคมมากขึ้น

         และนอกจากความเท่าเทียมทางการแสดงออกถึงตัวตนโดยไม่มีเพศสภาพมาเป็นข้อจำกัดแล้ว ในหลายประเทศกำลังต่อสู่เพื่อความเท่าเทียมเพื่อจะได้สิทธิประโยชน์ทางกฎหมายรองรับอย่างเท่าเทียมเช่นกัน ในปัจจุบันมีหลายประเทศที่ยอมรับและรับรองให้มีการสมรสระหว่างเพศเดียวกันได้ดังนี้

ประเทศเนเธอร์แลนด์

          ประเทศแรกในโลกที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม อนุญาตให้บุคคลเพศเดียวกันมีสิทธิ สมรส หย่า และรับบุตรบุญธรรมได้ โดยรัฐสภาผ่านร่างกฎหมายตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2000 หรือมากกว่า 20 ปีก่อน และมีผลบังคับใช้ในเดือน เม.ย. ปีถัดมา ถือเป็นผู้บุกเบิกการตั้งกฎหมายสมรสเท่าเทียมขึ้นมาเลยก็ว่าได้

ประเทศเบลเยียม

          หลังประเทศเพื่อนบ้านอย่างเนเธอร์แลนด์ประกาศใช้กฎหมายสมรสเพศเดียวกัน ในปี 2003 รัฐสภาเบลเยียม ก็ได้ประกาศอนุญาตให้คู่สมรสเพศเดียวกัน สามารถรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยให้สิทธิเทียบเท่าคู่รักเพศตรงข้ามทุกประการ

ประเทศสเปน

          การผลักดันให้มีกฎหมายสมรสเท่าเทียมเริ่มขึ้นในปี 2004 จนปีถัดมารัฐสภาของได้ผ่านร่างกฎหมายในปลายเดือน มิ.ย. 2005 แลมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในต้นเดือน ก.ค. โดยให้สิทธิทั้งการแต่งงานและการรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมอย่างถูกต้องตามกฎหมาย 

ประเทศแคนาดา

          รัฐสภาแคนาดาได้ปรับเปลี่ยนกฎหมาย ว่าด้วยเรื่องการสมรสของพลเมือง โดยได้เพิ่มการแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกันเข้าไปด้วย และได้รับการรับรองเป็นกฎหมายระดับชาติที่มีผลบังคับใช้ในปี 2005

ประเทศแอฟริกาใต้

          เป็นเพียงประเทศเดียวในแอฟริกา ที่การแต่งงานของ LGBTQ+ ถูกกฎหมาย ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ ในแอฟริกา ออกกฎหมายที่จำกัดสิทธิของกลุ่มเพศหลากหลายอย่างต่อเนื่อง

ประเทศนอร์เวย์

          สมรสเท่าเทียมกลายเป็นเรื่องถูกกฎหมายในนอร์เวย์เมื่อปี 2009 หลังจากถูกเสนอโดยฝ่ายนิติบัญญัติ และหลังประกาศใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียม หนึ่งปีต่อมา โบสท์นิกาย Lutheran ทั่วประเทศก็ได้โหวตให้บาทหลวงในนิกายสามารถดำเนินพิธีแต่งงานให้คู่รักเพศเดียวกันได้ 

ประเทศสวีเดน

          คู่รัก LGBTQ+ ในสวีเดนได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนคู่ชีวิตได้เมื่อปี 1995 แต่เพิ่งมีการเสนอร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมในปี 2009 และบังคับใช้ในวันที่ 1 พ.ค. ปีเดียวกันนั้น

ประเทศโปรตุเกส

          รัฐสภาโปรตุเกสผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมในปี ค.ศ. 2010 และได้ประกาศอนุญาตให้คู่สมรสเพศเดียวกัน สามารถรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมอย่างถูกต้องตามกฎหมายได้ในปี ค.ศ. 2016

ประเทศไอซ์แลนด์

          รัฐสภาไอซ์แลนด์มีมติเป็นเอกฉันท์ เห็นชอบกฎหมายสมรสเท่าเทียมในเดือน มิ.ย. 2010 ภายใต้รัฐบาลของนายกรัฐมนตรี โจฮานนา ซิกูร์ดาร์โดตีร์ ซึ่งหลังจากที่สมรสเท่าเทียมมีผลทางกฎหมาย อดีตนายกรัฐมนตรี โจฮานนา ซิกูร์ดาร์โดตีร์ แต่งงานกับ โยนีนา เลโอซดอตตีร์ เป็นคู่รัก LGBTQ+ คู่แรก ที่แต่งงานภายใต้กฎหมายดังกล่าว

ประเทศอาร์เจนตินา

          บังคับใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมเมื่อ ก.ค. 2010 เป็นประเทศแรกในอเมริกาใต้ที่อนุญาตให้คู่รัก LGBTQ+ แต่งงานกันได้โดยถูกกฎหมาย

ประเทศเดนมาร์ก

          เดนมาร์กนับเป็นประเทศแรกที่รับรองสถานภาพคู่รัก LGBTIQN ในฐานะ Domestic Partners หรือการอยู่กินด้วยกันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยยังไม่ใช่สถานะสมรส ตั้งแต่ปี 1989 ต่อมาในปี 2012 รัฐสภาผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม และได้รับการรับรองจากสมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกเรเธอที่ 2

ประเทศอุรุกวัย

          อุรุกวัยเป็นประเทศแรกในลาตินอเมริกาที่บังคับใช้กฎหมายคู่ชีวิตในช่วงปี 2008 ก่อนที่สมรสเท่าเทียมจะถูกประกาศใช้ เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ก่อนหน้านี้ยอมรับการอยู่กินกันของคู่รักเพศเดียวกัน

ประเทศนิวซีแลนด์

          ร่างกฎหมายสมรสเพศเดียวกัน ได้รับการอนุมัติจากสภาในปี ค.ศ. 2013 ด้วยคะแนนเสียง 77 ต่อ 44 เป็นประเทศแรกในโซนแปซิฟิก

ประเทศฝรั่งเศส

          แม้จะถูกต่อต้านอย่างหนักจากฝ่ายอนุรักษ์นิยมในประเทศ แต่ในปี 2013 ฝรั่งเศสก็สามารถผ่านร่างและบังคับใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมได้ในที่สุด อีกทั้งยังอนุญาตให้คู่รัก LGBTQ+ สามารถรับบุตรบุญธรรมได้ด้วย

ประเทศบราซิล

          สภายุติธรรมแห่งชาติมีมติยอมรับให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถแต่งงานโดยจดทะเบียนสมรสได้ ทำให้บราซิลเป็นประเทศที่สองในอเมริกาใต้ ที่ประกาศผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม

ประเทศสหราชอาณาจักร

          กฎหมายสมรสเท่าเทียมมีผลบังคับใช้ในอังกฤษ เวลส์ และสกอตแลนด์ ตั้งแต่ปี 2014 ในขณะที่ไอร์แลนด์เหนือ สมรสเท่าเทียมถูกกฎหมายในปี 2020

ประเทศลักเซมเบิร์ก

          สมรสเท่าเทียมผลทางกฎหมายตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2015 ภายใต้การสนับสนุนของ ซาเวียร์ เบทเทล นายกรัฐมนตรีของประเทศ และในเวลาต่อมา ซาเวียร์ เบทเทล นายกรัฐมนตรีลักเซมเบิร์ก ได้แต่งงานกับคู่รัก และเป็นคู่รัก LGBTQ+ คู่แรกของประเทศสมาชิก EU

ประเทศสหรัฐอเมริกา

          36 รัฐ และวอชิงตัน ดี.ซี.นำร่องกฎหมายสมรสเท่าเทียมมาตั้งแต่ปี 2003 ก่อนศาลสูงสุดสหรัฐฯ จะตัดสินตามรัฐธรรมนูญ คู่รักเพศเดียวกันควรได้รับสิทธิในการแต่งงาน และทุกรัฐต้องยอมรับการแต่งงานทั้งหมด

ประเทศไอร์แลนด์

          ไอร์แลนด์กลายเป็นประเทศแรกของโลกที่สมรสเท่าเทียมถูกกฎหมาย และผ่านร่างกฎหมายสมรสเพศเดียวกันด้วยการลงประชามติของประชาชนทั่วประเทศเมื่อปี ค.ศ. 2015

ประเทศโคลอมเบีย

          ศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสินว่า การแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกันเป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญ และได้รับการรับรองเป็นกฎหมายในเดือน เม.ย. 2016 ด้วยเสียงโหวตในสภาสัดส่วน 6 ต่อ 3 

ประเทศฟินแลนด์

          รัฐสภาฟินแลนด์ผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมตั้งแต่ พ.ย. 2014 ด้วยคะแนน 101 ต่อ 90 ก่อน เซาลี นีนิสเตอ ประธานาธิบดีฟินแลนด์ จะลงนามในกฎหมายฉบับนี้ในปี 2015 ก่อนจะมีการรับรองสมรสเท่าเทียมอย่างเป็นทางการในปี 2017 ในที่สุด

ประเทศมอลตา

          ในปี 2014 มอลตาได้ประกาศใช้กฎหมายคู่ชีวิตสำหรับรักเพศหลากหลายและคู่รักเพศตรงข้าม โดยตัวกฎหมายให้สิทธิแก่คู่รัก รวมถึงการแต่งงานและสิทธิในการรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน ก่อนที่สมรสเท่าเทียมจะถูกประกาศใช้เป็นกฎหมายในภายหลัง (2017)

ประเทศเยอรมนี

          รัฐสภาโหวตผ่านร่างกฎหมายสมรสของกลุ่มเพศหลากหลายในเดือน มิ.ย. 2017 และได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากสังคม มีผลบังคับใช้ ต.ค. ปีเดียวกันเป็นต้นมา ทำให้เยอรมนีเป็นประเทศแรกของยุโรปกลาง ที่จัดให้สมรสเท่าเทียมถูกต้องตามกฎหมาย

ประเทศออสเตรเลีย

          มีการสำรวจทางไปรษณีย์พบว่า พลเมืองออสเตรเลียส่วนใหญ่สนับสนุนกฎหมายนี้ รัฐสภาจึงลงมติให้การแต่งงานของคนเพศเดียวกันถูกกฎหมาย มีผลบังคับใช้ 9 ธ.ค. 2017 

ประเทศไต้หวัน

          ไต้หวันกลายเป็นประเทศแรกในทวีปเอเชียที่อนุญาตให้คู่รัก LGBTQ+ แต่งงานกันได้อย่างถูกกฎหมาย 

ประเทศออสเตรีย

          ในปี ค.ศ. 2010 ออสเตรียอนุญาตให้คู่รัก Gay และ Lesbian สามารถจดทะเบียนเป็นคู่ชีวิตหรือ Civil Partnership ได้ก่อนที่ในปี ค.ศ. 2019 จะประกาศกฎหมายให้คู่รักเพศเดียวกันมีสถานภาพสมรสได้ 

ประเทศเอกวาดอร์

          มีคู่รักเกย์ฟ้องร้องหน่วยงานภาครัฐที่ห้ามไม่ให้พวกเขาจดทะเบียน นำไปสู่การตัดสินของศาลสูงสุดที่เห็นชอบให้การสมรสเท่าเทียมเป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมาย มีผลตั้งแต่ ก.ค. 2019 แต่การรับบุตรบุญธรรมยังจำกัดเฉพาะคู่รักเพศตรงข้ามเท่านั้น

ประเทศคอสตาริกา

          ประเทศแรกในอเมริกากลางที่อนุญาตให้คู่รัก LGBTQ+ แต่งงานกันได้โดยถูกกฎหมาย

ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

          ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ได้เปิดให้ประชาชนลงมติในปี 2021 ว่าเห็นชอบกฎหมายสมรสเท่าเทียมและการรับเลี้ยงบุตรหรือไม่ โดยผลการลงคะแนน ประชาชน 2 ใน 3 ที่มาใช้สิทธิได้โหวตรับร่างกฎหมายดังกล่าว ทำให้สวิตเซอร์แลนด์กลายเป็นประเทศลำดับที่ 30 ของโลกที่คู่รักเพศเดียวกันสามารถแต่งงานได้ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปี ค.ศ. 2022 เป็นต้นไป 

ประเทศชิลี

          วุฒิสภาชิลีผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียมในปี 2021 ก่อนส่งไปให้สภาผู้แทนราษฎรให้การรับรองในเวลาต่อมา ก่อนสภาแห่งชาติทั้งสองจะอนุมัติฉบับเดียวกันในภายหลัง

ประเทศสโลวีเนีย

          ประเทศสโลวีเนียเป็นประเทศคอมมิวนิสต์แรกในยุโรปตะวันออกที่ประกาศกฎหมายสมรสเท่าเทียม

ประเทศเม็กซิโก

          สมรสเท่าเทียมถูกกฎหมายทั่วประเทศ หลังศาลสูงสุดเม็กซิโกประกาศว่า การจำกัดสิทธิในการแต่งงานของกลุ่มเพศหลากหลายขัดต่อรัฐธรรมนูญ

ประเทศคิวบา

          การเปลี่ยนแปลงที่อนุญาตให้ LGBTQ+ แต่งงานโดยถูกกฎหมายและรับเลี้ยงบุตรได้ เป็นส่วนหนึ่งของการลงประชามติในวงกว้างเกี่ยวกับกฎหมายครอบครัว ด้วยคะแนนเสียง 66.9% ต่อ 33.1%

ประเทศอันดอร์รา

          กฎหมายสมรสเท่าเทียมถูกประกาศโดยเจ้าผู้ครองร่วมอันดอร์รา เอ็มมานูเอล มาครง ในปี 2022 ก่อนจะมีผลบังคับใช้ในปีต่อมา (2023)

ประเทศเอสโตเนีย

          รัฐสภาเอสโตเนียอนุมัติการแต่งงานของคนเพศเดียวกันเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2023 เป็นชาติอดีตสหภาพโซเวียตประเทศแรกและประเทศบอลติกประเทศแรกที่มีกฎหมายนี้ มีผลบังคับใช้ 1 ม.ค. 2024

ประเทศกรีซ

          เมื่อเดือน ก.พ. 2024 รัฐสภากรีซได้อนุมัติกฎหมายสมรสเท่าเทียม และอนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันรับบุตรบุญธรรมได้ ขณะนี้ยังไม่มีผลบังคับใช้ โดยรอประกาศในราชกิจจานุเบกษาอย่างเป็นทางการ

ประเทศไทย

          รัฐสภาได้มีการลงมติเห็นด้วย 400 เสียง ไม่เห็นด้วย 10 เสียง งดออกเสียง 2 ไม่ลงคะแนน 3 เสียง ทำให้กฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านร่าง หลังจากนี้จะเตรียมเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา (สว.) และหากร่างผ่าน จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป ทำให้ประเทศไทยเป็นชาติแรกของอาเซียนที่มีร่างกฎหมายนี้ รวมถึงเป็นแห่งที่ 2 ของเอเชียต่อจากไต้หวัน

          ส่วนกรณีของประเทศ “เนปาล” ที่ก่อนหน้านี้มีรายงานว่า มีคู่รักเพศเดียวกันกันคู่แรกจดทะเบียนสมรสกันได้แล้วนั้น เกิดจากศาลสูงสุดเนปาลออก “คำสั่งคุ้มครองชั่วคราว” ให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนสมรสได้ แต่ยังไม่ได้มีการรับรองกฎหมายสมรสเท่าเทียมอย่างเป็นทางการ

          สุดท้ายนี้ทางเราหวังว่าข้อมูลข้างต้นจะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านทุกคน ซึ่งเรื่องเพศและรสนิยมความชอบ ไม่ใช่เรื่องผิดแปลกแต่อย่างใด แต่กลับกัน มันเป็นเรื่องธรรมชาติที่มีสภาพแวดล้อมเป็นปัจจัยเสริมเท่านั้น

          เหมือนกับความชอบเรื่องสี อาหาร ฯลฯ จึงไม่ใช่ความผิดปกติของร่างกายหรือจิตใจ แต่เป็นเพียงความแตกต่างที่ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว ดังนั้นไม่ว่าจะมีรสนิยมทางเพศแบบไหน ทุกคนต่างมีสิทธิเท่าเทียม และในเดือนแห่งเทศกาลไพรด์นี้ ทาง สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น ก็จะขอเป็นส่วนหนึ่งในการถ่ายทอดเรื่องราว สนับสนุนความหลากหลายทางเพศ การยอมรับในสิทธิเสรีภาพของคนทุกเพศในสังคม

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

ขอบคุณข้อมูลจาก

Human Rights Campaign ,Pew Research Center ,US News ,pptvhd36

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube