เด็กน้อยคนหนึ่งที่เติบโตมาท่ามกลางความรัก ความใส่ใจ การซัพพอร์ตของผู้เป็นพ่อและแม่ ตั้งแต่แบเบาะจนเข้าอนุบาล ประถม มัธยม กระทั่งมหาลัย เด็กน้อยคนนี้ได้รับการใส่ใจไปทุกๆการเติบโต หลังจากใช้เวลาหลายปีไปกับการศึกษา ในที่สุดวันนี้ก็เดินทางมาถึง
“ยินดีด้วยนะบัณฑิต”
เจ้าหน้าที่ทะเบียนมหาวิทยาลัยกล่าวด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้มพร้อมกับยื่นกระดาษหนึ่งแผ่นให้เธอ
เด็กน้อยปรายตามองไปที่กระดาษในมือ ใบหน้าค่อยๆเปลี่ยนสี จากที่นิ่งเฉยกลายเป็นฉีกยิ้ม แววตาที่ว่างเปล่าเปลี่ยนมาสดใส แสดงให้เห็นว่าตัวเธอนั้นมีความสุขอย่างเห็นได้ชัด หลังจากที่ดิ้นรนอยู่ในระบบการศึกษามานานเกือบ 19 ปี ในวันนี้ก็เดินทางมาถึงบทสรุปสุดท้าย กระดาษในมือที่รับรองว่าเธอทำสิ่งนี้เสร็จสิ้นแล้ว ‘จบการศึกษา’
ทว่ายังชื่นชมกับความสำเร็จทางการศึกษาและใบปริญญาได้ไม่เท่าไหร่ ทุกอย่างค่อยๆก่อตัวขึ้น ในหัวของเธอมีคำถามมากมายวนเวียนเต็มไปหมด “แล้วจะเอาไงต่อ?” “หลังจากนี้ทำอะไรดี?” และอีกหลายสิบคำถามที่วิ่งวนอยู่ในหัวของเธอตอนนี้
เพราะหลายปีที่ผ่านมาเธอใช้ชีวิตอยู่กับการเรียนมาโดยตลอด มีเพื่อน มีครอบครัวคอยซัพพอร์ต เมื่อช่วงเวลานั้นสิ้นสุดลง หากต้องรับผิดชอบชีวิตของตนเอง นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เธอรู้สึกเคว้งคว้าง และตั้งคำถามกับตนเองมากมายว่าจะต้องทำอย่างไรต่อไปดี?
เพราะสำหรับบางคน ‘งาน’ ไม่ใช่สิ่งที่จะได้มาง่ายๆ ยื่นใบสมัครไปนับไม่ถ้วนแต่อีเมลปฏิเสธกลับมีมากมายเช่นกัน ดูเหมือนว่าสิ่งที่พยายามมาตลอดก็เริ่มดูไร้ความหมาย ใจของเธอเริ่มถดถอยลงทุกวัน คำถามเกี่ยวกับสิ่งที่เธอวางแผนจะทำหลังจากเรียนจบยังคงไม่ได้รับคำตอบ หรือแม้แต่คำสัญญาที่เธอบอกกับตัวเองอย่างแน่วแน่ว่าจะหางาน ‘ดีๆ’ ให้ได้ก็ดูยังไม่เป็นผล
ความรู้สึกหลายอย่างประดังประเดเข้ามาไม่หยุด ยิ่งเวลาเห็นเพื่อนที่จบมาพร้อมกันชีวิตกำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งทำให้เธอตั้งคำถามกับตัวเองมากขึ้นว่าทำไมจุดหมายปลายของเธอไม่ได้เป็นไปอย่างที่ฝันสักที ทั้งสับสนเคว้งคว้าง เหมือนคนหลงทางที่ไม่รู้จะเดินต่อไปทางไหนดี ซึ่งสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นเหล่านี้อาจเป็นอาการหนึ่งของ Post-Graduation Depression หรือ Post-Graduate Blues ภาวะซึมเศร้าในบัณฑิตจบใหม่ ก็เป็นได้
Post-Graduate Blues : ภาวะซึมเศร้าในบัณฑิตจบใหม่
Post-Graduate Blues หรือ เรียกอีกชื่อว่า Post-Graduation Depression ภาวะนี้เป็นอาการซึมเศร้าและวิตกกังวลสามารถเกิดได้ทั้งก่อนและหลังจบการศึกษา โดย Post-Graduate Blues อาจเกิดขึ้นหลังเรียนจบไม่กี่เดือน ยกตัวอย่างเช่น
บัณฑิตจบใหม่กำลังประสบกับความเครียดในการหางานที่เต็มไปด้วยการแข่งขันค่อนข้างสูง ,เกิดความคาดหวังถึงอนาคต ,แรงกดดันจากสังคม หรือแม้แต่การนำตัวเองไปเปรียบกับเพื่อนในช่วงวัยเดียวกันที่อาจประสบความสำเร็จมากกว่า ปัจจัยดังกล่าวล้วนส่งผลให้เกิด Post-Graduate Blues ได้ทั้งสิ้น
โดยผลสำรวจจาก City Mental Health Alliance องค์กรที่ให้การสนับสนุนด้านปัญหาสุขภาพจิต ระบุว่ามากกว่า 49% ของเด็กจบใหม่ในสหรัฐอเมริกามักเผชิญกับภาวะนี้
ก้าวผ่านช่วงเวลานี้ไปได้อย่างไร?
หากคุณกำลังเผชิญกับ Post-Graduate Blues หรือภาวะซึมเศร้าหลังจบการศึกษา โปรดรู้ไว้ว่า ‘คุณไม่ได้โดดเดี่ยว’ เพราะยังมีเพื่อนๆอีกหลายคนที่กำลังตกอยู่ในสภาวะเดียวกัน ซึ่งคุณสามารถป้องกันและรับมือได้ ดังนี้
หาเพื่อนคุยแลกเปลี่ยนความรู้สึก
British Association for Counselling and Psychotherapy (BACP) แนะนำว่า สำหรับใครก็ตามที่รู้สึกกังวลเกี่ยวกับภาวะซึมเศร้าหลังเรียนจบ อย่าเก็บความรู้สึกเหล่านั้นไว้คนเดียว พยายามพูดคุยกับใครสักคนอย่างคนใกล้ตัว ครอบครัว เพื่อน หรือลองแลกเปลี่ยนกับคนที่กำลังประสบปัญหาเดียวกัน เมื่อมีคนที่เข้าใจอยู่ข้างๆ จะช่วยเอาชนะความเครียดและความรู้สึกโดดเดี่ยวได้
ไม่เอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับใคร
มันง่ายมากที่คุณจะตกอยู่ในกับดักของการมองเห็นผู้คนรอบตัวคุณและคิดว่า ‘ทำไมชีวิตของฉันถึงไม่เป็นแบบนั้น’
ดร.ซูซาน เบียลี ฮาส (Susan Biali Haas) แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต กล่าวว่า การนำชีวิตตัวเองไปเปรียบกับบุคคลอื่นเป็นเหมือนกับดักแห่งความอิจฉา ควรหลีกเลี่ยงการเปรียบเทียบที่บั่นทอนจิตใจ หันมาให้ความสำคัญในการค้นหาสิ่งที่ชอบและอยากทำจริงๆจะดีกว่า
ให้เวลาเยียวยาจิตใจ
แน่นอนว่าการก้าวเข้าสู่ชีวิตวัยทำงานคือการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ การใช้เวลาปรับตัวจึงเป็นอะไรที่เหมาะสม อย่าเร่งรีบและกดดันตัวเองมากเกินไป ลองพาตัวเองออกไปหาอะไรทำ พักสมองจากเรื่องเครียดๆ ทำในสิ่งที่ชอบ ก็สามารถช่วยผ่อนคลายได้
โดยปกติอาการ Post-Graduate Blues จะค่อยๆ หายไปเองหลังเวลาผ่านไประยะหนึ่ง หรือเมื่อได้งานตามความตั้งใจ สุดท้ายขอเป็นกำลังใจให้เด็กจบใหม่ทุกคน เผชิญกับทุกเรื่องได้อย่างราบรื่น และก้าวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ในแบบที่ตัวเองอยากจะเป็นได้
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews