ชีวิตเด็กมหาลัยที่ต้องไปเรียนไกลบ้าน ไม่มีอะไรดีไปกว่าการได้กลับบ้านในช่วงวันหยุดยาวแล้ว จะกลับไปกินข้าวฝีมือแม่ จะกลับไปพักผ่อน จะกลับไปนอนตีพุงบนเตียงนุ่มๆ แค่คิดก็ฟินนนนสุดๆ แต่แพลนที่วางไว้กลับต้องพังทลายเมื่อเปิดประตูบ้าน
Oh my god!
นี่มันอะไรกัน ทำไมบ้านที่เคยอยู่ถึงรกแบบนี้ ใช่แล้ว ภาพตรงหน้าคือของอะไรไม่รู้เยอะแยะกองพะเนินเต็มไปหมด ทั้งเสื้อผ้าเก่าๆ กล่องกระดาษลัง ซองเครื่องปรุง ถุงพลาสติก ขวดน้ำดื่ม ตะกร้าขนมจีน ของเล็กน้อยกระจุกกระจิก ตลอดจนเครื่องใช้ไฟฟ้าที่พังไปแล้ว!? แม่ยังเก็บไว้ (เก็บทำไม)
ภายหลังจากสติหลุดไปชั่วขณะ ก็รีบดึงสติพร้อมกับวางแผนว่าจะเริ่มต้นจากตรงไหนก่อนดี ไม่นานบ้านที่เคยเต็มไปด้วยข้าวของเครื่องใช้(ที่แทบไม่ได้ใช้)ก็ค่อยๆเป็นระเบียบ เริ่มเป็นสัดส่วนมากขึ้น แต่เวลาผ่านไปไม่เท่าไหร่ คุณหญิงแม่ก็ไม่วายตามไปเก็บของที่ลูกเก็บทิ้งกลับมาอยู่ดี
นั่นแหละค่ะ เหตุการณ์นี้ไม่ใช่ครั้งแรกแม้คนในบ้านจะบอกหลายต่อหลายครั้งว่าให้ทิ้งของที่ไม่ได้ใช้ลงถังขยะไป แต่ไม่เกิดผล ซ้ำร้ายยิ่งสะสมของมากขึ้นเรื่อยๆ ราวกับเป็นของล้ำค่าก็ไม่ปาน
ซึ่งปัญหาดังกล่าว อาจไม่ใช่แค่ความรู้สึกเสียดายของธรรมดาๆเสียแล้ว แต่อาจเป็นอาการของโรคจิตเวช อย่าง ‘โรคชอบเก็บสะสมของ’ (Hoarding Disorder) ก็เป็นได้
ชวนรู้จักโรคชอบเก็บสะสมของ : Hoarding Disorder
โรคชอบเก็บสะสมของ (Hoarding Disorder) เป็นอาการทางจิตเวชที่มักพบในช่วงวัยรุ่นไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ ลักษณะอาการของโรคชอบเก็บสะสมของคือผู้ป่วยจะสะสมสิ่งของไว้เพราะคิดว่าสิ่งเหล่านี้จะได้ใช้ประโยชน์ในอนาคต โดยผู้ป่วยมักจะรู้สึกไม่สบายใจหากจำใจที่จะต้องทิ้งสิ่งของที่ตนเก็บไว้ไป
สำหรับสาเหตุของโรคชอบสะสมของ ปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปแน่ชัด แต่มีสันนิษฐานว่าอาจเป็นได้จากพันธุกรรมและความผิดปกติของสมอง ซึ่งเกิดจากพันธุกรรม หมายถึงว่า หากคนในครอบครัวของเราเป็น เราเองก็มีแนวโน้มที่จะได้รับพฤติกรรมนี้เช่นกัน
อีกกลุ่มที่พบคือคนที่สมองได้รับการบาดเจ็บ จากการศึกษากลุ่มบุคคลที่ได้รับบาดเจ็บที่สมองส่วนหน้าจนถึงสมองส่วนกลาง พบว่า ก่อนหน้านั้นพวกเขาไม่เคยมีพฤติกรรมสะสมสิ่งของที่ไร้ประโยชน์เลย จนกระทั่งได้รับบาดเจ็บที่สมอง และผู้ที่สมองบางส่วนทำงานลดลง
Hoarding Disorder ต่างอะไรกับคนที่ชอบสะสมฟิกเกอร์
โรคที่ว่านี้แตกต่างกับการสะสมฟิกเกอร์ หนังสือ เครื่องถ้วย เพราะสิ่งของข้างต้นที่กล่าวมานั้น ผู้ที่สะสมมักจะจัดแสดงหรือเก็บสะสมไว้ในสถานที่เฉพาะ เป็นระบบระเบียบ
ผู้ที่เป็น Hoarding Disorder มักจะมีพฤติกรรมแตกต่างจากนักสะสม เนื่องจากจะเก็บแต่สิ่งของทั่วไปที่ไม่ได้หายากหรือมีราคา และไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ เช่น หนังสือพิมพ์เก่า นิตยสารเก่า กล่องพัสดุ ขวดน้ำ เป็นต้น ในบางรายอาจเป็นหนักถึงขั้นมีของกองสุมระเกะระกะไว้เต็มบ้าน จนดูเหมือนบ้านขยะไปเสียอย่างนั้น
อาการของโรคชอบเก็บสะสมของ : Hoarding Disorder
- ตัดใจทิ้งสิ่งของไม่ได้ถึงแม้ว่าสิ่งของนั้นจะไม่มีประโยชน์และความจำเป็นจะต้องใช้
- ชอบเก็บสิ่งของที่ไม่สำคัญเช่น หนังสือพิมพ์ จดหมายเก่า หรือนิตยสารเก่า
- มีความต้องการอยากเก็บสะสมสิ่งของ
- รู้สึกทุกข์ทนเมื่อต้องทิ้งสิ่งของ
- วางสิ่งของตามทางเดินในบ้านจนไม่เหลือพื้นที่ใช้สอย
- ที่อยู่อาศัยไม่สะอาด หรือมีสิ่งสกปรกที่อาจก่อให้เกิดการสะสมของเชื้อโรค
- ยึดติดว่าของทุกชิ้นเป็นของสำคัญ
ผลกระทบโรคชอบเก็บสะสมของ : Hoarding Disorder
ผลกระทบของโรค Hoarding Disorder คือ ส่งผลต่อสุขภาพโดยตรง เพราะการเก็บหมักหมมสิ่งของเอาไว้ อาจก่อให้เกิดการสะสมของเชื้อโรคได้ ต่อมาก็ยังส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุภายในบ้านได้ง่ายอีกด้วย นอกจากนี้อาจเกิดร่วมกับอาการทางจิตอื่นๆ เช่น โรคซึมเศร้า โรคย้ำคิดย้ำทำ โรควิตกกังวล หรือโรคกลัวการเข้าสังคม เป็นต้น
แนวทางการรักษาโรคชอบเก็บสะสมของ : Hoarding Disorder
แนวทางการรักษา สามารถรักษาได้ด้วยยาที่จะช่วยปรับสารเคมีในสมองเกี่ยวกับกระบวนการคิด และสามารถรักษาได้ด้วยการบำบัดพฤติกรรมและความคิดของผู้ป่วย
โดยสรุปแล้ว โรคชอบเก็บสะสมของ หรือ Hoarding Disorder มักถูกมองว่าเป็นพฤติกรรมที่ส่งผลเสียมากกว่าผลดี เนื่องจากมันก่อให้เกิดความยากลำบากในการใช้ชีวิตประจำวัน สร้างปัญหาให้กับคนรอบข้าง รวมถึงส่งผลกระทบต่อสุขอนามัยและความปลอดภัยในที่อยู่อาศัย ดังนั้น Hoarding Disorder จึงเป็นภาวะที่ควรได้รับการรักษา ถ้าชอบบทความที่ให้ทั้งสาระ และความรู้ ติดตามเกร็ดความรู้สนุกๆ ได้ที่ iNN Lifestyle
ขอบคุณข้อมูลจาก
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews