Home
|
ไลฟ์สไตล์

นอนเยอะแค่ไหนก็ง่วงอยู่ดี ชวนรู้จัก โรคนอนเท่าไรก็ไม่พอ : Hypersomnia

Featured Image

          เมื่อครั้งที่ฉันต้องลืมตาตื่นขึ้นมาพร้อมกับอาการงัวเงีย แสงแดดที่แอบลอดผ่านช่องว่างระหว่างผ้าม่านมาทำให้ฉันเริ่มตื่นจากฝัน จากนั้นมือข้างซ้ายก็ค่อยๆควานหาโทรศัพท์ที่เมื่อคืนวางไว้ตรงไหนไม่สามารถรู้ได้ ไม่นานโทรศัพท์นั้นก็ออกมาจากที่ซ่อนพร้อมกับหน้าจอที่เปิดสว่าง ฉันค่อยๆลืมตาขึ้นช้าๆแล้วมองไปที่สิ่งที่อยู่ตรงหน้า หน้าจอโทรศัพท์แสดงตัวเลขเป็นเวลาบ่าย 3 โมง! ไม่ได้ล้อเล่น! นี่บ่ายแล้ว! 

          ฉันสะดุ้งลุกขึ้นนั่งอย่างเร็วราวกับเจอผี พร้อมกับพยายามตั้งสติว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตเราเมื่อคืน จำได้ว่าปิดไฟนอนตอน 5 ทุ่มตรงเป๊ะๆ ก่อนนอนไม่มีอะไรที่น่าจะทำให้เราล้าได้ขนาดนี้นี่นา แล้วเราหลับยาวแบบนี้ไปได้ยังไงกันเนี่ย!?

         ข้ามมาอีกวัน ฉันเดินเข้าออฟฟิศด้วยหัวที่หนักอึ้งเหมือนมีเมฆฝนลอยอยู่ตลอดเวลา ง่วงงุนทั้งวันจนคนรอบตัวเริ่มตั้งคำถาม “นี่เธอไม่ได้นอนทั้งคืนเหรอ?” “หรือว่าดูซีรีส์ดึกๆถึงเช้า?” แต่ป่าวเลย! ทั้งๆที่ตัวเราเองก็พยายามตั้งใจทำงานนะ แต่สมองเหมือนติดสโลว์โมชั่น โดนสั่งว่าต้องทำอะไรก็ช้าลงเรื่อยๆ สุดท้ายก็ยอมแพ้ แอบขโมยเวลาพักเที่ยงไปนอนแทนที่จะกินข้าวละกัน!

          ไม่นานคนรอบตัวก็มองมาแปลกๆ เหมือนเรากำลังกลายเป็นมนุษย์ขี้เกียจเบอร์หนึ่งประจำออฟฟิศทั้งๆที่เมื่อก่อนก็ไม่เคยเป็นแบบนั้นนี่นา! บางครั้งการที่เรามีอาการแบบนี้ เราอาจไม่ได้ขี้เกียจหรือแค่ขี้เซา แต่จริงๆ แล้วเราอาจกำลังเผชิญกับอาการที่เรียกว่า “ไฮเปอร์ซอมเนีย” (Hypersomnia) หรือโรคนอนเท่าไหร่ก็ไม่เคยพออยู่ก็ได้

ไฮเปอร์ซอมเนีย (Hypersomnia) หรือโรคนอนเท่าไรก็ไม่พอ

          ไฮเปอร์ซอมเนีย (Hypersomnia) หรือโรคนอนเท่าไรก็ไม่พอ เป็นอาการของคนที่มีพฤติกรรมการนอนนานกว่าคนปกติทั่วไป ซึ่งในการนอนแต่ละครั้งของคนที่มีอาการไฮเปอร์ซอมเนียจะกินเวลานานถึง 10 ชั่วโมงต่อวันขึ้นไป แม้จะนอนหลับมากขนาดนั้นแล้ว แต่ผู้ที่ป่วยเป็นไฮเปอร์ซอมเนียก็มักจะตื่นขึ้นมาด้วยความรู้สึกเหนื่อยล้าและมึนงง 

          ส่งผลให้ผู้มีอาการดังกล่าวคิดช้า พูดช้า ไม่มีสมาธิ และมีปัญหาเรื่องความจำ ในบางรายอาจมีภาวะมองเห็นภาพหลอนและวิตกกังวลร่วมด้วย ซึ่งอาการไฮเปอร์ซอมเนียมักพบในป่วยที่เป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ซึ่งมีอายุอยู่ระหว่าง 17-24 ปี 

          แม้ว่าอาการดังกล่าวอาจพบได้ทั่วไป แต่มีการวินิจฉัยอย่างเป็นทางการว่าอาการนอนเท่าไรก็ไม่พอนั้นมักเกิดขึ้นได้ไม่บ่อยนัก การที่เรารู้สึกเหนื่อยล้าเป็นครั้งคราวไม่ได้หมายความว่าคุณจะเป็นไฮเปอร์ซอมเนียเสมอไป 

          หากต้องการวินิจฉัยว่าคุณกำลังเป็นโรคนอนเท่าไรก็ไม่พอหรือไม่นั้น คุณจะต้องรู้สึกเหนื่อยล้าอย่างมากในระหว่างวันเป็นประจำหลายครั้งต่อสัปดาห์เป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือน ถึงจะวินิจฉัยได้

          ถึงแม้ยังไม่มีผลวิจัยทางการแพทย์ที่แน่ชัดเกี่ยวกับสาเหตุการเกิดไฮเปอร์ซอมเนีย แต่นักวิทยาศาสตร์หลายคนเชื่อว่า อาการนอนเท่าไรก็ไม่พอน่าจะเชื่อมโยงกับระดับไฮโปเครติน (Hypocretin) หรือสารสื่อประสาทที่สำคัญในการควบคุมการตื่น เมื่อไฮโปเครตินอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ จะส่งผลให้สมองเกิดความผิดปกติในการควบคุมการตื่นและการนอน ส่งผลให้ผู้ป่วยรู้สึกง่วงซึมในตอนกลางวันมากกว่าปกติ และเผลอหลับได้ง่ายแม้ในสถานการณ์ที่วุ่นวายหรือเสียงดัง 

โทษของโรคโรคนอนเท่าไรก็ไม่พอ

  • สมองเฉื่อยชา สมองล้า กลายเป็นคนไร้ชีวิตชีวา
  • การทำงานของกระดูกกล้ามเนื้อและข้อลดประสิทธิภาพลง หากไม่ได้มีการเคลื่อนไหวนานๆ อาจมีผลทำให้กระดูกหรือกล้ามเนื้อไม่แข็งแรง มีปัญหาข้อต่างๆ เคลื่อนไหวได้ยากตามมาได้
  • น้ำหนักเกินมากกว่าเดิม เนื่องจากระบบการเผาผลาญไขมันลดลง มีการสะสมไขมันเพิ่มขึ้น อันอาจนำไปสู่โรคต่างๆ อาทิเช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เป็นต้น
  • กลายเป็นคนซึมเศร้า การนอนมากๆ ทำให้ฮอร์โมนในร่างกายแปรปรวน โดยเฉพาะ “เคมีอารมณ์ สารความสุข” จำพวก “เซโรโทนิน (Serotonin)” และ “เอนดอร์ฟิน (Endorphin)” ลดต่ำลง

วิธีแก้ ไฮเปอร์ซอมเนีย (Hypersomnia) หรือโรคนอนเท่าไรก็ไม่พอ

          หากคุณกำลังประสบกับอาการไฮเปอร์ซอมเนีย (Hypersomnia) หรือโรคนอนเท่าไรก็ไม่พอ หรือต้องการป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต เราขอแนะนำวิธีที่จะรับมือกับอาการไฮเปอร์ซอมเนีย (Hypersomnia) โดยสามารถทำได้ด้วยตนเอง ดังนี้

  • กำหนดตารางเวลาเข้านอนและตื่นนอนเวลาเดิมติดต่อกัน โดยนอนพักผ่อน 7-8 ชั่วโมงต่อวัน และพยายามเข้านอนให้ตรงตามเวลาที่กำหนดไว้ทุกวัน เพื่อให้ร่างกายสร้างระบบนาฬิกาชีวิตของตัวเราเองขึ้นมาใหม่
  • พยายามหลีกเลี่ยงการนอนตอนกลางวัน อาจงีบได้ในช่วงเวลาสั้นๆ แต่อย่าทำบ่อย เพราะจะส่งผลให้ตอนกลางคืนนอนไม่หลับ
  • จัดห้องนอนให้โปร่ง ระบายอากาศได้ดี ดูแลทำความสะอาดห้อง และเตียงนอนอย่างสม่ำเสมอ
  • หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อให้ร่างกายรู้สึกกระปรี้กระเปร่า และสร้างออกซิเจนในเลือดให้มากขึ้น
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง แป้ง น้ำตาล ซึ่งทำให้น้ำตาลในเลือดไม่ปกติ ทำให้ง่วง เหนื่อย ตอนที่ระดับน้ำตาลตก

          แม้ว่าอาการไฮเปอร์ซอมเนีย (Hypersomnia) หรือโรคนอนเท่าไรก็ไม่พอจะไม่ใช่ภาวะที่คุกคามชีวิต แต่ส่งผลอย่างมากต่อประสิทธิภาพในการทำงาน อีกทั้งยังส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยได้ หากสังเกตอาการของคนในครอบครัว หรือคนรอบข้างมีโอกาสใกล้เคียงที่จะเป็นไฮเปอร์ซอมเนีย แนะนำให้รีบพาไปปรึกษาแพทย์ เพื่อหาแนวทางในการรักษาต่อไป ถ้าชอบบทความที่ให้ทั้งสาระ และความรู้ ติดตามเกร็ดความรู้สนุกๆ ได้ที่ iNN Lifestyle

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

 

enticare

clevelandclinic

National Library of Medicine

sleepopolis

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

 

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube