ไม่ไหวแล้วโว้ย! ช่วยเงียบสักทีได้มั้ย! เข้าใจ ภาวะเกลียดเสียง : Misophonia
เสียงดังเกิน 85 เดซิเบล เช่น เสียงรถยนต์เร่งเครื่อง เสียงเครื่องบินพุ่งทะยานเหนือเมฆ หรือเสียงกีตาร์ไฟฟ้าในคอนเสิร์ตร็อค เป็นที่รับรู้ว่ามีผลกระทบต่อสุขภาพหูของเราโดยตรง แต่ในทางกลับกัน กลับมีเสียงอีกกลุ่มหนึ่งที่แม้จะไม่ได้ดังจนสร้างอันตราย แต่กลับสร้างความกระอักกระอ่วนในหัวใจ จนบางครั้งดูเหมือนโลกทั้งใบกำลังปั่นป่วนไปด้วยเสียงนั้น
หากใครยังนึกภาพไม่ออกให้ลองนึกถึงเสียงเคี้ยวกรอบแกรบ เสียงกดปากกาที่กดอยู่ย้ำๆซ้ำๆ เสียงหายใจแผ่วเบาในจังหวะที่ไม่สม่ำเสมอ เสียงเหล่านี้ที่ดูเหมือนจะไร้พิษภัยสำหรับใครหลายคน แต่อาจกลายเป็นเสียงที่สะกิดลึกลงในหัวใจของใครบางคน จนรู้สึกอยากให้มันหยุดลงในทันที
หากคุณกำลังรู้สึกเช่นนี้ อาจเป็นเพราะ คุณกำลังตกอยู่ในภาวะ Misophonia หรือ ภาวะเกลียดเสียง ก็เป็นได้
Misophonia คืออะไร?
ทางเว็บไซต์ Harvard Health Publishing ได้อธิบายถึงภาวะหนึ่งที่น่าสนใจอย่าง Misophonia หรือที่เรียกกันว่า “ภาวะเกลียดเสียง” ซึ่งเป็นอาการที่มนุษย์ได้รับผลกระทบทางอารมณ์จากเสียงธรรมดาๆ ในชีวิตประจำวัน เสียงเหล่านี้มักเป็นเสียงที่เกิดจากการกระทำของผู้อื่น และในสายตาคนทั่วไปอาจดูเล็กน้อยจนเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น เช่น เสียงเคี้ยวอาหาร เสียงจิ๊ปาก เสียงหาว เสียงกดปากกา หรือเสียงช้อนกระทบส้อม
แต่สำหรับผู้ที่มีภาวะนี้แล้วนั้น เสียงที่คนส่วนใหญ่มองว่าไม่สำคัญกลับกลายเป็นตัวกระตุ้นอารมณ์เชิงลบที่รุนแรง พวกเขาอาจรู้สึกหงุดหงิด วิตกกังวล หรือแม้กระทั่งโกรธอย่างไม่มีเหตุผลจนต้องหลีกหนีออกจากสถานการณ์นั้นเลยก็ว่าได้
สาเหตุ misophonia เกิดจากอะไร?
จากการอธิบายโดย Misophonia in Thai ภาวะนี้มีแนวโน้มเป็นความผิดปกติทางระบบประสาท โดยสมองมีการตอบสนองผิดพลาด แปลความว่าเสียงบางอย่างที่ได้ยินคือสิ่งอันตราย ซึ่งเป็นกลไกที่แตกต่างจากคนทั่วไป เสียงที่กระตุ้นผู้ที่มีอาการนี้มักเป็นเสียงที่เกิดขึ้นซ้ำๆ เช่น เสียงเคี้ยวอาหาร เสียงเคาะดินสอ หรือเสียงไอ จาม
บางรายอาจถูกกระตุ้นทางการมองเห็นจากการเคลื่อนไหวซ้ำๆ ของสิ่งที่อยู่รอบตัว เช่น การกระดิกเท้าหรือการเคาะวัตถุบางอย่าง
สิ่งเร้าหรือเสียงกระตุ้นเหล่านี้ทำให้ผู้ป่วยเกิดความเครียดอย่างรุนแรง ไม่เพียงแต่ส่งผลต่ออารมณ์ แต่ยังส่งผลทางร่างกาย เช่น อัตราการเต้นของหัวใจที่เพิ่มขึ้นหรือเหงื่อออกตามร่างกาย
แม้ว่าปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยใดที่ยืนยันถึงวิธีการรักษา Misophonia ที่ได้ผลอย่างแท้จริงและถาวร แต่ผู้ที่เผชิญกับภาวะนี้ หรือมีคนใกล้ชิดที่มีอาการ สามารถปรับตัวและอยู่ร่วมกับมันได้ผ่านการฝึกฝนและสร้างความเข้าใจในตัวเอง
วิธีอยู่ร่วมกับ Misophonia
- ฝึกสติและตระหนักรู้
ทุกครั้งที่รู้สึกโกรธหรือไม่สบายใจกับเกี่ยวกับเสียงที่ได้ยิน ให้ลองตั้งสติและยอมรับว่าอารมณ์ที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากความไวต่อเสียงของตนเอง พยายามมองว่าเสียงเหล่านั้นไม่ได้มีความหมายอันตราย เป็นเพียงเสียงปกติที่พบได้ในชีวิตประจำวัน
- ย้ำเตือนตัวเองเพื่อควบคุมอารมณ์
การฝึกคิดอย่างมีเหตุผล เช่น “เสียงนี้ไม่ได้ทำร้ายเรา” หรือ “มันเป็นแค่เสียงธรรมดา” ช่วยลดความเครียดและอาการโกรธได้
- ฝึกความสม่ำเสมอในการควบคุมตัวเอง
การควบคุมอารมณ์เมื่อได้ยินเสียงที่กระตุ้นเป็นทักษะที่ต้องใช้เวลาและความอดทน การฝึกฝนบ่อยครั้งจะช่วยให้สามารถรับมือกับสถานการณ์ได้ดีขึ้น
หากคุณอ่านมาถึงตรงนี้แล้วเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า “หรือเราก็มีภาวะ Misophonia เหมือนกัน?” เราขอแนะนำให้ลองปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตหรือแพทย์ผู้ชำนาญโดยตรง เนื่องจากข้อมูลในบทความนี้เพียงให้ความรู้พื้นฐาน แต่ไม่สามารถใช้เพื่อวินิจฉัยอาการได้
การเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์จะช่วยให้คุณได้รับการประเมินที่ถูกต้อง และหากจำเป็น อาจได้รับคำแนะนำในการจัดการกับอาการอย่างเหมาะสมที่สุด เพราะการวินิจฉัยที่ถูกต้องจากผู้เชี่ยวชาญย่อมให้คำตอบที่ชัดเจนกว่าเสมอ
ขอบคุณข้อมูลจาก
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews