Home
|
ไลฟ์สไตล์

ดาวมิชลิน เครื่องหมายการันตีความอร่อย

Featured Image

          หากความอร่อยเป็นรสนิยมส่วนตัว ลิ้นใครลิ้นมัน แล้วเราจะเอามาตรฐานอะไรมาตั้งว่าร้านไหนควรค่าแก่การไปลิ้มลองดีล่ะ มิชลินไกด์หรือ ดาวมิชลิน คือคำตอบ ตั้งแต่ร้านเจ๊ไฝได้รับ ดาวมิชลิน กระแสการได้รับความสนใจก็เพิ่มมากขึ้นในประเทศไทย แล้วจุดกำเนิดมาจากไหน มาตรฐานคืออะไร วันนี้ INN จะพาทุกคนย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นของมิชลินไปพร้อมๆกัน

          มิชลินไกด์ (Michelin Guide) หรือ กีดมิชแล็ง ( Guide Michelin) เป็นหนังสือคู่มือที่บรรจุเนื้อหาเกี่ยวกับข้อมูลการเดินทาง แผนที่ สถานที่ท่องเที่ยว สถานที่พัก รวมถึงร้านอาหารขึ้นชื่อในแต่ละประเทศหรือร้านอาหารดาวมิชลินที่เราคุ้นเคยกันนั่นเอง 

          ก่อนที่จะไปเจาะลึกถึงร้านอาหารดาวมิชลิน มิชลินที่พูดถึงกันก็คือ ยางมิชลิน ที่เราคุ้นเคยกันนั่นแหละ ย้อนไปเมื่อปี ค.ศ. 1900 บริษัทมิชลิน บริษัทผลิตยางรถยนต์ของประเทศฝรั่งเศส ได้ทำคู่มือแนะนำการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ เหตุผลหลักในช่วงนั้นเพื่อกระตุ้นการเดินทางด้วยรถยนต์ (ว่าง่ายๆถ้าคนใช้รถยนต์เยอะยางก็ขายดีขึ้นนั่นเอง) หลักจากนั้นก็ได้ขยายตัวขึ้นไปประเทศอื่นๆในโซนยุโรปและได้รับความนิยมขึ้นจนมีทั่วโลกอย่างที่เราเห็นทุกวันนี้  

          มาถึงเรื่องร้านอาหาร มิชลินไกด์นั้นจะมีการให้ดาวหรือการจัดอันดับร้านอาหาร (MICHELIN Star)  โดยมี 1 ดาว 2 ดาว และ 3 ดาว โดยมีหลักการพิจารณาดังต่อไปนี้

1.คุณภาพวัตถุดิบ

2.ความโดดเด่นของรสชาติและเทคนิคในการรังสรรค์อาหาร

3.เอกลักษณ์เฉพาะตัวของเชฟที่นำเสนอผ่านมื้ออาหาร

4.ความคุ้มค่าสมราคาของอาหาร

5.ความเสมอต้นเสมอปลายในแต่ละวาระ  และมิชลินไกด์นั้นได้ให้นิยามดาวทั้ง 3 ดวงไว้ดังนี้ 

  • ร้านอาหารที่ได้ 1 ดาว คือ ร้านอาหารคุณภาพสูงที่ควรค่าแก่การหยุดแวะชิม (หมายถึงหากคุณเดินทางผ่านเส้นทางนี้อยู่แล้วควรหยุดเพื่อแวะสักครั้ง) 
  • ร้านอาหารที่ได้ 2 ดาว คือ ร้านอาหารยอดเยี่ยม ที่ควรค่าแก่การขับรถออกนอกเส้นทางเพื่อแวะชิม 
  • ร้านอาหารที่ได้ 3 ดาว คือ สุดยอดร้านอาหาร ที่แม้จะอยู่นอกเส้นทางก็ยังควรค่าแก่การดินทางไกลเพื่อไปชิม 

          นอกจากดาวมิชลินแล้ว มิชลินยังมีอีก 2 รางวัลเก่า 3 รางวัลใหม่ รวมเป็น 5 รางวัลที่มอบให้แก่ร้านอาหารหรือบุคลากรทางด้านอาหาร 

รางวัลแรกคือ MICHELIN BIB GOURMAND หรือ บิบ กูร์มองด์ กับคอนเซ็ปต์ อาหารอร่อยและราคาสมเหตุสมผล ที่มอบรางวัลให้กับร้านอาหารที่เสิร์ฟอาหารคุณภาพยอดเยี่ยมในราคาย่อมเยา โดยราคาอาหารนั้นไม่เกินราคามาตรฐานของท้องถิ่นนั้นๆ 

รางวัลที่สอง THE PLATE MICHELIN หรือ มิชลินเพลท Fresh ingredients, carefully prepared, a good meal  รางวัลที่ทางมิชลินมอบให้กับร้านหารคุณภาพดีที่ใช้วัตถุดิบสดใหม่และปรุงอย่างพิถีพิถัน โดยร้านไหนที่ได้มิชลินเพลทนั้นมีโอกาสสูงที่จะได้เลื่อนขั้นให้ติดดาวมิชลิน 

          และ 3 รางวัลใหม่ที่มิชลินไกด์ได้ประกาศเพิ่ม คือ 

MICHELIN Guide Young Chef Award ที่มอบให้กับเชฟรุ่นใหม่ที่โดดเด่นในร้านอาหารระดับดาวมิชลิน  

MICHELIN Guide Service Award รางวัลสำหรับบุคลากรผู้ให้บริการยอดเยี่ยม ทุ่มเทกับการบริการเพื่อให้ลูกค้าได้สัมผัสประสบการณ์การรับประทานอาหารที่ยอดเยี่ยม  

และ MICHELIN Green Star ที่มอบให้ร้านอาหารที่ใส่ใจในสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน พร้อมใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นหรือตามฤดูกาลเพื่อช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม 

          พูดถึงผู้ตรวจสอบมิชลินไปแล้ว หลายๆคนอาจจะสงสัยว่าเขาคือใครกัน คำตอบคือไม่มีใครรู้ ผู้ตรวจสอบมิชลินไกด์นั้นจะไม่เปิดเผยตัวตน พวกเขานั้นทำเหมือนลูกค้าทั่วๆไป เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่ถูกปฏิบัติอย่างพิเศษกว่าปกติ ได้รับคุณภาพเหมือนลูกค้าทั่วไป พวกเขานั้นทำงานเป็นอิสระไม่ได้ถูกผูกมัดกับองค์กรใดๆทั้งสิ้น แต่พวกเขามีความเชี่ยวชาญในเรื่องของอาหาร โรงแรม สถานที่ท่องเที่ยว พวกเขานั้นมีหลากหลายอาชีพตั้งแต่ ทนาย ทหาร ตำรวจ แพทย์ หรือแม้กระทั่งอดีตเชฟที่มีความหลงใหลในอาหารอย่างสูง

          แม้ว่าการรับประทานอาหารนั้นมักเป็นความชอบส่วนบุคคล ที่เราแต่ล่ะคนอาจจะชอบแตกต่างกัน บางอย่างอาจจะอร่อยสำหรับคนหนึ่งคน แต่บางครั้งก็ไม่อร่อยสำหรับคนหนึ่งคนเช่นกัน แต่อย่างน้อยมิชลินไกด์ก็เป็นพื้นฐานที่ทำให้เรามั่นใจได้ว่าร้านอาหารนั้นควรค่าแก่การที่เราจะไปลองว่ามันดีอย่างที่เขาว่าหรือไม่

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube