Home
|
ไลฟ์สไตล์

ร้องไห้ในที่ทำงานเป็นเรื่องน่าอายจริงเหรอ? มีวิธีรับมือยังไงเมื่อมันเกิดขึ้น

Featured Image

          กริ๊งงง!!! เสียงนาฬิกาปลุกแทรกเข้ามาในความเงียบของเช้าวันใหม่ แสงแดดสีส้มอ่อนส่องลอดผ้าม่านเข้ามากระทบขอบเตียงกับมือที่เอื้อมไปปิดเสียงนั่น

          เสียงมันช่างน่าหดหู่อะไรขนาดนี้… แต่ก็ต้องดีดตัวเองออกจากที่นอนเพื่อไปเผชิญโลกของการทำงาน อีกแล้ว?

 

          หากคุณเคยรู้สึกแบบนี้ในทุกๆเช้าของวันทำงาน ด้วยเรื่องที่คุณไม่อยากจะต้องไปพบเจอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่หัวหน้าตำหนิกลางที่ประชุม งานที่ทุ่มเทกลับถูกปัดตก หรือแม้แต่ความเครียดสะสมที่กัดกินใจเกินที่จะรับมันไหว หรือแรงกดดันที่สะสมจนถาโถมเข้าใส่หัวใจแบบไม่ให้ได้หายใจหายคอ 

          สุดท้าย น้ำตาก็ไหลออกมาโดยไม่ทันตั้งตัว กลางออฟฟิศที่เต็มไปด้วยเสียงแป้นพิมพ์และการประชุมที่วุ่นวาย

          บางทีการหลบเข้าไปอยู่ในมุมที่เงียบที่สุด ณ เวลานั้นคงเป็นอะไรที่ดีไม่น้อย ห้องน้ำกลายเป็นสถานที่กักเก็บความรู้สึกท่ามกลางน้ำตาที่ไหลอาบท่วมหน้า กับใจที่อ่อนไหวราวกับโดนตึกถล่มใส่ 

          อาจมีใครเคยบอกว่า “ร้องไห้ที่ทำงานดูอ่อนแอ” แต่มันผิดตรงไหนกัน… ที่มนุษย์จะรู้สึก?

          หากใครที่กำลังตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันเราจะมีวิธีการรับมืออย่างไรให้ดูเป็นมืออาชีพกันหล่ะ ต้องเก็บซ่อนให้มิดชิด หรือยอมรับความรู้สึกโดยไม่ให้มันกระทบงาน เรามาหาคำตอบกับความรู้สึกเช่นนี้กัน

 

ร้องไห้ในที่ทำงานเป็นเรื่องน่าอายจริงเหรอ?

          ทุกครั้งที่น้ำตาเอ่อขึ้นจนล้นออกมา คุณเคยรู้สึกไหมว่ามันช่างไม่คูล เอาเสียเลย… ยิ่งไปกว่านั้น คำพูดของคนรอบตัวกลับทำให้เรารู้สึกแย่กว่าเดิม

 

“อย่าร้องไห้สิ”
“แค่นี้ต้องร้องไห้ด้วยเหรอ?”
หรือหนักที่สุด เสียงหัวเราะเยาะหลังจากที่เราร้องไห้ไปเมื่อวันก่อน “วันนั้นร้องไห้หนักขนาดนั้นเลยเหรอ” 

          คำพูดเหล่านี้แปรเปลี่ยนน้ำตาให้กลายเป็นเครื่องหมายของ “ความอ่อนแอ” สิ่งที่ไม่ควรให้ใครเห็น ทั้งที่จริงๆแล้วเราไม่จำเป็นต้อง เข้มแข็งตลอดเวลา ก็ได้?

          การร้องไห้ไม่ใช่เรื่องผิด ตรงกันข้ามมันคือกลไกธรรมชาติของร่างกายที่ช่วยเราปลดปล่อยความเครียด และทำให้หัวใจเราเบาลงได้ อีกทั้งยังมีนักวิจัยกล่าวว่า น้ำตาที่เกิดจากอารมณ์สามารถขับฮอร์โมนความเครียดออกจากร่างกายได้ นั่นอาจเป็นเหตุผลว่าทำไมหลังจากร้องไห้ เราจึงรู้สึกเหมือนยกภูเขาออกจากอก

          ในบางองค์กรมีแนวคิดสนับสนุนให้คนร้องไห้ในที่ทำงาน เช่น “เวิร์กช็อปน้ำตา” ของ ฮิโรกิ เทไร (Hiroki Terai) ที่ส่งเสริมให้ “ผู้ชายร้องไห้” เพื่อทำลายภาพจำที่ว่า น้ำตาเป็นสิ่งที่มีไว้สำหรับคนอ่อนแอเท่านั้น ในความเป็นจริง ไม่ว่าใครก็สามารถมีน้ำตาได้ แม้แต่คนที่แข็งแกร่งที่สุด

 

ร้องไห้ในที่ทำงานจุดเปลี่ยนของความเข้าใจหรือภาพลักษณ์ที่ถูกตัดสินกันแน่?

          น้ำตาที่หลั่งออกมาในที่ทำงานเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ บางคนร้องไห้เพราะงานหนัก บางคนร้องเพราะปัญหาส่วนตัวที่ไหลมาทับซ้อน บางคนร้องเพราะคำพูดแค่ไม่กี่คำที่บาดลึกจนถึงหัวใจ การได้แอบร้องไห้เงียบๆ ในห้องน้ำหรือมุมๆนึงของออฟฟิศ อาจเป็นทางออกที่ช่วยให้เรากลับมาเข้มแข็งได้อีกครั้ง 

          หากแต่ไม่ใช่ทุกคนที่รู้สึกว่าที่ทำงานเป็นพื้นที่ปลอดภัยพอที่จะปล่อยให้น้ำตาไหลออกมา หลายคนยังกลัวสายตาและคำตัดสินจากเพื่อนร่วมงาน กลัวว่าจะถูกมองว่าเปราะบางหรือไม่เป็นมืออาชีพ ถ้าอย่างนั้นแล้วจะรับมือกับปัญหานี้อย่างไรดีล่ะ?

 

รับมืออย่างไรในวันที่ต้องมีน้ำตาในออฟฟิศ

  • หากเลี่ยงไม่ได้ก็หาที่ปลอดภัยให้ตัวเอง

          ถ้ารู้ว่าน้ำตากำลังจะไหล หามุมเงียบๆ เช่น ห้องน้ำ ลิฟต์ หรือมุมออฟฟิศที่ไม่พลุกพล่าน เพื่อให้ตัวเองได้สูดลมหายใจลึกๆ แล้วปล่อยมันออกมา

  • อย่าขอโทษที่ร้องไห้ แต่ให้ขอบคุณตัวเองที่ยังรู้สึก

          หลายคนรู้สึกผิดหลังจากร้องไห้ เพราะกลัวว่าอารมณ์ของตัวเองจะส่งผลกระทบต่อคนรอบข้าง แต่แทนที่จะพูดว่า “ขอโทษนะที่ร้องไห้” ลองเปลี่ยนเป็น “ขอบคุณที่เข้าใจ” หรือ “ขอบคุณที่รับฟัง” มันช่วยให้คุณไม่รู้สึกผิด และลดบรรยากาศอึดอัดลงได้

  • หากเห็นเพื่อนร่วมงานร้องไห้ อย่าบอกให้หยุด แต่จงอยู่ข้างๆ

          บางครั้งการปลอบใจไม่จำเป็นต้องมาในรูปแบบของคำพูด แค่ยื่นทิชชู่ให้ หรือลูบไหล่เบาๆ ก็พอแล้ว และที่สำคัญที่สุด อย่าพูดว่า “อย่าร้อง” แต่ให้บอกว่า “ถ้าอยากร้อง ก็ร้องเลย ไม่เป็นไรนะ”

  • เตรียม “ทางออก” ให้ตัวเองหลังจากร้องไห้เสร็จ

          หากคุณต้องกลับไปประชุมหรือทำงานต่อหลังจากร้องไห้ ลองล้างหน้าด้วยน้ำเย็น จัดเสื้อผ้าให้เรียบร้อย แล้วสูดลมหายใจเข้าลึกๆ เพื่อเรียกพลังใจกลับมา

 

          สุดท้ายแล้ว… น้ำตาไม่เคยลดคุณค่าของใคร แต่มันคือเครื่องเตือนใจว่าเรายังเป็นมนุษย์ที่มีความรู้สึก และการปล่อยให้ตัวเองร้องไห้เมื่อถึงที่สุดแล้ว ก็ไม่ต่างอะไรจากการพักหายใจ ก่อนจะเดินหน้าต่อไปด้วยหัวใจที่เบาขึ้น

          ถ้าวันนี้มันหนักเกินไป… ก็แค่ร้องออกมาเถอะ แล้วพรุ่งนี้ค่อยเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube