จริงเหรอ? เดือนกุมภาพันธ์เคยมี 30 วัน แต่ถูกขโมยวันไป

เคยสังเกตไหมว่า เดือนกุมภาพันธ์ดูเหมือนจะเป็นเดือนที่แปลกสุดในปฏิทิน ขณะที่เดือนอื่นมี 30 หรือ 31 วัน เดือนกุมภาพันธ์กลับมีแค่ 28 วันบางปีดันมี 29 วัน แต่ก็โผล่มาแค่ครั้งเดียวทุก 4 ปีแล้วใครเป็นคนกำหนดให้มันเป็นแบบนี้ล่ะ?
นี่ไม่ใช่แค่เรื่องของตัวเลขผิดพลาดแต่มันเกี่ยวข้องกับ การเมืองโบราณ ศักดิ์ศรีของจักรพรรดิ และการคำนวณทางดาราศาสตร์ เรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ยุคโรมัน จนทำให้กุมภาพันธ์ต้องเป็นเดือนที่สั้นที่สุด ถ้าพร้อมแล้วมาร่วมไขปริศนาว่าใครเป็นตัวการทำให้เดือนถูกต้องถูกขโมยวันไป
ที่มาของเดือนกุมภาพันธ์ที่ถูกขโมยวันไป
ย้อนกลับไปยุคโรมันปฏิทินดั้งเดิมมีแค่ 10 เดือนเท่านั้น โดยเริ่มจาก Martius (มีนาคม) ไปจนถึง December (ธันวาคม) ชื่อ December มาจากคำว่า Deca ที่แปลว่า 10 เพราะมันเคยเป็นเดือนที่สิบจริงๆ แล้วมกราคมกับกุมภาพันธ์หายไปไหน? ทั้งสองเดือนยังไม่มีอยู่จริงในปฏิทินยุคแรกของชาวโรมัน
ในสมัยนั้น ปีถูกนับตามฤดูกาลเพาะปลูก และพวกเขามองว่าช่วงฤดูหนาวไม่จำเป็นต้องมีเดือนกำกับ จึงไม่มีการนับช่วงเวลานี้เป็นส่วนหนึ่งของปฏิทิน ซึ่งถือเป็นแนวคิดที่ทั้งแปลกแต่น่าสนใจไม่น้อย
ทุกอย่างดูเหมือนจะลงตัว จูเลียส ซีซาร์ (Julius Caesar) ปรับปรุงปฏิทินใหม่ กำหนดให้ปีหนึ่งมี 365 วัน เพิ่มมกราคม และ กุมภาพันธ์เข้าไป โดยให้กุมภาพันธ์มี 29 วัน และ 30 วันในปีอธิกสุรทิน แต่แล้วเรื่องที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น ใครบางคนกลับขโมยวันของกุมภาพันธ์ไป ทำให้มันกลายเป็นเดือนที่สั้นที่สุดในปฏิทิน! ใครเป็นตัวการและทำไมต้องเป็นเดือนกุมภาพันธ์ที่ถูกลดวันลง
“ออกัสตุส ซีซาร์” เดือนฉันต้องไม่น้อยหน้าใคร!
ยุคของ ออกัสตุส ซีซาร์ (Augustus Caesar) ลูกบุญธรรมของจูเลียส เขาสังเกตว่าเดือน “July” (กรกฎาคม) ที่ตั้งตามชื่อของ จูเลียส ซีซาร์ มี 31 วัน แต่เดือน “August” (สิงหาคม) ที่ตั้งชื่อตามเขามีแค่ 30 วัน
เอ๊ะ! แบบนี้เสียศักดิ์ศรีหมดอะไรจะเกิดขึ้นต่อไปน่ะเหรอ? เขาก็เลยไปหยิบวันจากเดือนกุมภาพันธ์มาให้เดือนสิงหาคมซะเลยทำให้สิงหาคมเพิ่มเป็น 31 วัน กุมภาพันธ์เลยเหลือ 28 วัน และ 29 วันในปีอธิกสุรทิน แหละนี่คือเรื่องราวของ “เดือนที่ถูกขโมยวัน”
29 กุมภาพันธ์ วันที่มาเพื่อแก้ปัญหาของโลก
ทำไมต้องมี 29 กุมภาพันธ์ทุก 4 ปีล่ะ? มาเพื่อแก้ปัญหาของโลก ที่หลายคนอาจเคยได้ยินว่าโลกใช้เวลา 365 วัน ในการโคจรรอบดวงอาทิตย์ แต่ความจริงแล้วโลกใช้เวลาประมาณ 365.24224 วัน ซึ่งหมายความว่า ทุกปีเราจะมีเศษ 0.24224 วันที่เหลืออยู่
ถ้าเราไม่แก้ไขปัญหานี้ เวลาจะค่อยๆเลื่อนออกไปทุกปี เช่น ฤดูร้อนอาจไปตกอยู่ในเดือนพฤศจิกายนได้เพื่อป้องกันไม่ให้ปฏิทินรวนไปเรื่อยๆ ทุกๆ 4 ปี เราจึงต้องเพิ่มวันพิเศษเข้าไป นั่นก็คือ “29 กุมภาพันธ์” หรือที่เราเรียกกันว่า ปีอธิกสุรทิน (Leap Year) นั่นเอง
ท้ายที่สุดแล้ว เดือนกุมภาพันธ์ไม่ได้สั้นเพราะความผิดพลาดหรือถูกขโมยวันไป แต่เป็นผลจากการปรับเปลี่ยนปฏิทินในสมัยโรมัน ที่จักรพรรดิทรงใช้อำนาจกำหนดจำนวนวันของแต่ละเดือน จนทำให้กุมภาพันธ์เหลือเพียง 28 วัน และมี 29 วันในปีอธิกสุรทิน เป็นเดือนแห่งความพิเศษที่สะท้อนทั้งหลักดาราศาสตร์และประวัติศาสตร์อันยาวนานของปฏิทินที่เราใช้กันมาจนถึงทุกวันนี้
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : ananda , punpro
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews