Home
|
ไลฟ์สไตล์

วันเช็งเม้ง 2568 ตรงกับวันไหน? พร้อมไขข้อสงสัยเรื่องความเชื่อและพิธีกรรม

Featured Image

          วันเช็งเม้ง หรือเทศกาลเช็งเม้ง เป็นหนึ่งในประเพณีสำคัญของชาวจีนที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน ในวันนี้ ลูกหลานจะร่วมกันทำพิธีเซ่นไหว้และทำความสะอาดหลุมศพของบรรพบุรุษ เพื่อแสดงความกตัญญูและเป็นโอกาสให้ครอบครัวได้กลับมาพบปะกัน ท่ามกลางบรรยากาศของฤดูใบไม้ผลิที่อากาศแจ่มใส สอดคล้องกับชื่อของเทศกาลที่มีความหมายว่า “บริสุทธิ์และแจ่มใส” (清明: ชิงหมิง)

 

ที่มาของวันเช็งเม้ง

          วันเช็งเม้งมีรากฐานจากพิธีกรรมการเคารพบรรพบุรุษ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเสาหลักของวัฒนธรรมจีน ในอดีต การเซ่นไหว้บรรพบุรุษกระทำกันภายในบ้าน แต่เมื่อมีการสร้างเนินสุสานขึ้น การดูแลสุสานจึงกลายเป็นหน้าที่สำคัญของลูกหลาน ทำให้ประเพณีการเซ่นไหว้กลางแจ้งเกิดขึ้นและดำรงอยู่จนถึงปัจจุบัน

          ในปี 2568 วันเช็งเม้งตรงกับวันที่ 4 เมษายน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ครอบครัวชาวจีนทั่วโลกจะเดินทางกลับไปยังสุสานบรรพบุรุษเพื่อร่วมทำพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์นี้

 

ตำนานเกี่ยวกับวันเช็งเม้ง

          หนึ่งในตำนานที่เกี่ยวข้องกับวันเช็งเม้งคือเรื่องราวของเจี้ยจื่อทุย ขุนนางผู้ซื่อสัตย์แห่งยุคชุนชิว เมื่อองค์ชายฉงเอ่อแห่งแคว้นจิ้นต้องลี้ภัย เจี้ยจื่อทุยได้สละเนื้อของตนเองให้เจ้านายเสวยเพื่อความอยู่รอด ต่อมาเมื่อฉงเอ่อได้ขึ้นครองบัลลังก์เป็นจิ้นเหวินกง เขากลับหลงลืมคุณงามความดีของเจี้ยจื่อทุย จนเมื่อระลึกขึ้นได้และพยายามตอบแทน เจี้ยจื่อทุยกลับปฏิเสธและไปใช้ชีวิตสันโดษกับมารดาบนภูเขา

          จิ้นเหวินกงพยายามให้เขากลับมารับรางวัลโดยการจุดไฟเผาป่า หวังให้เจี้ยจื่อทุยออกมา แต่กลับทำให้เขาและมารดาสิ้นชีวิตในกองเพลิง ด้วยความเสียใจ เขาจึงกำหนดวันห้ามก่อไฟ เรียกว่า “เทศกาลหันสือเจี๋ย” ซึ่งต่อมากลายเป็นวันเช็งเม้ง

 

การเตรียมของไหว้เช็งเม้ง

          พิธีกรรมวันเช็งเม้งมีความคล้ายคลึงกับการไหว้เจ้าตามเทศกาลต่าง ๆ โดยของไหว้สำคัญ ได้แก่

  • ซาแซ (หมู เป็ด ไก่)
  • อาหารที่บรรพบุรุษโปรด เช่น บะหมี่ ข้าวสวย ต้มจืด หรืออาหารพิเศษตามความชอบของแต่ละบ้าน
  • เครื่องดื่ม เช่น น้ำชา เหล้า
  • ผลไม้ 3-5 อย่าง เช่น ส้ม สับปะรด กล้วย ทับทิม แอปเปิ้ล หรือองุ่น
  • ขนมมงคล เช่น ขนมจันอับ ข้าวเหนียวกวน และขนมเต่า (อังกู๊)
  • เครื่องกระดาษ เช่น กระดาษเงินกระดาษทอง บ้านจำลอง เสื้อผ้าจำลอง เพื่อให้บรรพบุรุษมีความสุขในโลกหลังความตาย
  • ประทัด ใช้จุดเมื่อเสร็จสิ้นพิธี เพื่อปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายและนำพาโชคลาภ

 

ขั้นตอนการไหว้เช็งเม้ง

  1. ไหว้เจ้าที่เจ้าทาง
  • ใช้ธูป 5 ดอก เทียน 1 คู่
  • ชา 5 ถ้วย เหล้า 5 ถ้วย
  • ขนมและผลไม้เพื่อแสดงความเคารพต่อสถานที่
  1. ไหว้บรรพบุรุษ
  • จัดวางของไหว้ให้เรียบร้อย พร้อมข้าวสวย ถ้วยน้ำชา และเหล้า ตามจำนวนบรรพบุรุษ
  • จุดเทียน 1 คู่ และธูปคนละ 1 ดอก
  • เริ่มไหว้โดยเรียงลำดับอาวุโส ผู้อาวุโสสูงสุดเป็นผู้นำกล่าวคำระลึกถึงบรรพบุรุษ
  • จุดประทัด และรอจนธูปหมดก้าน จากนั้นเผากระดาษเงินกระดาษทอง
  • ครอบครัวร่วมกันลาอาหารและรับประทานร่วมกัน เป็นการส่งท้ายพิธีด้วยความอบอุ่น

 

สิ่งที่ควรทำในวันเช็งเม้ง

  • ทำความสะอาดบ้านและสุสาน เปรียบเสมือนการขจัดเคราะห์ร้ายและเปิดทางรับพลังดี ๆ
  • กำจัดของเก่าที่ไม่ใช้ เพื่อให้บ้านมีพลังสดใสและรับสิ่งใหม่ที่ดียิ่งขึ้น
  • จุดธูปบูชาเทพเจ้าและบรรพบุรุษ เพื่อเสริมสิริมงคลและขอพรให้ครอบครัวมีความสุข

 

ข้อห้ามวันเช็งเม้ง

  • ห้ามใช้ของไหว้ที่เน่าเสียง่าย เพราะอากาศร้อนอาจทำให้อาหารบูดเสีย
  • ห้ามไหว้ร่วมกับครอบครัวอื่น เชื่อว่าอาจนำเคราะห์ร้ายมาให้
  • หญิงมีครรภ์หรือมีประจำเดือนไม่ควรเข้าเขตสุสาน ตามความเชื่อโบราณว่าพลังงานอาจส่งผลต่อสุขภาพ
  • หลีกเลี่ยงการถ่ายรูปเล่นหรือส่งเสียงดังในสุสาน ถือเป็นการไม่เคารพต่อดวงวิญญาณ
  • ไม่ควรพูดจาหยาบคายหรือทะเลาะวิวาท เพราะอาจเป็นลางไม่ดี

 

ประโยชน์ของการไปไหว้บรรพบุรุษวันเช็งเม้ง

  • เพื่อรำลึกถึงคุณความดี ของบรรพบุรุษที่ลำบากเพื่อให้ลูกหลานมีความเป็นอยู่ที่ดี
  • เป็นศูนย์รวมตระกูล ทำให้ญาติพี่น้องที่อยู่ห่างไกลได้กลับมาพบปะกัน
  • เป็นกรอบถนนชีวิตของลูกหลาน เน้นความกตัญญูและเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต
  • เป็นการเตือนสติ ว่าความตายเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องพบเจอ เป็นการกระตุ้นให้ใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า

 

          แม้ว่ารูปแบบการไหว้เช็งเม้งของชาวจีนในแต่ละพื้นที่อาจแตกต่างกัน แต่สาระสำคัญของ “วันเช็งเม้ง” ยังคงเป็นการรำลึกถึงบรรพบุรุษและสร้างความตระหนักรู้แก่ลูกหลานรุ่นหลังถึงคุณงามความดีของผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube