สงกรานต์กับจิตวิทยา : ทำไมเราถึงกล้าเล่นกับคนแปลกหน้ามากขึ้น?

เคยสังเกตไหมว่าในวันธรรมดา เราอาจจะเดินสวนกับคนแปลกหน้าโดยไม่แม้แต่จะสบตากัน แต่พอถึงเทศกาลสงกรานต์เรากลับสามารถยิ้มให้กัน สาดน้ำใส่กัน หรือแม้แต่เต้นด้วยกันกลางถนนกับคนที่เราไม่รู้จักอย่างเป็นธรรมชาติ
อะไรทำให้เรากล้าทำสิ่งเหล่านี้ทั้งที่ในวันอื่นอาจจะไม่กล้าเลย? นี่คือคำอธิบายจากมุมมองทางจิตวิทยาที่อยู่เบื้องหลังพฤติกรรมสุดเฟรนด์ลี่ในเทศกาลนี้
- บรรยากาศของเทศกาลช่วยลดข้อจำกัดทางสังคม (Deindividuation Effect)
โดยปกติแล้ว เรามักจะมี “กำแพงทางสังคม” ที่ทำให้ไม่กล้าเข้าไปเล่นกับคนแปลกหน้าเพราะกลัวว่าจะถูกปฏิเสธ หรือถูกมองว่าแปลก แต่เมื่อเข้าสู่บรรยากาศของสงกรานต์ เสียงหัวเราะ เสียงเพลง และสายน้ำที่โปรยปราย ผู้คนมากมายที่กำลังเล่นน้ำ สิ่งเหล่านี้ช่วยทำให้เรารู้สึกว่าการเปิดใจเข้าหาคนแปลกหน้าเป็นเรื่องปกติ
ตามหลักจิตวิทยาเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า Deindividuation หรือ ภาวะที่ตัวตนส่วนบุคคลลดลง เมื่อเราอยู่ในฝูงชน เราจะรู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มมากกว่าที่จะเป็นปัจเจกบุคคล ซึ่งทำให้เรากล้าทำสิ่งที่ปกติอาจไม่กล้า เพราะรู้ว่าคนรอบข้างก็ทำเช่นเดียวกัน
- สงกรานต์กระตุ้นสารแห่งความสุขในสมอง (Dopamine & Oxytocin Boost)
เมื่อเราได้เล่นน้ำ ได้หัวเราะ หรือแม้แต่โดนน้ำสาด ร่างกายจะปล่อยสารโดพามีน (Dopamine) ซึ่งเป็นสารเคมีที่เกี่ยวข้องกับความสุขและความตื่นเต้นออกมา ทำให้เรารู้สึกดีและอยากเข้าสังคมมากขึ้น
นอกจากนี้ การมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นผ่านการเล่นน้ำ ยังช่วยกระตุ้น ออกซิโทซิน (Oxytocin) หรือที่เรียกว่าสารแห่งความผูกพัน ซึ่งช่วยให้เรารู้สึกเชื่อมโยงกับคนรอบข้างมากขึ้น ถึงแม้พวกเขาจะเป็นคนแปลกหน้าก็ตาม จึงไม่แปลกที่เราจะรู้สึกสนิทใจกับคนแปลกหน้าที่พึ่งรู้จักในเวลาอันสั้น
- กฎสังคมถูกปรับเปลี่ยนในช่วงเทศกาล (Social Norm Shift)
ปกติแล้วหากเป็นวันธรรมดา การสาดน้ำใส่ใครสักคนโดยไม่ขออนุญาตอาจถือเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม แต่ในช่วงสงกรานต์ กฎทางสังคม (Social Norms) ได้เปลี่ยนไป ทุกคนเข้าใจว่าการสาดน้ำคือเรื่องปกติและเป็นธรรมเนียมของเทศกาล ทำให้การเข้าหาคนแปลกหน้าด้วยวิธีนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก หรือพูดง่ายๆ ว่า เมื่อบริบททางสังคมเปลี่ยนไป พฤติกรรมของเราก็สามารถปรับเปลี่ยนตามได้เช่นกัน
- ดนตรีและเสียงหัวเราะกระตุ้นความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกัน (Emotional Contagion)
เสียงเพลงที่เปิดดังๆ ตามท้องถนน เสียงหัวเราะของคนรอบข้าง หรือแม้แต่การเต้นและร้องเพลงร่วมกัน ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Emotional Contagion หรือ การแพร่กระจายทางอารมณ์ กล่าวคือ เมื่อเราถูกล้อมรอบด้วยผู้คนที่มีความสุข เรามักจะถูกดึงดูดให้รู้สึกแบบเดียวกันโดยไม่รู้ตัว
สิ่งนี้เป็นเหตุผลว่าทำไม บางครั้งแม้แต่คนที่ขี้อายหรือไม่ค่อยกล้าเข้าสังคม ก็ยังสามารถสนุกไปกับบรรยากาศของสงกรานต์ได้อย่างเป็นธรรมชาติ
- กลไกของ “เพื่อนชั่วคราว” ในสังคม (Temporary Social Bonding)
ตามหลักจิตวิทยา คนเรามีแนวโน้มที่จะสร้างความสัมพันธ์ในระยะสั้นกับคนแปลกหน้าที่มีประสบการณ์ร่วมกัน (Shared Experience) อย่างการสาดน้ำใส่กันในช่วงเทศกาลวันสงกรานต์ก็เป็นวิธีการสื่อสารรูปแบบหนึ่งที่ทำให้เกิด “ความสัมพันธ์ชั่วคราว” โดยที่ไม่มีความกดดันจากความสัมพันธ์แบบยาวนาน เช่นเดียวกับเวลาเราไปดูคอนเสิร์ตแล้วร้องเพลงกับคนข้างๆ ทั้งที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน
ดังนั้น ถ้าคุณรู้สึกว่า ปกติเป็นคนขี้อาย แต่พอสงกรานต์แล้วกล้าขึ้นมาทันทีก็ไม่ต้องแปลกใจ เพราะมันเป็นกลไกของจิตใจที่ถูกกระตุ้นโดยเทศกาลแห่งความสนุกนี้เอง
ขอบคุณข้อมูลจาก
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews